3 ธ.ค. เวลา 14:12 • ข่าว

ท่าทีรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง หลังพม่ายิงเรือประมงไทย

เป็นความจริงที่ว่าไทยไม่เคยรบชนะใครมานานกว่า 30 ปีแล้ว และในทุกสงครามที่เข้าร่วมก็ไปในนามกองพันสันติภาพหรือปฏิบัติภารกิจด้านมวลชนมากกว่าที่จะส่งทหารไปสู้รบ
ตั้งแต่เหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ต้นปี 2547 หรือแม้กระทั่งทหารคลั่งกราดยิงชาวบ้านที่โคราช ล้วนแล้วแต่ใช้ปืนหลวงมายิงประชาชนทั้งสิ้น
หลัง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า อาวุธปืนของกองทัพกลับถูกนำมาใช้สังหารประชาชนมากกว่านำไปปกป้องแผ่นดิน
ซึ่งแม้จะเผชิญความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง รัฐบาลไทยมักพยายามเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบทุกสมรภูมิ หลายสิบปีที่ผ่านมากองทัพไทยไทยจึงไม่ได้มีแสนยานุภาพเกรียงไกรสร้างความเกรงขามในระดับอาเซียนด้วยซ้ำ
ครั้งสุดท้ายที่ถูกท้าทายอธิปไตยคือความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหารปี 2554 ทหารกัมพูชายิงปืนใหญ่เข้ามายังบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ทหารไทยทำได้เพียงช่วยชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยการสร้างหลุมหลบภัย ท่ามกลางกองเชียร์ฮาร์ดคอร์ที่อยากให้กองทัพไทยลองวัดกับเขมรสักครั้ง
ข้ออ้างในการของบประมาณจากรัฐบาลในการซื้อเรือดำน้ำก็ไม่ใช่เพื่อการรักษาอธิปไตย เป็นแค่การทำสัญญาส่วนหนึ่งทางการค้าเพื่อเอาใจจีนเท่านั้น
ดังนั้น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3 ) ได้รับแจ้งข่าวจากเรือประมง “มหาลาภธนวัฒน์ 4” เวลา 00.45 น. ซึ่งออกไปหาปลากับกลุ่มเรือประมงสัญชาติไทยแล้วล่วงล้ำเข้าพื้นที่ทับซ้อน ไทย-เมียนมา
ได้ร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกเรือรบเมียนมาทำการใช้อาวุธยิงจนตัวเรือได้รับความเสียหายน้ำเข้าเรือปริมาณมาก และมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 2 คน เสียชีวิต 2 ราย ก่อนที่เรือรบเมียนมาจะเข้าจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำ คือ เรือ “ส เจริญชัย 8” พร้อมลูกเรือ 31 คน ไปยังเกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา
เหตุดังกล่าวนี้ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า เมื่อเรือรบพม่ายิงเรือประมงไทยจนลูกเรือชาวไทยเสียชีวิต 2 ราย รัฐบาลไทยจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร
ซึ่งบางคนนำมาเหมารวมว่า ทหารไทยมีไว้ทำไม
ประการสำคัญที่ควรทราบคือทหารไทยจะตอบโต้โดยใช้อาวุธได้นั้นต้องได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบบัญชาการณ์ วางแผนปฏิบัติการโดยผู้บัญชาการทหารบก เรือ อากาศ และทหารสูงสุด
เพราะฉะนั้นท่าทีและการตัดสินใจจึงอยู่ที่รัฐบาล
ซึ่งสะท้อนผ่านคำพูดของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวถึงกรณีเรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทยกลางน่านน้ำ จ.ระนอง ว่าขอรอกองทัพเรือรายงานรายละเอียดอีกครั้ง อาจเป็นแค่เจตนาเตือนลุกล้ำเขตแดน ไม่ลุกลามเป็นปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องทำหนังสือเตือนระหว่างรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ได้มีการประกาศว่ารัฐบาลนี้จะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นั่นอาจหมายความว่าบรรดากองเชียร์ฮาร์ดคอร์อาจต้องผิดหวังหากอยากเห็นกองทัพไทยลุกขึ้นมาปฏิบัติการทางทหารตอบโต้พม่า
โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลอุ๊งอิ๊งเคยแสดงท่าทีเกี่ยวกับ MOU 44 ปม “เกาะกูด” ชัดเจนว่าจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งกับกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะยังต้องเจอคำถามถึงการให้ความสำคัญเมื่อมีประเด็นเรื่องชีวิตของคนไทยขึ้นมาเป็นปัญหาคาบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
จะดึงดันไม่ขัดแย้งพร้อมๆไปกับให้ความสำคัญกับชีวิตคนไทยที่ต้องสูญเสียอย่างไร
มองไปที่ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แม้จะเป็นนักการทูตก็จริง แต่นอกจากเอกอัครราชทูตแล้วชีวิตรับราชการที่ผ่านมาอยู่ในกรมสารสนเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศ และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมื่อต้องออกหน้าชนรัฐบาลทหารพม่าน่าติดตามว่าจะเดินทิศทางไหน
ณ เวลานี้บางคนอาจตั้งคำถามถึง เนื้อร้องเพลงชาติไทยที่ว่า “ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด”
ทหารไทยที่ซ้อมรบทุกปีแต่ไม่เคยเข้าสู่สงครามจริงจัง จะกล้าเสียงแข็งกับรัฐบาลทหารพม่าที่รบกับกลุ่มกองกำลังในประเทศมาโดยตลอดจริงหรือ ?
โฆษณา