5 ธ.ค. เวลา 04:04 • ความคิดเห็น

เมื่อผ่านความยากลำบากนี้ อนาคตของเราจะดีขึ้น

คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เคยเล่าถึงคุณ Jensen Huang, Founder & CEO ของ NVIDIA หนึ่งในบริษัทที่ร้อนแรงที่สุดในชั่วโมงนี้
3
เมื่อตอนต้นปี Jensen Huang ได้ขึ้นไปให้สัมภาษณ์บนเวทีของงาน SIEPR Economic Forum ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
พิธีกรถามคุณเจนเซ่นว่า สแตนฟอร์ดมีนักศึกษามากมายที่อยากออกไปเป็นผู้ประกอบการ คุณเจนเซ่นมีคำแนะนำอะไรบ้างที่จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ
1
คุณเจนเซ่นตอบว่า:
"รู้ไหม หนึ่งในข้อได้เปรียบของผมก็คือการมีความคาดหวังที่ต่ำมาก นักศึกษาที่จบจากสแตนฟอร์ดส่วนใหญ่มักมีความคาดหวังสูง คุณก็สมควรมีความคาดหวังสูงแหละ เพราะคุณจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ถูกรายล้อมด้วยคนที่น่าทึ่ง แถมคุณยังมีปัญญาจ่ายค่าเล่าเรียนอีกด้วย ดังนั้นการมีความคาดหวังสูงจึงเป็นเรื่องธรรมดา
4
แต่คนที่มีความคาดหวังสูงมักมีความสามารถต่ำในการลุกขึ้นจากความล้มเหลว (low resilience) และ resilience นี่แหละคือกุญแจสู่ความสำเร็จ
13
ผมไม่รู้จะสอนอะไรคุณ นอกจากหวังว่าคุณจะได้สัมผัสกับความทุกข์บ้าง
2
ทุกวันนี้ผมใช้คำว่า "ความเจ็บปวดและความทุกข์" (pain & suffering) กับคนที่บริษัทด้วยความยินดี เพราะนี่คือวิธีฝึกฝนและหล่อหลอมนิสัยใจคอของคนในองค์กร คุณก็รู้ดีว่าความยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดจากความเฉลียวฉลาด แต่เกิดจากนิสัยใจคอ (character) และนิสัยใจคอที่ดีไม่ได้เกิดในคนที่หัวไว แต่เกิดในคนที่ผ่านพ้นความทุกข์มา
1
ถ้าผมจะขอพรให้นักศึกษาสแตนฟอร์ดทุกคนสักหนึ่งข้อ ผมขอให้พวกคุณได้สัมผัสกับความเจ็บปวดและความทุกข์อย่างเต็มที่
1
"I wish upon you ample doses of pain and suffering."
2
-----
เมื่อปลายปีที่แล้วผมเขียนถึงหนังสือ Outlive ของ Peter Attia ว่าเป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2023
1
สิ่งหนึ่งในตัวผมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือความรู้สึกขัดอกขัดใจที่ลดลงเวลาเจอเรื่องที่ต้องออกแรงหรือไม่สบายตัว เช่น
- ลูกวัย 7 ขวบและ 9 ขวบขอให้อุ้ม
- แบกเป้หนักเวลาไปเดินงานหนังสือ
- จอดรถไกลจากทางเข้าห้าง
- ถือถุงหลายใบเวลาไปช็อปปิ้ง
- เดินอยู่ข้างนอกแล้วเจอไอแดด
เพราะผมรู้สึกว่ามันสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของผมหลังจากอ่านหนังสือ Outlive จบ นั่นก็คือผมอยากเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองได้
ดังนั้น อะไรที่ทำให้ผมต้องออกแรง มันจะทำให้ผมแข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกัน
ตอนนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่ชีวิตสะดวกสบายยิ่งกว่ายุคใดที่ผ่านมา แต่ก็น่าแปลกที่ผู้คนกลับป่วยเป็นเบาหวานและโรคซึมเศร้ามากกว่ายุคใดที่ผ่านมาเช่นกัน
2
เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกวิวัฒนาการให้มาเจอสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายขนาดนี้ เป็นเวลาเกือบ 300,000 ปีที่ Homo Sapiens ต้องอดมื้อกินมื้อ เผชิญภยันตราย ตากแดดตากฝน ทนหนาวทนร้อน มีแค่ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมานี้เองที่มนุษย์ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบายและมีอาหารให้กินมากมายจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
แต่แม้จะสบายกายขนาดนี้ ความสุขของเราก็เหมือนจะไม่ได้กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ เพราะความสุขที่แท้จริงอาจไม่ได้เกิดจากความสบายกาย และการได้เสพอาหารและความบันเทิงแบบไร้ขีดจำกัด
5
ความสุขที่แท้น่าจะเกิดจากความรู้สึกว่าเราได้เติบโตหรือสร้างความคืบหน้าเพื่อบรรลุจุดประสงค์อะไรบางอย่าง
2
ดังนั้น เมื่อผมเจอเรื่องที่ไม่สบายกาย แต่ผมรู้ว่ามันทำให้ผมขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่จะเป็นคนแก่ที่แข็งแรง ผมจึงยินดีปรีดาไปกับ pain & suffering เหมือนที่คุณเจนเซ่นบอกอีกด้วย
-----
เมื่อวานนี้ผมได้อ่านสเตตัสของพี่ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
"หลายๆ เดือนมานี้ ผมได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ จากหลากหลายวงการที่ไม่ได้เจอมานาน บางคนสมัยเด็กๆ เรียนเก่งเข้าขั้นเป็นอัจฉริยะ (ไม่ใช่ทนาย) แต่พอโตมา หลายๆ คนกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนคนบางคนเหมือนจะธรรมดาๆ ในสมัยเรียน แต่กลับเฉิดฉายในตอนนี้
1
พอได้สอบถามประวัติไปๆ มาๆ ทำให้เห็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งว่า คนที่ได้เคยทำงานที่ต่างประเทศมานาน จะมีความคิดที่เปิดกว้าง ดูโต ดูมั่นใจ มีแรงบันดาลใจที่ชัดเจน คนที่ทำ startup ก็มีพลังไม่แพ้กัน แม้จะดูมีบาดแผลและความลำบากไม่น้อย คนที่ทำงานองค์กรไทยกลับดูหมดพลัง ยิ่งหลายๆ คนในวงราชการ รัฐวิสาหกิจแทบไม่ต้องพูดถึง
2
ผมไม่ได้อยากจะ stereotype คนที่ทำงานต่างที่กัน แต่พอเจอคนที่ไม่ได้เจอกันหลายสิบปี แล้วเห็นความแตกต่างขนาดนี้ ทำให้รู้สึกว่า คนที่เก่งๆ ศักยภาพเขามีสูงมากๆ แต่พอไปอยู่ในองค์กรที่ไม่เหมาะสมกับเขา ไม่เปิดให้เขาได้แสดงโอกาส ได้ฉายแสง ได้ลองทำ ลองล้มเหลว ตัวเขาเลยค่อยๆ หมองลง เลิกที่จะกล้าลอง กล้าทำ ทำตัวกลมกลืนไปกับองค์กรแทน"
2
-----
ตัวผมเองทำงานอยู่ในองค์กรที่เริ่มต้นจากการเป็น startup แม้ตอนนี้จะไม่สามารถถือว่าตัวเองเป็น startup ได้แล้ว แต่ความเข้มข้นและความยากลำบากนั้นก็ยังไม่ลดน้อยถอยลงเลยสักนิด
2
เมื่อเจองานที่ทำให้เราได้เจอโจทย์ยากอยู่ตลอด แถมมีวัฒนธรรมองค์กรที่คาดหวังให้ทุกคนทำเต็มที่อยู่เสมอ ผมก็รู้สึกได้เลยว่าตัวเองเก่งขึ้น แกร่งขึ้นกว่าแต่ก่อนพอสมควร และภูมิใจที่ความยากลำบากตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้หล่อหลอมให้เรามีตัวตนแบบนี้
1
ดังนั้น ผมจะบอกน้องๆ ในทีมอยู่เสมอว่า การได้เจอโจทย์ที่ยากนั้นเป็น good problem เพราะมันจะทำให้เราเติบโตยิ่งกว่าเดิม
6
ส่วน bad problem นั้นคือการได้เจองานง่ายๆ และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก เพราะเวลาที่เราสบาย เราจะชะล่าใจ และเราจะอ่อนแอลง และยิ่งถ้าเราประมาท มันก็อาจนำไปสู่ความล่มสลาย
5
เหมือนกับคำกล่าวที่ว่าธุรกิจครอบครัวมักจะจบที่รุ่นที่ 3 เพราะรุ่นแรกสร้าง รุ่นสองรักษาและขยับขยาย แต่รุ่นสามที่เกิดมาโดยไม่เคยรู้จักความลำบากอาจทำลายสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างเอาไว้
"Hard times create strong men. Strong men create good times. Good times create weak men, and weak men create hard times."
— G. Michael Hopf
1
ดังนั้น อย่ารังเกียจหรือหลีกหนีสิ่งที่สร้างความทุกข์ทางกายหรือทางใจ เพราะมันคือตั๋วรางวัลที่เราได้มาฟรีๆ
2
และเมื่อผ่านความยากลำบากนี้ อนาคตของเราจะดีขึ้นครับ
โฆษณา