วันนี้ เวลา 08:00 • ไอที & แก็ดเจ็ต

รู้จัก 'ChulaGENIE' แอปฯ Generative AI พัฒนาโดยจุฬาฯ จับมือ Google

ทำความรู้จักกับ 'ChulaGENIE' แอปพลิเคชัน Generative AI พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Google Cloud พร้อมให้นิสิตใช้งาน มี.ค. 68
ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Google Cloud เปิดตัวโครงการ ‘ChulaGENIE’ แอปพลิเคชัน Generative AI พร้อมเปิดให้อาจารย์และบุคลากรภายในใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้นิสิตใช้ภายในเดือนมีนาคม 2568
โดย ChulaGENIE เปิดให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI ต่าง ๆ ได้ เช่น ในระยะแรก ผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro ของ Google ได้ และในอนาคตจะมีโมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta มาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติมด้วย
เปิดตัวแอปฯ ChulaGENIE
สำหรับ ChulaGENIE ย่อมาจาก Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education มีความสามารถ เช่น สามารถช่วยอธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น สร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ และรองรับการอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน เช่น ไฟล์ตาราง แผนภูมิ ภาพประกอบ ไฟล์ PDF หรือไฟล์เอกสารที่มีความไม่เกิน 1.4 ล้านคำ เพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึกได้
นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาออกแบบ ChulaGENIE เพื่อป้องกันไม่ให้ตอบ หรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตราย รวมถึงป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจ
เปิดตัวแอปฯ ChulaGENIE
รวมถึงยังเตรียมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เข้ามาในอนาคต เช่น
  • ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ สำหรับช่วยอาจารย์และนิสิตในการเชื่อมโยง หรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้
  • ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
  • ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น
เมื่อทดสอบการใช้งาน พบว่า โมเดลดังกล่าวสามารถวิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุงได้ และเพื่อให้การใช้งาน AI ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จุฬาฯ ได้จัดอบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/237804
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา