Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Hi Story - ที่นี่มีเรื่องเล่า
•
ติดตาม
4 ธ.ค. เวลา 10:08 • ประวัติศาสตร์
LSS-EP.1–พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกฯคนแรกของสยามประเทศ
หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 คณะราษฎร ได้ทำการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการคลังให้ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นการปกครองระบอบใหม่ และนี่คือเรื่องราวของนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามประเทศ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดาหรือที่เรียกสั้นๆว่าเจ้าคุณมโนฯ มีชื่อเดิมจริง ๆ ว่า ก้อน หุตะสิงห์ เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 ซึ่งช่วงเวลาที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเกิด การรุกรานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาติตะวันตกกำลังเข้มข้น โดยหลังจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเกิดเพียงปีเดียว ประเทศพม่าก็ถูกอังกฤษยึดครองทำให้ราชวงศ์คองบองต้องสิ้นสุดลง
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา หรือ เด็กชายก้อนเป็นบุตรของนายฮวด กับนางแก้ว ชาวไทยเชื้อสายจีน ที่อาศัยอยู่ในพระนคร เข้ารับการศึกษาที่วัดราชบูรณะ ก่อนจะไปต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ภายหลังจบการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบก็ได้ไปศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยาม หลังจากนั้นก็ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาด้านกฎหมายต่อที่ประเทศอังกฤษ
ในด้านการทำงานหลังจากเรียนจบจากประเทศอังกฤษ ก้อนได้กลับมารับราชการเป็นผุ้พิพากษาศาลอุทธรณ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรมและเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายให้นักศึกษากฎหมายในประเทศไทย ต่อมาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้เป็นองคมนตรีควบตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการคลัง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “หลวงประดิษฐ์พิจารณ์การ” ต่อมาได้เลื่อนเป็น “สมุหพระนิติศาสตร์” และ “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” ในที่สุด
จะเห็นว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่เราเรียกกันนี้แท้จริงจึงไม่ใช่ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ แต่เป็นบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานมานั่นเอง
ตลอดการรับราชการของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่ากันว่าเป็นข้าราชการที่มีภาพลักษณ์ดี มือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อย อีกทั้งยังใกล้ชิดกับกลุ่มศักดินา ทำให้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏรในปี พ.ศ.2475 จึงได้ทำการเลือกมหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 70 คน
พร้อมกันนี้เจ้าคุณมโนได้รับการทาบทามตั้งแต่วันแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร แต่ทว่าเจ้าคุณมโนฯขอเวลาคิด 1 คืน ก่อนจะตอบรับในวันถัดมา และกลายเป็นประมุขฝ่ายบริหารซึ่งตอนนั้นยังเรียกตำแหน่งนี้ว่าประธานคณะกรรมการราษฎรอยู่ยังไม่เรียกตำแหน่งนี้ว่านายกรัฐมนตรี ต่อมาจึงมาการโปรดเกล้าฯให้เรียกชื่อตำแหน่งนี้ใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย
การเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฏรหรือนายกรัฐมนตรีนั้น ก็โดยหวังให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปโดยราบรื่นที่สุด ให้กลุ่มศักดินาโอนอ่อนผ่อนตามโดยง่าย ภารกิจเร่งด่วนที่สุดตอนนั้นก็คือการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นบังคับใช้ และหลังจากจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศสำเร็จเสร็จสิ้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476
และสภาชุดแรกนี้ได้ทำการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่คณะรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งนี้ทำงานกันได้ไปราว ๆ 4 เดือนเท่านั้นก็เกิดเหตุความวุ่นวายขึ้นจากกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีการถกเถียงกันว่าเนื้อหาเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
ความวุ่นวาย และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี กับกลุ่มต่อต้านฯค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจนมีท่าทีอาจจะบานปลายกลายเป็นความรุนแรงได้ ว่ากันว่า ส.ส.ที่เข้าประชุมช่วงนั้นถึงขนาดต้องพกปืนเข้าสภากันเลยทีเดียว
ความแตกแยกในหมู่สมาชิกคณะราษฎร ขุนนาง ข้าราชการ และ ส.ส. ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆจนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนคือ 1.กลุ่มที่เห็นด้วยกับสมุดปกเหลือง และ 2.กล่มที่ไม่เห็นด้วย และเจ้าคุณมโนฯก็คือกลุ่มที่ 2 ที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองนี้
ด้วยการสนับสนุนจากคณะราษฎรสายทหารกล่มที่นำโดยพระยาทรงสุรเดช ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาตัดสินใจออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมระงับใช้กฎหมายรัฐธรรมนุญบางมาตรา ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งชุดต้องพ้นไปจากตำแหน่งทันทีพร้อมกันนี้ยังได้ทำการแนะนำให้นายปรีดี พนมยงค์ เจ้าของสมุดปกเหลืองอพยพไปฝรั่งเศส หรือก็คือการเนรเทศนั่นเอง พร้อมกับตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ซึ่งได้ให้คำจำกัดความและบทลงโทษผู้สนับสนุนและฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ส่งผลให้สื่อมวลชนทำงานยากมากและถูกภาครัฐแทรกแซงเสรีภาพการนำเสนอ
ปิดท้ายด้วยการที่เจ้าคุณมโนฯทำการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่โดยมีตัวเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 และว่ากันว่านี่ก็คือการรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการรัฐประหารโดยใช้ปากกาเพียงด้ามเดียว ยังไม่มีการใช้กำลังพลมาก่อการ
จะเห็นว่าก่อนหน้านี้คณะราษฎรเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นนายกฯเพื่อหวังให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่พอนานเข้าเจ้าคุณมโนฯพยายามกำจัดฝ่ายก้าวหน้าและมีท่าทีไม่โอนอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงเสียเอง
ส่งผลให้ฝ่ายนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่ากลุ่ม 4 ทหารเสือได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดชซึ่งเคยสนับสนุนเจ้าคุณมโนฯในการทำรัฐประหารแต่ตอนนี้ย้ายข้าง พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประสาสน์พิทยายุทธ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีไม่พอใจประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 14 มิ.ย. 2476 โดยรัฐบาลแถลงเกี่ยวกับกรณีลาออกของ 4 ทหารเสือเพียงว่าทั้ง 4 เห็นว่าเสรีภาพทางการเมืองของประเทศมั่นคงดีแล้วและมีปัญหาสุขภาพจึงได้ขอลาออก สร้างความแคลงใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก
20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ได้ไม่ครบ 2 เดือนก็ถูกทำการรัฐประหารยึดอำนาจโดยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งต่อมาจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทยและเป็นนายกคนแรกที่มาจากการรับประหาร บังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออก และเนรเทศไปยังปีนังทางรถไฟ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา หลังจากพ้นจากตำแหน่งและถูกเนรเทศก็อาศัยอยู่ที่ปีนังจนกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในวัย 64 ปี
มีเกร็ดด้านชีวิตส่วนตัวนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้พบรักกับคุณนิตย์ สาณะเสน ลูกสาวพระยาท่านหนึ่งขณะที่ศึกษาอยู่ที่อังกฤษและได้กลับมาทำการสมรสกันเมื่อปี 2455 ขณะที่เจ้าคุณมโนฯอายุ 28 ปี ส่วนคุณนิตย์ที่ต่อมาเป็นคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาอายุ 24 ปี โดยทั้งคู่ไม่มีประวัติว่ามีบุตรธิดาด้วยกัน
คุณนิตย์ สาณะเสน กับ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ด้วยความสามารถด้านภาษาที่พูดได้ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน อิตาลี ทำให้คุณนิตย์ต่อมาได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ราชีในรัชกาลที่ 7 ตามเสด็จไปที่ต่างๆจนกระทั่งเมื่อ 4 พ.ค. 2473 ขณะที่คุณนิตย์อายุได้ 42 ปี ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กัมพูชาก่อนที่เจ้าคุณมโนฯจะได้เป็นนายกฯ ทำให้ไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักคุณนิตย์เท่าใดนัก
งานศพของคุณนิตย์ถูกจัดให้คล้ายงานหลวงเพื่อเป็นเกียรติทั้งเจ้าคุณมโนฯและคุณนิตย์ที่เสียชีวิตขณะตามเสด็จ แผนกศิลปากรได้สร้างอนุสาวรีย์นาง 4 หน้าขึ้นที่หน้าพระวิหารหลวงวัดปทุมวนารามเพื่อบรรจุอังคารของคุณนิตย์ที่ช่องขวา ส่วนช่องซ้ายนั้นเมื่อเจ้าคุณมโนฯเสียชีวิตลงก็ได้นำอังคารมาไว้ที่ช่องนี้นั่นเอง
#history #ที่นี่มีเรื่องเล่า #พระยามโนปกรณ์นิติธาดา #นายกรัฐมนตรีคนแรก
ประวัติศาสตร์
การเมือง
ข่าวรอบโลก
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย