Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2024 เวลา 13:32 • การศึกษา
|จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต
วันคนพิการสากลและบันทึกที่เขียนโดยผู้ที่พิการทางการมองเห็น ได้รับรางวัลหนังสือระดับชาติ
"เส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของฉันแม้ไม่ถึงกับราบรื่นแต่ก็ไม่ขรุขระจนเกินไป นับได้ว่าเป็นโชคดีอีกประการหนึ่งเช่นกัน เพราะหากฉันไม่รู้จักความเศร้าเสียใจก็คงไม่ได้รู้จักความสุขที่แท้จริง ถ้าฉันไม่พบอุปสรรคก็คงไม่รู้จักความพยายาม
โลกนี้ อาจมีคนจำนวนมหาศาลที่มีโอกาสกลายเป็นผู้โชคดีที่สุดในโลก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้สึกว่าตนโชคดี ฉันคิดว่าเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราโชคดี แม้เป็นความรู้สึกเพียงแวบเดียวก็คุ้มค่า เพราะความรู้สึกนั้นบอกเราว่า ขณะนี้เราได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่อย่างแท้จริง และช่วงเวลานั้น เราจะขอบคุณสิ่งที่เรามีอย่างจริงใจที่สุด" (น.๖๘-๖๙)
--- จาก "|จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต" ของ'พลอย' สโรชา กิตติสิริพันธุ์
=====
วันที่ ๓ ธันวาคมนี้เป็น #วันคนพิการสากล (International Day for Persons with Disabilities) แอดขอแนะนำหนังสือเรื่อง "|จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต" ของนักเขียนผู้มีดวงตาพิการคือ พลอย สโรชา กิตติสิริพันธุ์ ผู้เขียนมีความพิการทางการมองเห็นเนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งที่จอประสาทตาตั้งแต่อายุได้เพียงสองขวบกว่า
.
หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนที่พิมพ์รวมเล่มจากบันทึกส่วนตัวที่พลอยเขียนไว้ตลอดเกือบสองปีเต็มขณะเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาเมื่ออยู่ปีสามที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างปีพ.ศ.๒๕๕๖- ๒๕๕๗
.
ในบันทึกเล่มนี้ผู้เขียนใช้ภาษาและถ้อยคำที่อ่านเข้าใจง่าย และสื่อความคิดต่าง ๆ ได้อย่างไพเราะสละสลวย เราจะได้รับรู้ชีวิตของพลอยตลอดจนเรื่องราวของผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เธอพบเจอในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้าน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ป้ายรถ BRT ฯลฯ รวมทั้งข่าวสารและเหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงนั้น เป็นบันทึกที่ไม่เพียงสะท้อนตัวตนของพลอยอย่างเด็กสาวคนหนึ่ง แต่เป็นตัวแทนผู้พิการที่เติบโตมาท่ามกลางความรักและอุปสรรคเช่นคนปกติทั่วไป
.
ครั้งแรกที่แอดอ่านเมื่อเกือบสิบปีก่อนที่ยังไม่รู้จักผู้เขียนก็อ่านเหมือนอ่านบันทึกทั่วไป แต่ประทับใจการใช้ภาษาและความคิดของเธอมากว่าในวัยย่างยี่สิบปีเธอช่างมีความคิดเช่นผู้ใหญ่ในหลาย ๆ เรื่องที่เราก็คิดไม่ถึง เช่น "ความคิด ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ แต่ตลอดเส้นทางชีวิตเราต้องคิดอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ มิใช่ฟุ้งซ่าน คิดตั้งคำถาม มิใช่โทษอุปสรรค คิดแก้ไข มิใช่คิดหลีกเลี่ยง หรือหากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ เราต้องคิดเป็นนั่นเอง... (น.๕๔-๕๕)
.
สิ่งที่ผู้อ่านจะสัมผัสได้จากหนังสือเล่มนี้คือ มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่ผ่านการคิดและไตร่ตรองและความสดใสอารมณ์ดีที่สื่อผ่านตัวหนังสือ ช่วยให้ผู้อ่านได้คิดตามและมีกำลังใจที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามีความหมายตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อพลอยไปเยี่ยมอาม่าที่โรงพยาบาล เธอเล่าว่าเคยนอนค้างที่โรงพยาบาลครั้งเดียวเมื่ออายุไม่เกินสามขวบ และคิดว่าคงเป็นความโชคดีที่เธอเด็กเกินไปที่จะจดจำได้ถึงความเจ็บปวดและความกลัว พลอยบันทึกสิ่งที่ได้จากการไปเยี่ยมอาม่าครั้งนั้นว่า
"... ไปโรงพยาบาลทุกครั้ง มักนึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต เราจะล้มเจ็บเมื่อใดก็ไม่รู้ ทำให้สำนึกในคุณค่าของเวลาเป็นพิเศษ ฉันไม่ควรขี้เกียจหรืออิดออดเลยในขณะมีโอกาสทำอะไร ๆ ได้อยู่เช่นนี้ ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากทำและจำเป็นต้องทำ โรงพยาบาลคอยเตือนเสมอ อย่าโปรยเวลาทิ้งเล่นตามทางจงหว่านใบริเวณที่ดินดี ให้เป็นประโยชน์ต่อตนและโลก" (น.๑๗๕)
.
เครดิตภาพ: พลอย สโรชา กิตติสิริพันธุ์
แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นเพียงบันทึกเรื่องราวชีวิตช่วงหนึ่งของผู้ที่ดวงตาพิการ แต่ผู้อ่านจะรู้สึกมีความสุข และอิ่มใจไปด้วยเพราะความเพลิดเพลินจากเนื้อหาและภาพประกอบที่ผู้เขียนวาดเองเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความรักความอบอุ่นที่ได้รับจากพ่อแม่พี่สาว เพื่อนๆ และคนรอบข้างที่ได้รู้จัก
.
พลอยยังเล่าถึงความใฝ่ฝันของเธอด้วย บางช่วงเธอก็เจอปัญหาและอุปสรรคแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เมื่ออ่าน "|จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต" ผู้อ่านหลายท่านน่าจะรู้สึกคล้ายแอดว่าอ่านเรื่องนี้แล้วเหมือนดูซีรีส์ละครชีวิตที่มีสีสรรของตัวเอกตั้งแต่ต้นจนถึงตอนจบ
.
โดยรวมบันทึกเล่มนี้อบอวลด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขของเด็กสาวผู้กำลังเติบโตจนถึงบทสุดท้ายเมื่อถึงวันสำคัญคือการไปร่วมงานซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งทุกคนวุ่นวายเตรียมโน่นนี่นั่นให้พลอย เมื่อเดินทางจากบ้านฝนก็ตกและรถติด ผู้เขียนกลัวว่าพ่ออาจจะลุ้นน้อยกว่าตนเอง จึงเล่าว่า "เขาบอกว่าถ้าไปช้ากว่าแปดโมงครึ่งประตูหอประชุมจะปิด อดซ้อม อดรับ" พ่อจะพาพลอยไปทันเข้างานซ้อมได้อย่างไร เพราะพ่อไม่มีทางยอมให้เธออดเข้าซ้อมรับปริญญาบัตรอย่างแน่นอน...
พลอยในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร
พลอยเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งวิชาเอกภาษาไทยจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวัย ๓๑ปี เธอทำงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง พลอยเป็นบรรณาธิการผู้พิการทางการมองเห็นคนแรกของประเทศไทย ติดตามเธอได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ
https://www.facebook.com/bfly.forpwd?mibextid=ZbWKwL
.
ผู้อ่านท่านใดสนใจสนับสนุนงานเขียนของผู้พิการ ก็สามารถช่วยอุดหนุนหนังสือของพลอยได้ด้วย นอกจากเรื่อง "|จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต" ซึ่งพิมพ์รวมเล่มในปี พ. ศ. ๒๕๕๘ และได้รับรางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ ๑๒ - ๑๘ ปี (สารคดี) จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี๒๕๕๙ แล้ว ผู้เขียนยังมีผลงานอีกสองเล่มคือ "ก.ไก่เดินทาง" และ "เห็น" ในปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๒ ตามลำดับ
.
.
เครดิตภาพจากเฟซบุ๊กของ พลอย - สโรชา กิตติสิริพันธุ์
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
.
.
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #จนกว่าเด็กปิดตาจะโต #สโรชากิตติสิริพันธุ์ #วันคนพิการสากล #ผู้พิการทางสายตา #สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง #ชวนกันอ่าน #สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
หนังสือ
เรื่องเล่า
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย