6 ธ.ค. 2024 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

ทำไม? ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก ยอล จึงล้มเหลวจนอาจกลายเป็น "กบฏ"

อนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก ยอล (Yoon Suk Yeol) ตกอยู่ในภาวะวิกฤตหลังจากความพยายามประกาศกฎอัยการศึกล้มเหลว
2
หนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบทางการเมืองของเขาให้ตกต่ำลง คือคนใกล้ตัว คิม คึน ฮี (Kim Keon Hee) ภริยาของยุน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง กับกระเป๋าถือ Dior ซึ่งทำให้ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ต้องเผชิญปัญหาทางการเมือง เมื่อมีวิดีโอที่แอบถ่ายไว้ เผยแพร่ทางออนไลน์ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยอ้างว่าเป็นภาพที่คิมได้รับกระเป๋า Lady Dior Pouch สีฟ้าเหมือนเมฆจากบาทหลวงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ชเว แจ-ยอง
.
คิม คึน ฮี ถูกกล่าวหาว่ารับกระเป๋าคริสเตียน ดิออร์ มูลค่า 2,200 เหรียญสหรัฐเป็นของขวัญ ละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตของเกาหลีใต้ ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่สาธารณะและคู่สมรสของเจ้าหน้าที่รับของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 750 เหรียญสหรัฐในการปฏิบัติหน้าที่สาธารณะ และเมื่อเดือนที่แล้วเธอก็พ้นข้อกล่าวหาเรื่องการรับของขวัญอย่างไม่เหมาะสม
กระเป๋า Lady Dior บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Christian Dior กระเป๋าใบนี้เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมืองในเกาหลีใต้
ตามคำบอกเล่าของบาทหลวงชเว แจ-ยอง ระบุว่า เขาใช้กล้องลับที่ซ่อนอยู่ในนาฬิกาข้อมือของเขาบันทึกการพูดคุยกับสตรีหมายเลขหนึ่ง และยอมรับว่าได้รับอุปกรณ์เหล่านี้จาก Voice of Seoul ซึ่งเป็นช่อง YouTube ฝ่ายซ้ายที่รู้จักกันว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของยุนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือ คิม คึน ฮี ได้รับกระเป๋านั้นไว้
ประธานาธิบดียุน อ้างว่าวิดีโอดังกล่าวเป็น "การแสดงตลกทางการเมือง" ที่มุ่งหวังจะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งฝ่ายค้านชนะอย่างถล่มทลาย
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก ยอล และภริยา คิม คึน ฮี เข้าร่วมงานวันขบวนการเอกราชที่กรุงโซล เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2023
ทั้งคู่แต่งงานกันตั้งแต่ประธานาธิบดียุน ยังเป็นอัยการ และทั้งคู่ไม่มีลูกด้วยกัน คิมเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ ไม่มีภาพลักษณ์แบบผู้หญิงเกาหลีทั่วไปที่เก็บตัวเงียบภายใต้เงาของสามี คิมมีแฟนคลับของตัวเองและชอบเป็นจุดสนใจ กล้าแสดงออกทั้งทางกายภาพและความคิด เธอมักจะสวมชุดจากแบรนด์ในประเทศ แสดงฐานะนักส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีตัวยง
.
คิม คึน ฮี เผชิญปัญหาขัดแย้งมากมายนับตั้งแต่สามีของเธอเข้าร่วมการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเธอเป็น "จุดอ่อน" ของประธานาธิบดียุน เนื่องจากเธอมักถูกยกมาเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์เสมอ
สังคมเกาหลีใต้มีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างอ่อนไหวมากที่สุดเมื่อบุคคลสาธารณะหรือคนใกล้ชิดใช้พลังอำนาจและสิทธิพิเศษโดยมิชอบโดยอาศัยสถานะทางการเมืองและสังคมของพวกเขา
คิม ยุนชอล ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยคยองฮีกล่าว
ชุน อิน บุม (Chun In-bum) อดีตพลโทแห่งกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและเป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษเกาหลี ได้เผยแพร่บทความใน The Korea Times เมื่อ 4 ตุลาคม 2567;
ระบุว่า มีการคาดเดาว่ารัฐบาลของยุน ซอก ยอล อาจกำลังสร้างสถานการณ์เพื่อประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างถึงการแต่งตั้งบุคคลสำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหาร และผู้นำทางทหารคนอื่นๆ ที่มีเครือข่ายศิษย์เก่าจากสถานศึกษาเดียวกันกับประธานาธิบดียุน
กฎอัยการศึกในเกาหลีใต้หมายถึงกรอบทางกฎหมายที่อำนาจการบริหารและตุลาการของรัฐถูกโอนไปยังผู้บัญชาการทหาร ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ประธานาธิบดีมีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ในสถานการณ์สงคราม การสู้รบ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติอื่นๆ
กฎอัยการศึกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. กฎอัยการศึกฉุกเฉิน ให้อำนาจแก่รัฐบาลอย่างกว้างขวาง เช่น การระงับระบบการออกหมายจับ การจำกัดเสรีภาพของสื่อ การจำกัดสิทธิในการเผยแพร่ และการจำกัดการชุมนุมและการสมาคม ตลอดจนการยกเลิกอำนาจของศาลพลเรือนและหน่วยงานของรัฐ เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก ประธานาธิบดีจะต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบในทันที หากรัฐสภาเรียกร้องให้ยุติ "กฎอัยการศึก" โดยมติเสียงข้างมาก ประธานาธิบดีจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
2. กฎอัยการศึกเพื่อความมั่นคง เมื่อมีสถานการณ์พิเศษที่ระบอบทหารสามารถเข้าควบคุมได้ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดการรัฐประหารที่ทำลายความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ
.
หลายเดือนก่อนการตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดียุน ได้เกิดทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการคาดการณ์ว่าประธานาธิบดียุน จะประกาศกฎอัยการศึก สะท้อนถึงความวิตกกังวลในวงกว้างของประเทศที่มีการแบ่งแยกทางการเมือง ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต่างก็ถกเถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายระดับชาติ การปกครอง และการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากภายนอก โดยเฉพาะจากเกาหลีเหนือ
ตำรวจต่อสู้กับผู้คนที่พยายามจะเข้าไปในรัฐสภาหน้าประตูหลักของรัฐสภาในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 [Jung Yeon-Je/AFP]
คาดว่ากระแสข่าวลือการประกาศกฎอัยการศึกนั้น ทำให้สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ได้เตรียมแผนตั้งรับไว้แล้ว โดยนายลี แจ-มยอง ประธานพรรคฝ่ายค้าน (DPK) ได้เสนอในระหว่างการประชุมกับผู้นำพรรครัฐบาล (PPP) เมื่อปลายเดือนกันยายน โดยเขาได้เสนอแนะว่ารัฐบาลของนายยุนอาจกำลังวางแผนจับกุมสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน โดยระบุว่ากฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบให้ยกเลิกกฎดังกล่าวเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญ
.
ความยากลำบากในการรักษาตำแหน่งของประธานาธิบดียุนนั้น นอกจากปัญหาส่วนตัวที่ทำให้ความนิยมตกต่ำอย่างมากแล้ว การที่ครองเสียงข้างน้อยในสภาทำให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก
.
นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตแสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีใต้ระมัดระวังและพร้อมที่จะระดมพลเพื่อปกป้องสิทธิประชาธิปไตยของตน การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแสดงให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่าประชาชนส่วนใหญ่ชอบประชาธิปไตยมากกว่าการปกครองแบบเผด็จการ และกองทัพเองก็ได้ผ่านการปฏิรูปครั้งสำคัญมาแล้วตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ทำให้กองทัพมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำทางการเมืองน้อยลง
ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงชาวเกาหลีใต้มีความอดทนต่ำต่อการทุจริตคอร์รัปชัน หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวที่โด่งดังซึ่งเกี่ยวพันกับอดีตประธานาธิบดี นางปาร์ค กึนเฮ ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในปี 2017 จนเกิดการประท้วงจุดเทียนในปี 2016-2017 ซึ่งประธานาธิบดียุน ก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมสอบสวนพิเศษที่ฟ้องนางปาร์ค และได้เคยให้คำมั่นว่าจะต่อสู้กับการทุจริตต่อไปในฐานะประธานาธิบดี
ประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ประกาศยกเลิกกฤษฎีกากฎอัยการศึก ณ สำนักงานประธานาธิบดีในกรุงโซล เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 ธันวาคม 2024 ในภาพถ่ายนี้ที่ถ่ายจาก Yonhap News TV
อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกรัฐสภา 190 คนจากทั้งหมด 300 ที่นั่ง ลงมติไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ประธานรัฐสภา วอน ชิก วู ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมาก ประกาศ “ยกเลิกกฎอัยการศึก” ในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา เป็นการสิ้นสุดกฎอัยการศึก ‘ระยะสั้น’ ของประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ทันที
.
สำนักงานประธานาธิบดีที่ยงซาน
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้และเลขานุการอาวุโสของประธานาธิบดีมากกว่า 10 คนได้ยื่นหนังสือลาออกแล้ว ตามรายงานของสำนักงานประธานาธิบดี
มีรายงานการยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ต่อที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติในกรุงโซลเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2024 (Yonhap)
ประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ยังไม่ลาออก แม้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปไตย (DPK) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักและพรรคฝ่ายค้านเล็กอีก 5 พรรคได้ยื่นญัตติถอดถอนเขา โดยให้เหตุผลว่าการประกาศกฎอัยการศึกของยุนถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ซึ่งตามกฎหมาย มติถอดถอนจะต้องได้รับการลงมติภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีการรายงาน
.
และตำรวจจะเริ่มการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล "ก่อกบฏ" ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในสัปดาห์นี้
โฆษณา