Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE STATES TIMES
•
ติดตาม
4 ธ.ค. 2024 เวลา 02:51 • ข่าวรอบโลก
สรุปเหตุการณ์ 'ยุนซอกยอล' ชิงประกาศกฎอัยการศึก
แต่สภาปัดตกโหวตคว่ำ จบ 3 ชั่วโมงแห่งวิกฤตการเมืองโสมใต้
(4 ธ.ค. 67) เปิดไทม์ไลน์ประธานาธิบดียุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึก โกลาหลทั้งเกาหลีใต้ สุดท้ายสภาโหวตเอกฉันท์เป็นโมฆะ จับตาอนาคตผู้นำเกาหลีถูกถอดถอน
ช่วงคืนวันที่ 3 ธ.ค.67 เกาหลีใต้เผชิญความสั่นคลอนทางการเมืองที่ตึงเครียดที่สุดในรอบหลายสิบปี เมื่อประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน โดยอ้างว่ามี "กองกำลังต่อต้านรัฐที่ได้รับการสนับสนุนโดยเกาหลีเหนือ" ที่วางแผนก่อกบฏ เหตุการณ์นี้สร้างความตึงเครียดอย่างหนักทั่วประเทศ ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกภายในเวลาเพียง 157 นาที
เวลา 22:23 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ถึงการประกาศกฎอัยการศึกฉบับที่ 1 โดยให้เหตุผลอ้างว่าจำเป็นเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและความปลอดภัยของประชาชนจากการโค่นล้มระบบรัฐบาล ข้อบังคับกฎอัยการจะสั่งระงับกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด และกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาปฏิบัติหน้าที่
คำสั่งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยฝ่ายค้านนำโดยนายอี แจ-มยอง ประกาศประชุมฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่ง ขณะที่นายฮัน ดง-ฮุน หัวหน้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเองก็ออกมาต่อต้านคำสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน
เวลา 23:00 น. หลังกฎอัยการศึกเริ่มมีผลบังคับใช้ กองกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมอาคารรัฐสภา สร้างความตึงเครียดสูงสุด สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากพยายามฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่อาคาร ท่ามกลางประชาชนชาวเกาหลีใต้กลุ่มใหญ่ออกมาชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อปิดกั้นทหารและพยายามเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปภายใน
เวลา 24:00 น. การประชุมรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นอย่างทุลักทุเล เมื่อสมาชิกเกิน 150 คน เข้าร่วมครบองค์ประชุม ท่ามกลางแรงกดดันจากกองกำลังทหารที่พยายามปิดกั้นการประชุม
เวลา 01:01 น. ญัตติการยกเลิกกฎอัยการศึกถูกเสนอ ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างลงเสียงเป็นเอกฉันท์ ในเวลา 01:04 น. กองกำลังติดอาวุธจึงเริ่มถอนตัวออกจากอาคารรัฐสภา แม้ว่ากองทัพจะยืนยันว่ากฎอัยการศึกยังมีผลอยู่ ขณะที่ประชาชนยังคงชุมนุมอยู่บริเวณด้านนอก เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมอยู่ภายในตลอดทั้งคืน จนกระทั่งเวลา 04:26 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ ยอมรับมติรัฐสภาและสัญญาจะประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ
ต้นสายปลายเหตุของวิกฤตการเมืองครั้งนี้ต้องย้อนไปเมื่อ 11 เมษายน 67 ผลการเลือกตั้งในเกาหลีใต้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรัฐบาลของ ประธานาธิบดียุน ซอคยอล โดยพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตร สามารถคว้าชัยชนะได้ 175 ที่นั่งในสภา เพิ่มขึ้นจากเดิม 169 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครัฐบาล พรรคพลังประชาชน (PPP) และพันธมิตร ได้เพียง 108 ที่นั่ง ลดลงจากเดิม 131 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 300 ที่นั่ง
ความไม่พอใจของประชาชน ต่อการบริหารงานของรัฐบาลยุนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐบาลกลายเป็น "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" หรือที่หลายคนเรียกว่า "ยุนเป็ดง่อย" เพราะขาดเสียงสนับสนุนในสภา ในขณะที่รัฐบาลยุนเพิ่งครองอำนาจมาได้เพียง 1 ปีเศษ กว่าจะหมดว่าระในปี 2570 ทำให้รัฐบาลยุนแทบไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้มากนัก
เมื่อพรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตรสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ ส่งผลให้เกิดการคว่ำร่างงบประมาณประจำปี ซึ่งตามธรรมเนียมการเมืองของโสมขาว อาจนำไปสู่การยุบสภาหรือการลาออกของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียุนกลับเลือกใช้วิธีการที่สร้างความตกตะลึง โดยประกาศกฎอัยการศึกและกล่าวหาว่าฝ่ายค้านมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ
ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลของยุนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากการบริหารประเทศที่ไร้เสถียรภาพและปัญหาด้านภาพลักษณ์ โดยเฉพาะกรณี ภรรยาของประธานาธิบดี ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปั่นหุ้นและการรับของขวัญเกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนด
เหตุการณ์ในคืนวันที่ 3 ธ.ค. ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์การบริหารงานของประธานาธิบดียุนว่าอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ ตั้งแต่เขาเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารประเทศไม่เป็นไปตามคาด และการสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาหลังพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ายุนใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่ตึงเครียดจากการถูกคัดค้านในรัฐสภา แต่กลับสร้างแรงต้านมหาศาลทั้งในประเทศและจากนักการเมืองพรรคของเขาเอง
คาดหมายกันว่าภายในไม่เกิน 2 วันข้างหน้าประธานาธิบดียุนอาจถูกรัฐสภายืนถอดถอนออกจากตำแหน่งก็เป็นได้ เกมการเมืองเกาหลีมีท่าว่าจะได้เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีใหม่ในเร็วๆนี้
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย