3 ธ.ค. 2024 เวลา 13:04 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาระบบติดตามตำแหน่งสัตว์หลายสายพันธ์ุทั่วโลกเพื่อใช้เป็นระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า

ด้วยไอเดียที่ว่าเหล่าฝูงสัตว์จะแสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ในช่วงก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากจะคาดเดาอย่างเช่น แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด และถ้าหากเรามีข้อมูลมากพอและเฝ้าดูพวกมันได้ตลอดเวลาจากนอกโลก เราก็อาจพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้
1
ทั้งนี้เรามีข้อมูลบันทึกจากอดีตหลายกรณีที่บ่งชี้ว่าสัตว์นั้นสามารถรับรู้อันตรายจากภัยพิบัติธรรมชาติได้ล่วงหน้า อย่างเช่น กรณีฝูงแกะในบริเวณใกล้กับภูเขาไฟเอตนาในอิตาลีที่พวกมันไม่ยอมขึ้นไปพื้นที่สูงใกล้ปากปล่องภูเขาไฟในช่วงเวลาก่อนเกิดการระเบิด
ฝูงสัตว์เหล่านี้แหละความหวังของเรา
โดยระบบที่ทีมนักวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นมานี้มุ่งหวังในการเก็บข้อมูลตำแหน่งของสัตว์หลากหลายสายพันธ์ุบนโลกพร้อม ๆ กัน ผ่านการเก็บข้อมูลจากตัวส่งสัญญาณวิทยุที่ถูกเก็บรวบรวมจากอวกาศ
ซึ่งระบบกำลังถูกพัฒนาโดยโครงการ ICARUS หรือ International Cooperation for Animal Research Using Space เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการบอยคอตรัสเซีย ทำให้โครงการเกิดความล่าช้าและต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ
เครื่องติดตามตำแหน่ง ซึ่งประกอบด้วยตัวส่งสัญญาณที่มีน้ำหนักเบาไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ติดตั้งไปกับสัตว์ต่าง ๆ ได้ง่าย
ทั้งนี้เพราะในตอนแรก ICARUS ออกแบบให้ใช้ชุดตัวรับสัญญาณวิทยุที่มาจากเครื่องติดตามตำแหน่งที่ติดกับตัวสัตว์บนโลกซึ่งติดตั้งอยู่กับโมดูลสถานีอวกาศนานาชาติที่เป็นส่วนความรับผิดชอบของรัสเซีย
ทำให้ทีม ICARUS ตัดสินใจพัฒนา CubeSAT หรือดาวเทียมขนาดจิ๋วส่งขึ้นประจำการในวงโคจรระดับต่ำ(LEO) เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลแทน
CubeSAT ในโครงการ ICARUS ซึ่งเมื่อระบบใช้งานเต็มรูปแบบจะมีทั้งหมด 6 ดวงในวงโคจรทำหน้าที่เก็บข้อมูลตำแหน่งฝูงสัตว์ตลอดเวลา
โดยในปี 2022 โครงการ ICARUS ได้ติดตั้งเครื่องติดตามตำแหน่งให้กับสัตว์ต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 46 สายพันธ์ุบนโลกทั้งสัตว์บก สัตว์ปีกและสัตว์น้ำ
การที่จะทำระบบติดตามตำแหน่งสัตว์ทั่วโลกหลากหลายสายพันธ์ุขนาดนี้ถ้าใช้วิธีเดิม ๆ อาจต้องใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 300 ถึง 500 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่ ICARUS ติดตั้งทีเดียวแล้วเก็บข้อมูลได้เรื่อย ๆ และเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นมากได้ตามจำนวนเครื่องติดตามที่ติดตั้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดเป็นระบบ IOA หรือ Internet of Animals เพื่อเก็บข้อมูลตำแหน่งสัตว์หลายสายพันธ์ทั่วโลกแบบเรียลไทม์
เครื่องติดตามตำแหน่งที่ติดไปกับตัวนก ดูแล้วก็ไม่น่าทำให้พวกมันใช้ชีวิตได้ลำบากสักเท่าไหร่
ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลมหาศาลที่ส่งเข้าสู่ระบบแบบเรียลไทม์นี้ จะมีปริมาณมหาศาลและต้องถูกนำมาวิเคราะห์รูปแบบเพื่อศึกษาพฤติกรรมก่อนแยกแยะรูปแบบที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเตือนภัยล่วงหน้าที่เราต้องการได้ แน่นอนว่าพระเอกที่จะมาช่วยเราในครั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้น AI อีกเช่นเคย
แม้ปัจจุบัน ICARUS ยังไม่สามารถใช้งานเป็นระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติล่วงหน้าได้ แต่เชื่อว่าเมื่อเรามีข้อมูลมากพอเราจะสามารถ ติดตามและเฝ้าดูพฤติกรรมของฝูงสัตว์เพื่อใช้เป็นระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้ในอนาคต
เหมือนเรานั่งดูฝูงปลาในมหาสมุทรจากนอกโลก เมื่อเห็นว่าพวกมันมีพฤติกรรมแปลก ๆ เหมือนว่ายหนีอะไรบางอย่าง เราก็อาจจะใช้ตรวจสอบและเตือนภัยสึนามิที่กำลังพุ่งเข้าฝั่งได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา