5 ธ.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่องธุรกิจค้าปลีกปี 68 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

SCB EIC มองธุรกิจค้าปลีกปี 68 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากอานิสงส์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงด้านลบรอบด้าน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกระบุว่า แม้การบริโภคภาคเอกชนในปี 68 มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คาดว่ายอดขายธุรกิจค้าส่งค้าปลีกยังเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวช้าลง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากช่องทางออนไลน์ที่มี Key players ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะ Platform จากจีน
นางสาวชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ SCB EIC
โดยนางสาวชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ SCB EIC เปิดเผยภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 68 มีแนวโน้มเติบโตราว 5.1%YOY จากที่คาดว่าจะเติบโต 4.8%YOY ในปี 67 แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง แต่คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มดำเนินการในปี 67 ต่อเนื่องถึงปี 68 (เฟส 2 และ3) จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น
ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้บริโภคอาจระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเลือกจ่ายสินค้าที่จำเป็น และชะลอใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะข้างหน้า.....นางสาวชญานิศ กล่าว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
การเติบโตของ E-commerce
ยังเป็นไปต่อเนื่องและมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง แม้มีการชะลอตัวลงหลังช่วงโรคระบาดผ่านไป อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงมาเป็นซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสะดวกสบาย โดยเฉพาะกลุ่ม Marketplace retailers ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาและบริการของแต่ละร้านค้าได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันเทรนด์ Social Commerce ก็มีสัดส่วนยอดขายต่อ E-commerce เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนอิทธิพลของ Social media ที่ผู้บริโภคมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG
มุ่งเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลากหลายช่องทาง เช่น ลดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริม Circular economy และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้ง Solar rooftop นอกจากนี้ยังเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเพิ่มสัดส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เป็นต้น
กลุ่มที่เติบโตได้ดียังเป็นหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น CVS, Supermarket และ Hypermarket กลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ต่าง ๆ เติบโตเช่นกัน เช่น ธุรกิจ Health & Beauty กลุ่มที่เติบโตแต่ยังมีข้อจำกัด ได้แก่กลุ่ม Department store เนื่องจากเผชิญการแข่งขันรุนแรง และกำลังซื้อที่เปราะบาง ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่สินค้าแฟชั่น และสินค้า Home & Garden.....นางสาวชญานิศ กล่าว
ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทยตั้งเป้าหมายและแผนดำเนินงานด้าน ESG โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืน คือ ปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปและตัวเลือกที่น้อย ดังนั้นผู้ประกอบการควรเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและราคา เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่ม
ในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พบว่าร้านค้าขนาดใหญ่ปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากมีเงินทุนมากกว่า ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กอาจเริ่มจากการให้ความรู้และเริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/237974
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา