5 ธ.ค. เวลา 10:00 • ธุรกิจ

Climate Tech โอกาสและความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ SME ไทย ในการลดก๊าซเรือนกระจก

วันนี้เราคงคุ้นเคยกับคำว่า Climate Change กันดีอยู่แล้ว แต่คำว่า Climate Tech กำลังถูกพูดถึงกันมากขึ้น ซึ่ง Climate Tech หมายถึง เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะเข้ามาช่วยจัดการกับผลกระทบของวิกฤตภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ
โดยปัจจุบัน Climate Tech ได้รับการจับตามอง และเกิดการลงทุนให้กับสตาร์ทอัพและบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ พยายามคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมต่อสิ่งแวดล้อมและโลกมากขึ้น แล้วตอนนี้ Climate Tech มีการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว มีตัวอย่างอุตสาหกรรมใดบ้างที่นำไปปรับใช้ได้เรารวบรวมข้อมูลมาไว้ให้ในบทความนี้แล้ว ไปติดตามกันเลย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ NASA ยืนยันว่า 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และสถาบัน Goddard Institute for Space Studies ของ NASA รายงานว่าเดือนกรกฎาคม 2023 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดที่มีการบันทึกอุณหภูมิโลก ความจำเป็นในการหาวิธีทำให้โลกเย็นลงจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่ง
มาดูตัวอย่าง นวัตกรรมใหม่ ช่วย SME ในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
Air Carbon พลาสติกที่สร้างจากก๊าซเรือนกระจก
เป็นนวัตกรรมที่จับก๊าซเรือนกระจกมาทำเป็นพลาสติก เพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ถือเป็นการนำก๊าซเรือนกระจกมาใช้เป็นทรัพยากรได้อย่างคุณค่า โดย Mark Herrema จาก มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ต้องการนำคาร์บอนในอากาศมาใช้ผลิตเป็นพลาสติก จึงร่วมกับ Kenton Kimmel ก่อตั้ง Newlight Technologies ขึ้น และได้ค้นพบการทำพลาสติกรูปแบบใหม่ ด้วยการใช้ก๊าซมีเทนในการผลิต ซึ่งกระบวนการผลิตใช้ต้นทุนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าการผลิตแบบเดิมอีกด้วย
โดยขั้นตอนการผลิตเริ่มต้นที่กระบวนการดักจับการปล่อยก๊าซมีเทน จากฟาร์มโคนม โรงบำบัดน้ำเสีย หลุมฝังกลบ หลังจากนั้นจะใช้เครื่องปฏิกรณ์ในการหลอมก๊าซและอากาศเพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นโพลิเมอร์เหลว (Liquid Polymer) หลังจากนั้นก็นำโพลิเมอร์เหลวมาสร้างเป็นเม็ดพลาสติกที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ไบโอชาร์เพื่อการฟื้นฟูดิน
ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) คือวัสดุที่อุดมด้วยคาร์บอน ผลิตจากชีวมวล (Biomass) คือ วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เหง้ามันสาปะหลัง ฟางข้าว ซังข้าวโพด กิ่งไม้ซึ่งผลิตจากไม้และชีวมวลอื่น ๆ ที่อุณหภูมิสูงโดยไม่ใช้ออกซิเจน
ถือเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอน โดยนำคาร์บอนออกจากบรรยากาศด้วยการกักเก็บให้อยู่ในรูปของแข็ง เมื่อผสมไบโอชาร์ลงในดินจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ทางการเกษตรที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมถึงเป็นตลาดสำหรับขายเครดิตคาร์บอนของไบโอชาร์ให้กับบริษัทต่าง ๆ เพราะมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชจึงได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มความต้านทานของพืชต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในพืชหลายชนิด
Solar Glass เปลี่ยนกระจกธรรมดาให้กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ได้
ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนอย่างโซล่าร์เซลล์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดค่าไฟและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Hasan Baig ผู้ก่อตั้งบริษัท Build Solar จึงเล็งเห็นถึงประโยชน์จากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเขามองว่า นอกจากจะแสงแดดจะส่องไปบนหลังคาเเล้ว ยังตกกระทบที่ผนังตัวอาคารด้วย เขาจึงคิดว่าถ้านำพลังงานฟรีนี้มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด น่าจะดีไม่น้อย
บริษัทจึงได้คิดค้นและพัฒนาบล็อกแก้วอเนกประสงค์สำหรับการใช้งานในการก่อนสร้างอาคารขึ้นมา โดยมันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ 3 อย่างคือ ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างในช่วงกลางวัน และเป็นฉนวนกันความร้อน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยสำหรับวงการก่อสร้าง
โดยแก้วใส ๆ นี้ บรรจุตัวโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กไว้ภายในถึง 13 ตัว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและนำไฟฟ้าออกไปใช้นอกตัวอาคารได้ หรือนำไปใช้ในการชาร์จไฟแก่รถยนต์ระบบไฟฟ้าที่จอดอยู่นอกตัวอาคาร หรืออาจจะนำกระเเสไฟฟ้าไปจัดเก็บไว้ ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Building Integrated Photovoltaics ที่ใช้สายในแก้วช่วยในการรวบรวมแสงอาทิตย์ให้ตกกระทบไปทั่วโซล่าร์เซลล์ เพื่อทำให้มันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุดจากโซล่าร์เซลล์ในแต่ละตัว จึงถือว่าเป็นอีกนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย
Cr.ภาพ ASU
Metallic Trees ต้นไม้โลหะดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า
ศาสตราจารย์ Klaus Lackner จาก มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ได้ทำการวิจัยด้านการรวบรวมคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการใช้เทคนิคที่ใช้พลังงานต่ำและราคาที่ถูกด้วย โดยสร้างเป็นต้นไม้โลหะ (Metallic Trees) ช่วยในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ซึ่งมีการระบุว่า ต้นไม้โลหะนี้ สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ตามธรรมชาติถึง 1,000 เท่า ซึ่งต้นไม้โลหะจำนวน 12 ต้น จะดูดซับปริมาณคาร์บอนได้มากถึง 1,000 กิโลกรัมต่อวัน
Cr. ภาพ carboncollect.com / MechanicalTrees https://mechanicaltrees.com
ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำมาใช้เพื่อดูดซับคาร์บอนแทนการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้พื้นที่มหาศาล เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตหรือขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้นไม้โลหะนี้ ยังอยู่ในขั้นทดสอบ ก่อนจะปล่อยต้นไม้เหล่านี้ออกสู่สาธารณะได้ ในระยะยาวพวกเขากำลังพยายามที่จะเปลี่ยนคาร์บอนที่ดักจับได้ให้กลายเป็นของแข็งผ่านการทำปฏิกิริยาต่อแคลเซียม ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป
Green Steel เทคโนโลยีการผลิตเหล็กสู่ยุค Net Zero
อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล็กจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 7% ของปริมาณการปล่อยทั่วโลก เนื่องจากการผลิตเหล็กต้องใช้ไฟอุณหภูมิที่สูง จึงต้องเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก
แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตเหล็กล่าสุด ของสวีเดนชื่อ HYBRIT Development AB (HYBRIT: Hydrogen Breakthrough Ironmaking Technology) มีชื่อว่า Green Steel หรือ เหล็กกล้าไร้ฟอสซิล เป็นเหล็กที่ไม่ใช้ถ่านหินหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต
แต่เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนในการผลิต ด้วยวิธีการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) กำจัดออกซิเจนออกจากแร่เหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการนี้คือ แร่เหล็กที่ถูกรีดิวซ์เหล็กออกไซด์ต่าง ๆ ออก กลายเป็นผลิตภัณฑ์แข็งที่มีรูพรุนของเหล็กโลหะบริสุทธิ์ เรียกว่าเหล็กฟองน้ำ (Sponge Iron)
จากนั้นเหล็กฟองน้ำจะถูกส่งต่อมาหลอมในเตาหลอม EAF พร้อมทั้งใช้สารเติมแต่งประเภทที่ไม่ใช่ฟอสซิล (Non-fossil Additives) ทดแทนสารเติมแต่งประเภทคาร์บอนฟอสซิลแบบเดิม และยังใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่ากระบวนการดั้งเดิม อีกทั้งระหว่างกระบวนการเมื่อไฮโดรเจนทำปฏิกิริยากับเหล็กออกไซด์จะเกิดน้ำขึ้นแทนการเกิดก๊าซ CO2 เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบดั้งเดิม และน้ำที่เกิดขึ้นสามารถนำวนกลับไปใช้ซ้ำในกระบวนการ Electrolysis
ส่วนไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนและในเตาหลอม EAF จะผลิตมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน (Fossil-free Electricity) แทนที่การผลิตแบบเดิมที่ก่อให้เกิดก๊าซ CO2 ปริมาณมาก ซึ่งสามารถลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศลงได้ถึง 10%
เปลี่ยนลิฟต์ให้กลายเป็นแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน
ปัจจุบันมีการโดยสารลิฟต์มากกว่า 7 พันล้านเที่ยวต่อวันทั่วโลก และการลดการใช้พลังงานลง 70% จะส่งผลทันทีในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน ซึ่งจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการขนส่งแนวตั้งด้วย
ทั้งนี้ ความสูงของอาคารที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการการขนส่งในแนวตั้งสูงขึ้นและการใช้ลิฟต์เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวเลขการใช้พลังงานของลิฟต์อาจสูงมาก คิดเป็น 2% ถึง 40% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดของอาคาร
โดย “เบรกสร้างพลังงาน” เป็นหลักการเดียวกับรถไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริด ลองติดตั้งเบรกเหล่านี้กับสิ่งอื่น ๆ ที่หยุดบ่อย ๆ เช่น ลิฟต์ เทคโนโลยีลิฟต์รุ่นใหม่ผสานไดรฟ์ที่สร้างพลังงานใหม่ ซึ่งจะผลิตพลังงานขณะเคลื่อนตัวขึ้นและลงในช่องลิฟต์ พลังงานที่สร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ร่วมกับส่วนอื่นในอาคาร หรือนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับการทำงานของลิฟต์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลิฟต์มีน้ำหนักมากตามข้อมูลของ Propmodo ไดรฟ์ที่สร้างพลังงานใหม่สามารถกู้คืนพลังงานที่ใช้ทั้งหมดของลิฟต์ได้ถึง 30% อย่างเช่น ตึกเอ็มไพร์สเตท ในนิวยอร์กซิตี้ เป็นตัวอย่างแรกของเทคโนโลยีนี้ โดยเขาระบุว่าเป็น "ระบบจัดการแบตเตอรี่ไร้สายที่ใหญ่ที่สุดในโลก"
Cr. Skeleton ElevatorKERS
ปัจจุบัน มีการพัฒนาการกักเก็บพลังงานในการเบรกไว้ในซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ และนำกลับมาใช้ใหม่โดยแทบจะไม่สูญเสียพลังงานดังกล่าวในลิฟต์เลย ซึ่งประหยัดการใช้พลังงานของลิฟต์ได้มากถึง 70% เลยทีเดียว
การลดและการนำขยะอาหารกลับมาใช้ใหม่
ขยะอาหารที่ถูกทิ้งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคิดเป็น 8-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบินและการขนส่งสินค้าทางเรือรวมกัน
จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรกับอาหารจำนวนมากที่เหลือจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า และครัวเรือนที่ยังรับประทานได้ แต่กลับต้องกลายเป็นขยะ เกินกว่า 60% ของขยะอาหารเกิดขึ้นที่ระดับครัวเรือน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นว่า ขยะที่เกิดขึ้นในประเทศมากกว่า 60% นั้นมาจากอาหาร
แนวทางการใช้ AI เพื่อลดขยะอาหาร
มีหลายบริษัทที่นำ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งพัฒนาโซลูชัน เพื่อลดปริมาณขยะอาหารในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่
Cr.ภาพ Winnow
1. Winnow ใช้ AI เพื่อตรวจสอบและรายงานขยะอาหารในร้าน
Winnow พัฒนาระบบ AI ที่สามารถตรวจสอบขยะอาหารในร้านอาหาร โดยจะแสดงข้อมูลเชิงลึกและรายงานเกี่ยวกับรูปแบบของขยะอาหาร ซึ่งสามารถช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดหาวัตถุดิบการเตรียมอาหาร และการวางแผนเมนู
เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ครัวในร้านอาหารเข้าใจถึงประเภทของอาหารที่เหลือทิ้งและเหตุผลที่ทำให้เกิดการขยะอาหารเหล่านั้น เมื่อข้อมูลที่ได้รับมีความชัดเจนก็สามารถนำมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปริมาณขยะอาหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก ผลลัพธ์คือ Winnow ประหยัดอาหารได้ถึง 50 ล้านมื้อ และป้องกันการปล่อย CO2e ได้ถึง 87,000 ตันต่อปี
2. Afresh ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลการขายและคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภค
Afresh เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในการวิเคราะห์ข้อมูลการขาย แนวโน้มตามฤดูกาล และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อทำนายความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสั่งซื้อที่มากเกินไป และลดการสูญเสียอาหาร
ความแม่นยำที่มากขึ้น ช่วยให้การหมุนเวียนสินค้าคงคลังเร็วขึ้น ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าในชั้นวางมีความสดใหม่และลดการสั่งซื้อเกินความจำเป็นในทุก ๆ สาขาของร้านค้า โดยพิสูจน์แล้วว่า การประยุกต์ใช้ AI ของ Afresh นั้นสามารถเพิ่มอัตราการหมุนเวียนสินค้าคงคลังได้เร็วขึ้นถึง 7% ซึ่งจะช่วยลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งอย่างมาก
3. Wasteless ใช้ AI ช่วยกำหนดราคาอาหารเน่าเสียง่าย ใกล้หมดอายุในซูเปอร์มาร์เก็ต
Wasteless ใช้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ช่วยแก้ปัญหาขยะอาหาร ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต ว่าชิ้นไหนที่เน่าเสียง่าย ใกล้หมดอายุ หรืออยู่บนชั้นวางในร้านนานเกินไป ระบบจะปรับราคาขายอาหารให้เหมาะสมที่สุด (Optimal Price) โดยอัตโนมัติ ตามระยะเวลาถึงวันหมดอายุ แทนการกำหนดราคาแบบตายตัว เพื่อกระตุ้นการขายก่อนที่สินค้าจะเน่าเสีย
Cr.ภาพ Wasteless
ระบบนี้ช่วยลดขยะอาหารในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตได้อย่างน้อย 40% และกำลังพัฒนาให้เป็น 80% ด้วยการปรับแต่งเทคโนโลยีให้ดีขึ้น
สุดท้ายในกรณีที่หลีกเลี่ยงขยะอาหารไม่ได้ทั้งหมด เครื่องทำปุ๋ยขนาดกะทัดรัดจาก Maeko บริษัทสตาร์ทอัพในมาเลเซีย จะแปลงเศษอาหารให้เป็นอาหารพืชได้ภายใน 24 ชั่วโมง จึงไม่จำเป็นต้องนำไปทิ้งในสถานที่ฝังกลบ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ โดยเครื่องทำปุ๋ยนี้มีทั้งขนาดเชิงพาณิชย์และขนาดที่ใช้ภายในบ้าน ช่วยให้ธุรกิจ โรงเรียน และโรงพยาบาล ตลอดจนครัวเรือนมีส่วนร่วมในระบบอาหารที่ยั่งยืนและหมุนเวียนมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ทุกประเทศและทุกภาคส่วนต่างร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ซึ่ง Climate Tech จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดการณ์ว่า Climate Tech อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 60% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด ซึ่ง Climate Tech ยังเป็นภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต
นอกจากนี้ Statista ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลสถิติหลายประเด็นทั่วโลก คาดการณ์ว่า โดยในปี 2566 ตลาด Climate Tech ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้ในปี 2576 อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24.5% ต่อปี Climate Tech จึงอาจเป็นเครื่องมือที่มาช่วยลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
โฆษณา