9 ธ.ค. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“Outdoor Products” ผลิตภัณฑ์เอาต์ดอร์ที่จะผจญภัยไปกับคุณทั้งชีวิต

ทำความรู้จัก “Outdoor Products” แบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปโรงเรียนหรือขึ้นเขาลงห้วยก็ต้องนึกถึงพวกเขา
สำหรับเหล่านักท่องเที่ยวสายเอาต์ดอร์ สิ่งสำคัญที่จะทำให้การผจญภัยของพวกเขาเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย คือเรื่องของอุปกรณ์ที่ตอบสนองทุกความต้องการด้านการใช้งาน ความสะดวกสบายในขณะผจญภัย ความง่ายในการพกพาได้ดี รวมถึงความคงทนและอายุการใช้งานที่ยาวนาน
หนึ่งในแบรนด์ที่ครองใจเหล่านักผจญภัยสายเอาต์ดอร์คือ “Outdoor Products” (เอาต์ดอร์โพรดักต์ส) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลายครบสูตร ทั้งเป้ กระเป๋าเดินทางแบบสปอร์ต เสื้อผ้า ชุดกันฝน แว่นกันแดด จักรยาน นาฬิกา ผ้าเช็ดตัว เต็นท์ ถุงนอน ไฟฉาย ฯลฯ
กระเป๋าเป้ Outdoor Products
เรียกได้ว่า ถ้าใครจะไปออกผจญภัยไม่ว่ารูปแบบใด Outdoor Products มีให้ครบทุกอย่าง สมกับชื่อแบรนด์ที่แปลตรง ๆ เลยว่าคือ “ผลิตภัณฑ์เอาต์ดอร์” หนำซ้ำยังขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพที่ไม่เป็นสองรองใคร
Outdoor Products ยังเรียกได้ว่าแทบจะเตะตัดขาคู่แข่งทุกคนในวงการผลิตภัณฑ์เอาต์ดอร์ เพราะชื่อแบรนด์ตรงกับชื่อประเทภสินค้า ทำให้เมื่อคนเสิร์ชกูเกิลหา “ผลิตภัณฑ์เอาต์ดอร์” เป็นภาษาอังกฤษ อย่างไรก็จะติดเสิร์ชและเด้งขึ้นมาเป็นเจ้าแรกอย่างแน่นอน
การที่ชื่อของแบรนด์ออกมาตรงตามตัวอักษรขนาดนี้ เป็นเพราะผู้ก่อตั้งอย่าง “ครอบครัวอัลต์สชูล” (Altschule) ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนทุกครั้งที่อยู่นอกบ้าน ไม่ว่าจะระหว่างการเดินทางไปโรงเรียนหรือขึ้นเขาลงห้วยก็ต้องนึกถึง Outdoor Products
ผลิตภัณฑ์ออริจินัลในมุมห้าง
ในทศวรรษที่ 1960 การชอปปิงสินค้าในร้านค้าเฉพาะทางเป็นที่นิยมอย่างมาก เช่น ถ้าอยากได้รองเท้า ให้ไปที่ร้านรองเท้า นั่นทำให้พ่อของพี่น้องอัลต์สชูลเริ่มต้นจากการเป็นผู้ค้าปลีกที่ซื้อขายสินค้าทางการทหารส่วนเกิน
เมื่อกิจการเป็นไปด้วยดี เขาจึงได้เปิดห้างค้าปลีก “The Famous Department Store” ห้างสรรพสินค้าสูง 4 ชั้นใจกลางย่านดาวน์ทาวน์ของนครลอสแอนเจลิส โดยนอกเหนือจากสินค้าทางทหารส่วนเกินแล้ว ยังจำหน่ายอุปกรณ์กลางแจ้งและค่ายพักแรม จนได้ชื่อว่าเป็น ห้างที่มีเต็นท์และอุปกรณ์ตั้งแคมป์มากที่สุดในสหรัฐฯ ในยุคนั้น
หนึ่งในพี่น้องอัลต์สชูลที่ก่อตั้ง Outdoor Products คือ โจเอล อัลต์สชูล เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส แต่ลาออกหลังจากขึ้นปี 2 เพื่อมาช่วยงานพ่อที่ห้างสรรพสินค้า
ขณะทำงานที่ The Famous โจเอลสังเกตเห็นว่าแม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อตอบสนองผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ไม่มีสินค้าคุณภาพสูงที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย
เขาเกิดไอเดียที่จะเปลี่ยนไนลอนส่วนเกินที่เหลือจากการซ่อมเต็นท์มาทำเป็นกระเป๋าเดินทางแบบสปอร์ต และผลิตภัณฑ์ตัวอย่างนั้นไปที่งานแสดงสินค้าในลาสเวกัสเมื่อปี 1973
ผลลัพธ์ที่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะเขาได้รับคำสั่งซื้อจาก Long Beach Surplus ในมูลค่า 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งโจเอลบอกว่ามันยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่เสียอีก เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ช่างหัวธุรกิจค้าปลีก นี่มันคือโอกาสที่ใหญ่กว่ามาก”
และนั่นนำมาสู่การก่อตั้ง Outdoor Products แบรนด์ของพวกเขาเองอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในมุมหนึ่งของห้าง The Famous ในปีเดียวกันนั้นเลย
หลังก่อตั้งแบรนด์ Outdoor Products กลายเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว จนต้องตั้งโรงงานขยายสายการผลิตขึ้นมาในปี 1974 หรือเพียงปีเดียวหลังก่อตั้งแบรนด์
และนี่คือจุดเริ่มต้นแรกของ Outdoor Products ที่ปัจจุบันมีการวางจำหน่ายในมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และเป็นที่นิยมทั้งในหมู่ผู้ที่มีไลฟ์สไตล์สายเอาต์ดอร์รวมถึงผู้ใช้ทั่วไปที่ชื่นชอบในความอเนกประสงค์และความทนทานของผลิตภัณฑ์
Outdoor Products เปลี่ยนชื่อชื่อบริษัทเป็น “The Outdoor Recreation Group” ในปี 1986 และกำหนดให้ Outdoor Products เป็นหนึ่งในแบรนด์และสายการผลิต โดยได้ออกแบรนด์อื่นในเวลาต่อมา เช่น Fieldline, Mantisyoga, Samurai Tactical และ Timber Hawk เป็นต้น
โจเอล อัลต์สชูล ผู้ก่อตั้ง Outdoor Products (ซ้าย) และแอนดรูว์ อัลต์สชูล ซีอีโอคนปัจจุบัน (ขวา)
เทรนด์กระเป๋าเป้ที่วัยรุ่นอเมริกันและญี่ปุ่นทุกคนต้องมี
ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ขบวนการสหภาพแรงงานออกมาเรียกร้องสิทธิแรงงานเข้มข้นมากในชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ มีการแก้ไขกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ และอุตสาหกรรมการผลิตก็ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ซึ่ง Outdoor Products ไม่ใช่ข้อยกเว้น
ผู้จัดการฝ่ายผลิตในขณะนั้นต้องการที่จะ “ขึ้นค่าจ้าง ไม่ขึ้นราคาสินค้า แต่ไม่ลดคุณภาพลง” บริษัทจึงพยายามหาทางการลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน
หลังผ่านการลองผิดลองถูกจากกระบวนการเหล่านี้ สิ่งที่ Outdoor Products ได้ออกมาคือกระเป๋าโมเดลต้นแบบของกระเป๋ารุ่น “452” โดยเป็นกระเป๋าเป้ที่ใช้จำนวนชิ้นส่วนและจำนวนการเย็บให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เอกลักษณ์ของ 452 ที่ยังคงไว้จนมาถึงปัจจุบันคือ โครงสร้างล็อกแบบตะเข็บ ซิปแบบ YKK สายสะพายไหล่บุนวมพร้อมตัวปรับ และนวัตกรรมกันน้ำ
พวกเขาเริ่มนำ 452 ไปวางจำหน่ายตามสหกรณ์ของมหาวิทยาลัย ร้านกีฬา และสนามกีฬา จนกลายเป็น “กระเป๋าเป้มาตรฐาน” ที่คนหนุ่มสาวต้องมี ถึงขั้นที่ว่า มหาวิทยาลัยมากกว่า 100 แห่งทำสัญญากับ Outdoor Products ให้ผลิตกระเป๋าเป้และกระเป๋าเดินทางที่มีโลโก้ของมหาวิทยาลัย
ขณะที่ 452 กำลังโด่งดัง Outdoor Products ตัดสินใจเดินแผนการตลาดใหม่เสริมการขายไปด้วย นั่นคือ “เสนอการรับประกันตลอดอายุการใช้งานสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด”
ต่อมาในปี 1985 Outdoor Products ไปเปิดตัวเต็มรูปแบบในญี่ปุ่น และกลายเป็นกระเป๋ามาตรฐานสำหรับนักเรียนและนักศึกษาญี่ปุ่นในเวลาไม่นาน ทำให้กระเป๋าเป้ที่มีโลโก้มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ กลายเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นอยู่นานหลายปี
ความนิยมนี้ยังกลายเป็นก้าวแรกของ Outdoor ที่จะเข้ามาเจาะในตลาดเอเชีย
กระเป๋า Outdoor Products รุ่น 452 ที่ได้รับความนิยมมากจนกลายเป็นกระเป๋านักเรียนมาตรฐานในสหรัฐฯ
เข้าสู่ตลาดเอเชียเต็มตัว
ที่ผ่านมา Outdoor Products ไม่เคยเปิดเผยตัวเลขรายได้และผลกำไรที่แน่ชัด แต่นักวิเคราะห์ตลาดประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 315 ล้านบาท) ต่อปี ส่วนรายได้รวมของ The Outdoor Recreation Group อยู่ที่ประมาณ 27.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 993 ล้านบาท) ต่อปี
เท่ากับว่า Outdoor Products คิดเป็นแหล่งรายได้มากกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทเลยทีเดียว โดยมีตลาดที่สำคัญนอกจากสหรัฐฯ คือ “เอเชีย”
โดยหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ของ Outdoor Products ประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น ทำให้บริษัทอิโตชู (ITOCHU Corporation) หนึ่งในบริษัทประเภท “โซโกโชฉะ” หรือบริษัทขายส่งผลิตภัณฑ์และวัสดุ ซึ่งอิโตชูถือเป็นหนึ่งในโซโกโชฉะที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แต่จะมุ่งเน้นไปที่สินค้ากลุ่มสิ่งทอเป็นหลัก
โดยในเดือน พ.ย. 2012 อิโตชูประกาศว่า บริษัทได้ซื้อเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ Outdoor Products จาก The Outdoor Recreation Group
การซื้อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้อิโตชูสามารถขายสินค้า Outdoor Products ได้ใน 4 ประเทศตะวันออกกลาง, 2 ประเทศในอเมริกาใต้ และ 13 ภูมิภาคในเอเชีย ประกอบด้วย ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ และบอร์เนียว)
ในเวลานั้น อิโตชูให้เหตุผลการตัดสินใจนี้ว่า “เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูเมื่อเร็ว ๆ นี้ในเอเชียและตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ได้นำไปสู่แนวโน้มความต้องการสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่แข็งแกร่งขึ้นในหมู่ผู้มีรายได้ปานกลาง รวมถึงความต้องการสินค้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเติมเต็มความเพลิดเพลินในชีวิตประจำวันและเวลาว่าง ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้คาดว่าความต้องการสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์แบรนด์ Outdoor Products จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น”
ต่อมาในปี 2014 ได้มีการเปิดสโตร์ Outdoor Products สาขาแรกขึ้นที่ชิบุยะ การเข้าซื้อลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้านี้ทำให้แบรนด์ Outdoor Products แพร่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียได้เป็นวงกว้าง
การเติบโตของ Outdoor Products ในเอเชียยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพราะล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2023 อิโตชูประกาศลงนามข้อตกลงใหม่กับพันธมิตรในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในภาคการค้าปลีก เพิ่มมูลค่าของแบรนด์ไปอีกระดับ
ข้อตกลงนี้ยังทำในช่วงเวลาที่เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี Outdoor Products พอดีด้วย
ปัจจุบันอิโตชูได้ขยายการขาย Outdoor Products ไปยัง 33 พื้นที่แล้ว โดย 18 แห่งอยู่ในเอเชีย นอกจากนี้ ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อนปี 2024 แบรนด์จะเริ่มเปิดร้านค้าตามสถานีรถไฟฟ้าและห้างสรรพสินค้านอกเหนือจากร้านเรือธง
ความเคลื่อนไหวนี้บริษัทอิโตชูตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการขายปลีกที่ 5 หมื่นล้านเยน (ราว 1.12 หมื่นล้านบาท) ภายใน 5 ปีข้างหน้า
กระเป๋า Outdoor Products
กระเป๋าแห่งชีวิต มิตรของทุกการผจญภัย
โจเอล ผู้ก่อตั้ง Outdoor Products เสียชีวิตไปเมื่อต้นปี 2023 แต่เจตนารมณ์ของเขาในการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับสายเอาต์ดอร์ ได้รับการสืบสอดมายังลูกชาย “แอนดรูว์ อัลต์สชูล” ซึ่งเข้ามาคลุกคลีอยู่ในบริษัทมาตั้งแต่เด็ก และเป็นซีอีโอคนปัจจุบัน
แอนดรูว์บอกว่า “ผมโตมากับ Outdoor Products ผมไปโรงงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ และหลังจากเรียนจบผมก็ได้โอกาสเข้ามาทำงานในบริษัทตั้งแต่ปี 1992”
เขาเคยบอกว่า “Outdoor Products เป็นแบรนด์หลักของเรา เรายังมีแบรนด์ล่าสัตว์ภายใต้ชื่อ Fieldline และ Timber Hawk และเรามีแบรนด์อุปกรณ์ตกปลาภายใต้ชื่อ Samarai Tactical Fish และ Okeechobee Fats ด้วย”
ธุรกิจของ Outdoor Products เติบโตขึ้นไม่น้อยในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในทำนองเดียวกับการท่องเที่ยวเพื่อล้างแค้น นักผจญภัยสายเอาต์ดอร์จำนวนมากต่างอัดอั้นกับการต้องอุดอู้อยู่แต่ในบ้านเพื่อหลบไวรัสร้าย ทำให้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กิจกรรมเอาต์ดอร์จึงบูมอย่างมาก
“ผมจะบอกว่า ตามปกติแล้วในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงที่ผู้คนจะวางแผนวันหยุดพักผ่อน ไปชายหาด การเดินทาง นั่งเครื่องบิน ค่ายฤดูร้อนสำหรับเด็ก และคุณรู้ไหมว่าในช่วงเริ่มต้นของการระบาด สิ่งต่าง ๆ มีความท้าทายมาก
แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆ เปิดออก เราพบว่าทุกคนตั้งตารอที่จะออกไปข้างนอกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งแคมป์ ตกปลา หรือล่าสัตว์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา”
เขาเสริมว่า “เราเห็นลูกค้าจำนวนมากออกไปตั้งแคมป์กับครอบครัว ขับรถอาร์วี ขับรถท่องเที่ยว ไม่ว่าจะไปยูทาห์ โคโลราโด แอริโซนา ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ดังนั้น ผมคิดว่าหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งของเรามีประโยชน์จริง ๆ ผมรู้สึกโชคดีมากที่ได้พูดแบบนี้เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก ถือเป็นช่องทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้คนที่ได้ออกไปข้างนอกและพยายามเอาชนะความท้าทายจากโควิด”
Outdoor Products นำเสนอองค์ความรู้และประสบการณ์กว่า 50 ปีในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เอาต์ดอร์ โดยยืนหยัดตามปรัชญา “คุณภาพ + คุณค่า + ผลตอบรับจากลูกค้า = ความสำเร็จ”
บริษัทยืนยันว่าพวกเขาพร้อมจะอยู่ในทุกช่วงชีวิตและกิจกรรมของลูกค้า ไม่ว่าจะเดินทางทำงาน ไปเที่ยว หรือผจญภัย ผลิตภัณฑ์ Outdoor Products จะเป็นกระเป๋าให้ทุกคนไปตลอดชีวิต
ค่านิยมดังกล่าวและความคงทนของผลิตภัณฑ์ ทำให้ Outdoor Products ได้ชื่อว่าเป็น “กระเป๋าแห่งชีวิต” เพราะมันสามารถติดตามคุณไปได้ทุกที่ มีส่วนร่วมในทุกการผจญภัย และอยู่ได้นานตลอดชีวิตของคุณ
ประวัติ Outdoor Products
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/228306
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา