6 ธ.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

ใครคือเจ้าของโกดังสินค้า ที่ Amazon และ Pepsi ใช้ ?

ถ้าพูดถึงธุรกิจเจ้าของพื้นที่โกดังสินค้าในไทย หลายคนน่าจะนึกถึง บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA
1
ผู้ให้บริการเช่าโครงการคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงาน ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของไทย เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเกือบแสนล้านบาท
แต่รู้ไหมว่า ในเวทีโลก ก็มีผู้เล่นในธุรกิจนี้ที่น่าสนใจ นั่นคือ Prologis, Inc. ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ที่ให้บริการบริษัทระดับโลกมากมาย ตั้งแต่ Amazon, Pepsi, lululemon ไปจนถึง Samsung เลยทีเดียว
โดย Prologis เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ชั้นนำของโลก
ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท
Prologis ทำธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าให้มีมูลค่าล้านล้านบาท ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
Prologis ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 หรือเมื่อ 41 ปีที่แล้ว ที่สหรัฐฯ
ในตอนแรกมีธุรกิจหลัก คือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าต่าง ๆ เช่น ออฟฟิศ ศูนย์การค้า และพื้นที่อุตสาหกรรม
1
ก่อนที่จะหันมาเน้นลงทุนในพื้นที่เช่าอุตสาหกรรม เช่น คลังสินค้าและโลจิสติกส์ อย่างเต็มตัว
สาเหตุก็เป็นเพราะว่า เห็นโอกาสจากเทรนด์การค้าโลกที่กำลังเติบโต
ทำให้ความต้องการศูนย์กระจายสินค้าตามจุดขนส่งต่าง ๆ อย่างเช่น ท่าเรือ สนามบิน เพิ่มขึ้น
โดยทาง Prologis อาศัยกลยุทธ์หาพันธมิตรร่วมลงทุนเป็นหลัก ในการขยายธุรกิจนี้อย่างรวดเร็ว ไปทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือญี่ปุ่น
1
อย่างเช่น ตอนที่เข้าลงทุนที่ญี่ปุ่น Prologis ไม่ได้แค่เข้าไปลงทุนเองอย่างเดียว แต่ยังร่วมกับทางกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ จัดตั้งกองทุนในญี่ปุ่นขึ้นมา เพื่อเข้าลงทุนเพิ่มเติมด้วย
ส่วนตอนบุกเข้าจีน ก็ได้ซื้อกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์ด้านอุตสาหกรรมที่มีพอร์ตการลงทุนในจีน เข้ามาบริหารต่อ
หลังจากนั้นก็ร่วมทุนกับบริษัทโลจิสติกส์ในจีน เพื่อพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าที่มีอยู่เพิ่มเติม
กลยุทธ์นี้เอง ช่วยให้ Prologis สามารถยึดหัวหาดศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลกได้สำเร็จ
และกลายมาเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า
ที่มีมูลค่านับล้านล้านบาทในวันนี้
Prologis มีการลงทุนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทวีปอเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
และ Prologis มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) สูงถึง 7.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสินทรัพย์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,200 ล้านตารางฟุต
ลูกค้าผู้เช่าของ Prologis มีกว่า 6,700 ราย และมีลูกค้าระดับโลกที่คอยใช้บริการตั้งแต่ Amazon, Pepsi, lululemon ไปจนถึง Samsung เลยทีเดียว
ต่อไปลองมาดูกันว่า Prologis มีรายได้หลักมาจากอะไรบ้าง ?
- ค่าเช่า 85%
- ค่าบริหารจัดการ 14.95%
- รายได้อื่น 0.05%
2
ซึ่งหลัก ๆ แล้ว ก็จะเป็นค่าเช่าจากผู้เช่าพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า (ที่ผู้เช่าต้องจ่ายเรื่อย ๆ)
ส่วนที่เหลือก็จะเป็นค่าบริหารจัดการ และการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม เช่น การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่
ผลประกอบการที่ผ่านมา
ปี 2021 รายได้ 165,000 ล้านบาท กำไร 105,000 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 207,000 ล้านบาท กำไร 120,000 ล้านบาท
ปี 2023 รายได้ 278,000 ล้านบาท กำไร 109,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า รายได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุมาจากการเข้าซื้อพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้ามาบริหารเพิ่มเติม และการขึ้นค่าเช่า
1
ถ้าจะสรุปเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า Prologis มีกลยุทธ์การลงทุน ที่เร่งขยายธุรกิจผ่านการหาพันธมิตร โดยขยายการลงทุนไปทั่วโลก
แล้วพอใหญ่ขึ้น มีคนเช่ามากขึ้น เช่าเต็มพื้นที่ เงินที่ได้จากค่าเช่าตรงนี้ก็จะถูกเอาไปต่อเงิน ลงทุนซื้อทรัพย์สิน ที่จะผลิตค่าเช่ามากขึ้นอีก ไปเรื่อย ๆ
ไม่ต่างอะไรกับลูกบอลหิมะที่กลิ้งลงเขาเรื่อย ๆ จนมีขนาดมหึมา
ซึ่งมาวันนี้ ลูกบอลหิมะที่ชื่อว่า Prologis ก็กลิ้งลงเขามาแล้ว 41 ปี สั่งสมตัวเองจนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจศูนย์กระจายสินค้า-คลังสินค้า แนวหน้าของโลก ที่มีมูลค่าหลายล้านล้านบาท..
โฆษณา