9 ธ.ค. 2024 เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

นาฬิกา “TAG Heuer” เจ้าพ่อสิทธิบัตร ผู้คิดค้นนวัตกรรมเวลาที่ทุกคนคุ้นเคย

ย้อนเวลาไปดูจุดเริ่มต้น “TAG Heuer” แบรนด์นาฬิกาหรูที่ขึ้นชื่อเรื่องความแม่นยำ กับนวัตกรรมนาฬิกาหลายอย่างที่หลายคนไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจาก “TAG Heuer”
“นาฬิกา” คือเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการรับรู้และกำหนดสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่าง “เวลา” และหากถามหานาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในโลก เชื่อว่าหลายคนจะต้องนึกถึงนาฬิกาที่ทำขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่างแน่นอน
“TAG Heuer” (แทค ฮอยเออร์) คือหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาสวิสที่ขึ้นชื่อเรื่องความเที่ยงตรง รวมถึงยังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมการจับเวลาอันแม่นยำ จนได้เป็นผู้จับเวลาในการแข่งขันระดับโลกอย่างฟอร์มูลาวันด้วย
เอดูอาร์ด ฮอยเออร์ ผู้ก่อตั้ง TAG Heuer
ช่างทำนาฬิกาอัจฉริยะ
จุดเริ่มต้นความเที่ยงตรงของนาฬิกา TAG Heuer คือ “เอดูอาร์ด ฮอยเออร์” (Eduard Heuer) ช่างทำนาฬิกาจากเมืองเล็ก ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ และเขาคนนี้ ยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรมบางอย่างที่ยังคงถูกใช้ในการผลิตนาฬิกามาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติของฮอยเออร์นั้นค่อนข้างลึกลับและไม่มีการบันทึกไว้อย่างละเอียด ทราบเพียงว่าเขาเกิดในปี 1840 ที่เทศบาลเมืองบรูกก์ (Brugg) เป็นลูกชายของช่างทำรองเท้าในเมือง แต่ไปฝึกงานกับช่างทำนาฬิกาตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี
เมื่ออายุได้ 20 ปี ฮอยเออร์ตัดสินใจเปิดร้านทำนาฬิกาของตัวเองขึ้นมาที่แซงต์-อิมิเยร์ ใช้ชื่อว่า “Uhrenmanufaktur Heuer AG” โดยเน้นการผลิตนาฬิกาพก (Chronograph) ที่ทำจากเงิน พร้อมกันนั้นยังพยายามพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะทำให้การผลิตง่ายและสะดวกสบายต่อผู้ใช้มากขึ้น
ทั้งนี้ นาฬิกาพกสมัยก่อนเป็นระบบที่ต้องไขลานด้วยกุญแจทุกวันเพื่อให้ฟันเฟืองทำงาน ถ้าไม่ไขนาฬิกาจะหยุดเดิน สร้างความลำบากให้กับผู้ใช้ที่ต้องคอยมานั่งไขลานตลอด ฮอยเออร์จึงแก้ Pain Point ดังกล่าวด้วยการคิดค้น “เม็ดมะยม” (Winding Crown) ขึ้นมาและจดสิทธิบัตรในปี 1869 ให้ผู้ใช้สามารถไขลานนาฬิกาได้ตลอด ก่อนที่ต่อมาเม็ดมะยมจะทำหน้าที่เป็นตัวปรับเวลาแทน
ต่อมาช่วงทศวรรษ 1880 วงการการแข่งขันกีฬาเจริญรุ่งเรืองมาก แต่กีฬาส่วนใหญ่ต้องอาศัยการจับเวลา แต่นาฬิกาพกในยุคนั้นยังไม่สามารถจับเวลาได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการกดหยุดเวลา
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของฮอยเออร์เกิดขึ้นในปี 1887 เมื่อเขาพัฒนากลไกที่เรียกว่า “Oscillating Pinion” (เฟืองแกว่ง)
กลไลนี้อธิบายง่าย ๆ คือ ทำให้สามารถกดเริ่มหรือหยุดได้ด้วยปุ่ม ๆ เดียว ถือเป็นฟังก์ชันสำคัญของนาฬิกาจับเวลาที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน และเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับฮอยเออร์ในวงการกีฬา
ช่างนาฬิกา TAG Heuer กำลังติดตั้งกลไกในนาฬิกา
ลูกไม้หล่นใต้ต้น
ฮอยเออร์เสียชีวิตในปี 1892 ขณะอายุ 52 ปี ไม่นานหลังจากที่บริษัทเปิดตัวนาฬิกาพกรุ่นแรกอย่างเป็นทางการ ลูกชาย 2 คนของเขา คือ จูลส์-เอดูอาร์ด ฮอยเออร์ และชาร์ลส์-ออกุสต์ ฮอยเออร์ จึงเข้ามารับช่วงต่อแทน
ทั้งสองคนนั้นเรียกได้ว่าเป็นลูกไม้ใต้ต้น เพราะรับสืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อ เดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับนาฬิกาเพื่อแก้ไข Pain Point ของผู้ใช้ นวัตกรรมแรกที่พวกเขาจดสิทธิบัตรคือ ตัวเรือนกันน้ำสำหรับนาฬิกาพก จดสิทธิบัตรในปี 1895
สองพี่น้องฮอยเออร์ยังขยายตลาดของนาฬิกาไปยังสหรัฐฯ
จากนั้นในปี 1911 ฮอยเออร์ออกแบบนาฬิกาสำหรับติดตั้งในรถยนต์และเครื่องบินภายใต้สิทธิบัตร ”Time of Trip” มีเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีตรงกลางเพื่อแสดงเวลาของวัน หน้าปัดขนาดเล็กสำหรับวินาทีที่วิ่ง และเข็มขนาดใหญ่กว่าพร้อมเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีเพื่อแสดงระยะเวลาการเดินทางสูงสุด 12 ชั่วโมง เม็ดมะยมที่อยู่ด้านบนทำให้ผู้ใช้สามารถตั้งเวลา/เริ่ม/หยุด/รีเซตได้ด้วยการกดเพียงครั้งเดียว
ปี 1914 ฮอยเออร์เปิดตัวนาฬิกาจับเวลาสำหรับสวมบนข้อมือรุ่นแรก โดยดัดแปลงมาจากนาฬิกาจับเวลาแบบพกพา มีเม็ดมะยมอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา
อีก 2 ปีต่อมา พวกเขาเปิดตัว “ไมโครกราฟ” (Mikrograph) นาฬิกาจับเวลาเรือนแรกของโลกที่มีความแม่นยำถึง 1/100 วินาที หน้าปัดได้รับการออกแบบมาเพื่อให้การอ่านค่าที่เพิ่มขึ้นทีละ 1/100 วินาทีได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ นอกจากนี้ยังมี “เซมิโครกราฟ” (Semikrograph) ที่จับเวลาได้ 1/50 วินาที
ด้วยนาฬิกาจับเวลาที่ได้รับสิทธิบัตรเหล่านี้ นาฬิกาพกหลายรุ่นของฮอยเออร์จึงถูกนำมาใช้ในการจับเวลาอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ได้แก่ แอนต์เวิร์ปเกมส์ 1920, ปารีสเกมส์ปี 1924 และอัมสเตอร์ดัมเกมส์ปี 1928 และการแข่งขันกีฬาที่เป็นทางการอื่น ๆ ด้วย
ช่างนาฬิกา TAG Heuer กำลังติดตั้งกลไกในนาฬิกา
ยุคทองของฮอยเออร์
ความเชื่อมโยงกับวงการกีฬามีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของฮอยเออร์ตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา และด้วยตระหนักถึงความสำคัญของ “แบรนด์” ฮอยเออร์ได้เริ่มแปะโลโก้แบรนด์ลงบนหน้าปัดของนาฬิกา หลังก่อนหน้านี้ไม่เคยระบุผู้ผลิตเลย
หลังจากนั้นฮอยเออร์ออกแบบ “Autavia” (ออเทเวีย) ในปี 1933 เป็นนาฬีกาสำหรับรถแข่ง เรือ และเครื่องบิน รวมถึงยังได้เริ่มผลิตนาฬิกาที่ออกแบบมาสำหรับนักบินโดยเฉพาะ มักเรียกกันว่า “Flieger”
