5 ธ.ค. เวลา 14:59 • ความคิดเห็น

โลกแห่ง AI นี้ยิ่งไม่ได้มีคำตอบเดียว

เมื่อวานเย็น ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนระดับตำนานและพี่ชายที่คุ้นเคยที่หลักสูตร aloha แบบรุมสามต่อหนึ่ง โดยมีน้องก้า อรินธรและน้องมิ้นแห่ง SF ช่วยกันถาม พี่ตุ้มนั้นมีลิ้นชักข้อมูลเยอะมากเพราะเป็นตั้งแต่นักข่าว นักเขียนและนักสัมภาษณ์มาอย่างยาวนาน
1
เราชวนพี่ตุ้มคุยตั้งแต่จุดแข็งของนายกรัฐมนตรีแต่ละคน จนถึงท่าไม้ตายของนักธุรกิจมหาเศรษฐีระดับตำนาน ท่าไม้ตายของคุณธนินท์ที่มีโมเดลธุรกิจแบบทำครบวงจรที่ต่างจากคุณอนันต์ อัศวโภคินที่เชื่อเรื่องการ outsource ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ท่าไม้ตายของคุณเจริญที่ชอบซื้อกิจการ ท่าไม้ตายของอดีตนายกทักษิณตอนทำธุรกิจที่ใช้ยุทธวิธีใหญ่กลบเล็ก
และท่าไม้ตายของคุณตันที่ลงรายละเอียดหน้างานแบบขั้นสุด ต่างคนในมุมของพี่ตุ้มก็มีสูตรสำเร็จต่างกัน ซึ่งเป็นบทสรุปที่เคยเป็นชื่อหนังสือพี่ตุ้มว่า โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว นั่นเอง
1
พี่ตุ้มเขียนเปิดในหนังสือเล่มนั้นว่า…
เราชอบคิดว่า "ชีวิต" เหมือนกับ "ข้อสอบ" ทุก "คำถาม" ต้องมี "คำตอบ" ที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว ผิดจากนี้ไม่ได้ แต่ "ชีวิต" ไม่ใช่ "ข้อสอบ" ที่ครูกำหนดเราตั้งโจทย์เอง และตอบเอง "คำตอบ" ของเราจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น เพราะไม่มีชีวิตของใครเหมือนกับเรา เราคือเราและเรารู้จักตัวเรามากที่สุด ทุกคนล้วนมี "คำตอบ" ที่เหมาะสมของตัวเอง
2
ผมเพิ่งได้ฟังบทสนทนาระหว่างอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชแห่ง TDRI ต้นสน สันติธาร เสถียรไทยและเคน นครินทร์ ในเรื่องมนุษย์ 4 สายพันธุ์ในโลกยุค AI เป็นบทสนทนาที่มีคุณค่ามากสำหรับการวิเคราะห์ว่าโลกยุค AI นั้นจะมีผลต่อคนทำงานอย่างเราอย่างไร และสังคมไทยต้องปรับแนวคิดกับโลกใหม่นี้แบบไหน โมเดลการทำงานยุคต่อไปจะต้องเป็นการผสมการทำงานระหว่างคนกับ AI คนก็ต้องปรับตัวให้ทัน
และใช้มุมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เก่งๆประยุกต์เข้ากับความสามารถของ AI ถึงจะเป็นมนุษย์เกรด A ได้จะเด่นกว่ามนุษย์ที่ใช้ AI พอเป็น คนเก่งที่ใช้ AI ไม่เป็น และคนปานกลางทั่วไปที่จะอยู่รอดในยุคสมัยหน้าได้ยากมาก และคำตอบที่จะได้ก็จะไม่มีคำตอบเดียวอย่างแน่นอน
1
อาจารย์สมเกียรติเล่าถึงการปรับตัวด้านการศึกษาสำหรับเด็กไทยไว้ว่า เด็กยุคใหม่จะต้องมีการคิดแบบยืดหยุ่น และต้องไม่เชื่อว่าทุกอย่างมีคำตอบเดียวอีกต่อไป อาจารย์เล่าว่าเคยไปบรรยายให้ครูฟัง อาจารย์ถามครูสอนศิลปะว่าถ้าให้เด็กไทยวาดภาพอะไรก็ได้จะวาดอะไร ครูตอบเหมือนกันหมดว่าเด็กไทยจะวาดภูเขาสองลูก มีพระอาทิตย์อยู่ตรงกลาง มีบ้านหนึ่งหลัง ต้นไม้หนึ่งต้น เหมือนกันไปหมด ในขณะที่ AI สร้างภาพได้เป็นแสนเป็นล้านภาพ ถ้าเด็กไทยยังยึดอยู่กับคำตอบเดียวก็จะไม่มีทางไปรอดได้
1
อาจารย์แนะว่า คำตอบนั้นต้องขึ้นกับบริบทนั้นๆมากกว่า เราถึงจะเข้าใจการประยุกต์ใช้ AI ได้ อาจารย์เล่าแบบขำๆไว้ถึงข้อสอบ ONET เมื่อไม่กี่ปีก่อนว่าถ้าเกิดความรู้สึกทางเพศจะต้องทำอย่างไร คำตอบที่ได้คะแนนก็คือต้องไปเตะฟุตบอล ไม่ว่าตีสองตีสาม เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ต้องไปเตะฟุตบอล เป็นวิธีคิดแบบคำตอบเดียว เป็นระบบการศึกษาที่ตกยุคในสมัยแห่ง AI นี้อย่างแน่นอน
1
แล้วถ้าความคิดสร้างสรรค์คือหัวใจสำคัญในฝั่งของมนุษย์ที่จะทำงานร่วมกับ AI ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีคำตอบเดียว มีทางเดียวหรือไม่ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความคิดสร้างสรรค์ในระดับปรมาจารย์ด้านเพลง งานบันเทิง งานเขียนและความคิดในแง่มุมต่างๆ ยังเคยเล่าถึงความพยายามที่จะคิดต้นทางแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในตอนนั้นพี่จิกยังคิดได้ถึงเจ็ดทาง ซึ่งถ้าไปถามนักคิดคนอื่นๆก็คงมีมากกว่านั้นอีก
พี่จิกเรียกเจ็ดทางนั้นว่า เจ็ดวิธีตีหิน ซึ่งมีตั้งแต่ การทำลายกรอบลวงตาของตัวเอง การคิดแบบย้อนศร คิดแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง คิดจากเรื่องเล็กๆ รอบตัว คิดแนวจับคู่ผสมพันธุ์ คิดแบบสมมตินะสมมติ และถ้าคิดอะไรไม่ออกให้ขีดไปก่อนเขียนไปก่อน เป็นวิธีที่พี่จิกสังเกตผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและใช้วิธีเหล่านี้เพื่อสร้างงาน ซึ่งก็ไม่ได้มีวิธีเดียว และเจ็ดวิธีของพี่จิกก็ไม่ใช่เป็นแค่เจ็ดวิธีในโลกอีกเช่นกัน
จากบทสนทนาของทั้งสามท่าน การเรียนรู้การใช้งานของ AI นั้นน่าจะเป็นท่ามาตรฐานในยุคต่อไปที่ใครไม่รู้ ต่อให้ฉลาดและเก่งแค่ไหนก็จะลำบาก แต่การเรียนรู้การใช้งาน AI ก็อาจจะไม่สามารถพาเราออกจากกลุ่มปานกลางในหมู่ที่คนส่วนใหญ่ก็รู้และเข้าใจการใช้งานได้ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเราจึงจำเป็นที่ต้องทำไปควบคู่กับการเรียน AI การเริ่มสังเกตวิธีคิดของนักคิดอย่างพี่จิก และลองผิดลองถูกอย่างที่อาจารย์สมเกียรติว่าไว้จึงเป็นบทเรียนบทที่สองของการพัฒนาตัวเองในยุคที่จะถึงนี้
โดยบทเรียนบทแรกที่ต้องทำให้ได้ก็คือ ความเข้าใจให้ได้อย่างถ่องแท้ว่า โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียวอีกต่อไป นั่นเองครับ…
โฆษณา