ชื่อเสียงอันยอดเยี่ยมของนาฬิกาพกฮอยเออร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ 1940 แม้แต่นายพลไอเซนฮาวร์ ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐฯ ยังเคยซื้อนาฬิกาพกฮอยเออร์ หรือ แฮร์รี ทรูแมน ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐฯ ก็ยังสวมนาฬิกาฮอยเออร์
รุ่นที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ “Solunar” (โซลูนาร์) ในปี 1949 เป็นนาฬิกาที่สามารถแสดงวันข้างขึ้นข้างแรมได้ ต่อด้วย “Mareograph” (มารีโอกราฟ) นาฬิกาพกรุ่นแรกของโลกที่มีตัวบอกระดับน้ำขึ้นน้ำลงและหน้าปัดสำหรับการแข่งเรือ ขณะเดียวกัน ฮอยเออร์ยังคงผลิตนาฬิกาสำหรับติดตั้งดับแผงหน้าปัดรถยนต์ เครื่องบิน และเรืออีกหลายคต่อหลายรุ่น
กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 1958 เมื่อ แจ็ก ฮอยเออร์ ลูกชายของชาร์ลส์-ออกุสต์ ขึ้นเป็นผู้บริหาร และมีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดบางส่วนในประวัติศาสตร์ของฮอยเออร์
หนึ่งในนั้นคือ Autavia เวอร์ชันนาฬิกาข้อมือ ซึ่งแจ็กตัดสินใจสร้างนาฬิกาข้อมือรุ่นใหม่ที่มีกรอบหน้าปัดแบบหมุนได้ ถือเป็นครั้งแรกสำหรับแบรนด์นาฬิกาสวิส โดยเปิดตัวในปี 1962 และนับเป็นครั้งแรกที่ฮอยเออร์ขายผลิตภัณฑ์แบบเป็นคอลเล็กชัน
อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซที่เกิดขึ้นในยุคของแจ็กคือ “Carrera” (คาร์เรรา) นาฬิกาพกที่ได้รับการออกแบบเพื่อเป็นเกียรติแก่การแข่งขันรถแข่งระดับตำนาน “Carrera Panamericana” ที่จัดขึ้นในเม็กซิโก
Carrera เป็นนาฬิกาข้อมือที่มีชื่อเสียงที่สุดของแบรนด์ฮอยเออร์ ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ขับขี่รถโดยคำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์และความชัดเจนเป็นสำคัญ
แจ็ก ฮอยเออร์ ยังเป็นผู้ทำให้เกิดกระแสนาฬิกาออโตเมติก หรือนาฬิกาที่ใช้แรงเหวี่ยงและการเคลื่อนไหวเป็นพลังงานขับเคลื่อนกลไกนาฬิกา โดยหลังจากซุ่มพัฒนาอยู่นานพอสมควร ปี 1969 ฮอยเออร์ได้เปิดตัว Calibre 11 กลไกนาฬิกาออโตเมติก ที่หากได้รับแรงสั่นสะเทือน 19,800 ครั้งต่อชั่วโมง จะสามารถสำรองพลังงานได้ประมาณ 42 ชั่วโมง
ฮอยเออร์นำระบบออโตเมติกมาใช้กับนาฬิกา 3 รุ่น คือ Autavia, Carrera และรุ่น “Monaco” (โมนาโก) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือหน้าปัดทรงสี่เหลี่ยม
ในทั้งสามรุ่น Heuer Monaco เป็นรุ่นที่ดังเป็นพลุแตกที่สุด ด้วยอานิสงส์จากการที่ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง สตีฟ แม็กควีน นำไปสวมใส่
TAG Heuer Monaco เรือนที่ สตีฟ แม็กควีน ใส่
การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่
ในปี 1985 บริษัทเทคนิคดาวองต์การ์ด หรือ TAG ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ไฮเทค ได้เข้าซื้อกิจการของฮอยเออร์ ซึ่งขณะนั้นแม้จะมียอดขายนาฬิการุ่นต่าง ๆ ยอดเยี่ยม แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสค่อนข้างย่ำแย่ ทำให้ แจ็ก ฮอยเออร์ ต้องยอมขายเพื่อให้แบรนด์ได้ไปต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็น “TAG Heuer” อย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา
ภายใต้การบริหารของ TAG นาฬิกาของแบรนด์ถูกปรับให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และรุ่นแรกที่เปิดตัวภายใต้ชื่อใหม่คือ “TAG Heuer Formula 1” เป็นนาฬิการะบบควอตซ์ (ใช้ถ่าน) ตัวเรือนทำจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น ใยแก้ว เน้นสีสันสดใสมากกว่าเดิม
TAG Heuer Formula 1 มียอดขายมากถึง 3 ล้านเรือนในช่วงปี 1986-2000 และเป็นรุ่นที่ทุกคนเฝ้ารอคอยให้กลับมาผลิตอีกครั้ง กระทั่งปี 2024 การรอคอยจึงสิ้นสุดลง กลับมาผลิตภายใต้แบรนด์ไลฟ์สไตล์ Kith มีให้เลือกซื้อ 10 สี ราคาวางจำหน่ายเริ่มต้นที่ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 53,500 บาท) ไปจนถึงเกือบ ๆ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 738,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม TAG บริหารฮอยเออร์อยู่ไม่นาน ได้ขายหุ้นให้แบรนด์หรูระดับโลกสัญชาติฝรั่งเศส หลุยส์ วิตตอง (LVMH) จนถือหุ้นเกือบ 100% แต่มีการแต่งตั้งทายาทสายตรงของฮอยเออร์เป็นที่ปรึกษา
ปัจจุบัน ซีอีโอของ TAG Heuer คือ เฟรเดอริก อาร์โนลต์ ลูกชายของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ผู้ก่อตั้ง LVMH โดยทายาทหนุ่มรายนี้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2020
เฟรเดอริก อาร์โนลต์ ซีอีโอคนปัจจุบันของ TAG Heurer
ภายใต้การบริหารของเฟรเดอริก TAG Heuer เติบโตขึ้นไม่น้อยในตลาดนาฬิกาหรูที่การแข่งขันสูง
รายได้ของ LVMH ปี 2023 อยู่ที่ 8.62 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) โตขึ้นถึง 13% จากปีก่อนหน้า เฉพาะแผนกนาฬิกาและเครื่องประดับ ซึ่งประกอบด้วย Bulgari, Tiffany, TAG Heuer, Hublot และ Zenith โตขึ้น 7%
โดยรายได้ของแผนกนาฬิกาและเครื่องประดับอยู่ที่ 1.09 หมื่นล้านยูโร (4.32 แสนล้านบาท) คิดเป็น 12.6% ของรายได้รวม
LVMH ระบุว่า ยอดขายในแผนกนี้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ Tiffany, Bulgari และ TAG Heuer ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านรายได้ที่สูงทำลายสถิติ จากคอลเล็กชันฉลองครบรอบ 60 ปี Carrera
นอกจากนี้ TAG Heuer ยังไปได้สวยจากกลยุทธ์ความร่วมมือกับ Formula 1 และภาพยนตร์ดัง “บาร์บี้” (Barbie) รวมถึงการขยายสาขาเปิดหน้าร้านสแตนด์อะโลนในสหรัฐฯ
เฟรเดอริกเผยว่า มีแผนจะเพิ่มร้านสแตนด์อะโลนในสหรัฐฯ มากกว่า 2 เท่าให้เป็น 50 แห่งภายในปี 2026 โดยมองว่า นอกจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว หน้าร้านยังช่วยให้แบรนด์มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้ามากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาผู้ค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าบุคคลที่สาม
นับตั้งแต่ปี 2020 เฟรเดอริกได้ลดจำนวนสาขา TAG Heuer ที่เป็นผู้จำหน่ายบุคคลที่สามเหลือเพียง 2,500 แห่งจาก 4,000 แห่งก่อนเกิดโรคระบาด
“นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ... การมีร้านค้าแบรนด์เนมที่เราดำเนินการเองควบคู่ไปกับอีคอมเมิร์ซช่วยให้เรารักษาความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าได้” เฟรเดอริกกล่าว
ในส่วนของ Formula 1 ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับ TAG Heuer ในฐานะพันธมิตรและผู้รับผิดชอบการจับเวลาอย่างเป็นทางการของทีม Oracle Red Bull Racing
TAG Heuer Carrera Connected
เฟรเดอริกกล่าวว่า TAG Heuer กำลังก้าวหน้า ส่วนหนึ่งมาจากชัยชนะทางการตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น TAG Heuer Monaco Chronograph ใหม่พร้อมหน้าปัดโครงกระดูก โดยรุ่นท็อปของแบรนด์ได้รับความนิยมอย่างมากจนเคยมีลูกค้าต้องรอคิวนานถึง 18 เดือน
“อุปสงค์แข็งแกร่งกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก ... แน่นอนว่าหากเราต้องการเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่าในอีก 18 เดือนข้างหน้า เราก็สามารถทำได้ แต่เราจะไม่ทำเช่นนั้น เรายังต้องการให้แน่ใจว่ามูลค่าของนาฬิกาจะยังคงอยู่ในระยะยาว” ซีอีโอ Tag Heuer บอก
TAG Heuer ยังอาจได้รับอิทธิพลจากการเป็นหุ้นส่วนกับนักแสดง ไรอัน กอสลิง ที่ใส่นาฬิกา TAG Heuer Carrera 36 มม. หน้าปัดสีชมพูสดใส ในการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้
“เราทำให้แน่ใจว่ามีนาฬิกาที่ถูกต้องปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ ... ไรอันจะสวมนาฬิกาอันเป็นเอกลักษณ์ที่เข้ากันได้ดีกับจักรวาลนี้ จน Carrera 36 มม. สีชมพูได้รับฉายาว่า ‘นาฬิกาบาร์บี้’ จากลูกค้าของเราแล้ว” เฟรเดอริกกล่าว
อีกเหตุผลความสำเร็จของ TAG Heuer ภายใต้การนำของเฟรเดอริกคือกลยุทธ์นำความหรูหรามาสู่คนทั่วไปของเบอร์นาร์ดผู้เป็นพ่อ หลักการคือ เสนอทั้งนาฬิการาคาแพงเวอร์ เช่น Carrera Plasma รุ่นลิมิเต็ด ราคามากกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (18.4 ล้านบาท) ควบคู่ไปกับนาฬิการะดับเริ่มต้น เช่น รุ่น Formula One ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐ (53,500 บาท)
โดยสินค้าราคาต่ำกว่าทำหน้าที่เป็นตัวล่อลวงลูกค้าอายุน้อยและทะเยอทะยานที่จะหันไปหาผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงกว่าเมื่อพวกเขาอายุมากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น “สำหรับหลาย ๆ คน เราคือนาฬิกาหรูเรือนแรก”
ข้อมูลจาก LuxeConsult และ Morgan Stanley ระบุว่า ในปี 2023 ส่วนแบ่งตลาดนาฬิกาสวิสของ TAG Heuer อยู่ที่ 1.7% อยู่ในอันดับที่ 14 ส่วนอันดับ 1 เจ้าตลาดคือโรเล็กซ์ (Rolex) ครองส่วนแบ่งถึง 30.3%
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/223548
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา