6 ธ.ค. เวลา 05:13 • ธุรกิจ

เผยกลยุทธ์สับขาหลอก จากวงการ "แอปกู้เงิน"

โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนทุกวันนี้นอกจากสัญญาณอินเตอร์เนตจะย่อโลกให้อยู่บนหน้าจอแล้ว เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปเรื่อยๆนี้ยังทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในปัจจุบันต้องพึ่งพาแอพพลิเคชั่นมากมายช่วยจัดการ
เรากำลังจะพูดถึงแอปกู้เงิน ที่สามารถค้นหาใน Play Store หรือ App Store ได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการมากกว่า 30 ราย โดยส่วนใหญ่สินเชื่อบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ถูกรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ธุรกิจเงินกู้มีผู้ประกอบการหลายรายกระโดดเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดอย่างดุเดือดบนแพลตฟอร์ม หันไปซื้อเวลาบนโซเชียลมีเดียและ Google Play ยิงโฆษณาถี่ๆทำให้แอปเงินกู้หลายตัวเริ่มเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น
แอปกู้เงินมีจุดเริ่มต้นมาจากแก๊งเงินกู้นอกระบบที่ปล่อยกู้ดอกโหดร้อยละ 20 ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด จ้างนักเลงมาทวงหนี้กลายเป็นแก๊งหมวกกันน็อค พฤติกรรมความรุนแรงทำร้ายร่างกายลูกหนี้หนักข้อขึ้นตำรวจจึงออกไล่ล่าปราบปราม ก่อนมีคนหัวใสใช้วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสร้างเป็นแอพพลิเคชั่นพัฒนาระบบการกู้เงิน ขยายกลุ่มเป้าหมายจากแค่เดินตลาดให้เข้าถึงคนที่มีสมาร์ทโฟน
ตำรวจเคยสืบค้นเส้นทางการเงินพบว่าแอปกู้เงินบางรายมีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับเว็บพนันออนไลน์ผ่านการโอนเงินจากบัญชีม้า
ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง หลายคนถามว่าแอปกู้เงินได้จริงหรือไม่ มีเงื่อนไขการยื่นกู้อย่างไร คิดดอกเบี้ยเท่าไร และควรกู้เงินผ่านแอปหรือเปล่า
เราจะพาไปรู้ตื้นลึกหนาบาง “แอปกู้เงิน” สัญชาติไทยที่เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ขณะนี้
#ขั้นตอนการเริ่มต้นใช้งาน
เลือกแอปกู้เงินจากยี่ห้อที่มีจำนวนยอดการดาวน์โหลดสูง อ่านรีวิวว่ามีฟีดแบ็คอย่างไร เพราะบางแอปตั้งเงื่อนไขอาชีพ เรื่องรายได้ต่อเดือน ผู้ค้ำประกัน ฯลฯ บางแอปให้เข้าไปลงทะเบียนในฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย บางเจ้าก็ต้องโหลดใบเสร็จการจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ให้ทางผู้ให้บริการพิจารณาด้วย
เฉพาะกรอกข้อมูลกู้เงินออนไลน์กว่าจะยืนยันตัวตนเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาพอสมควร
#อ้าวเฮ้ยไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า
ขั้นตอนที่ทุกคนรอคอยคือการระบุจำนวนเงินที่ต้องการกู้ และระยะเวลาที่ต้องชำระคืน โดยแอปกู้เงินส่วนมากจะยกตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ยรายปีทีครอบคลุมคือ 16%
หากนาย A ต้องการสินเชื่อบุคคล 5,000 บาท ใช้เวลาผ่อน 4 เดือน ยอดเงินที่ต้องชำระคือ 5,263 บาท
หรือสินเชื่อ 10,000 บาท ผ่อนจ่ายภายใน 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 18% รวม จำนวนเงินที่ต้องชำระคืนทั้งหมดคือ 10,600 บาท
แต่อย่างที่รู้กันว่า วงการปล่อยเงินกู้นอกระบบไม่เคยมีใครพูดความจริง ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของแอปกู้เงินเกือบทุกรายจะกำหนดการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่ไม่เคยยื่นสมัครสินเชื่ออยู่ที่ 3,500 บาท
สินเชื่อบุคคล 3,500 บาท ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจริง 2,100 บาท หักค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการ1,400 บาท โดยต้องชำระคืนภายในระยะเวลา 7 วัน
เมื่อต้องการใช้เงิน 5,000 บาท แต่ได้แค่ 2,100 บาท คำถามคือจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ?
ดังนั้นหากต้องการใช้เงิน 5,000 บาท ผู้ยื่นขอกู้จะต้องกดกู้เพิ่มสินเชื่อ 3,500 บาท อีก 2 รายการ รวมแล้ว จะมียอดเงินกู้ 10,500 บาท ได้รับจริง 6,300 บาท ถูกหักค่าดำเนินการไป 4,200 บาท แล้วต้องชำระคืน 10,500 บาท ภายในเวลา 7 วัน
นั่นหมายความว่า แอปเงินกู้เหล่านี้คิดดอกเบี้ยโคตรโหดร้อยละ 25 ต่อ 1 สัปดาห์
แล้วที่ผู้ให้บริการโฆษณาว่าสินเชื่อบุคคลตั้งแต่ 5,000 -50,000 บาท เลือกผ่อนชำระได้หลายเดือน คืออะไร ?
ในความหมายของผู้ให้บริการคือ ผู้ยื่นขอสินเชื่อชำระเงินตรงเวลาจะทำให้เครดิตการกู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้เงิน 10,000 บาท ยอดกู้จริงก็คงเกิน 15,000 บาทแน่นอน
#บริษัทส่งออกผลไม้เป็นเจ้าของแอปกู้เงิน
จากการตรวจสอบแอปกู้เงินใน Play Store พบว่าผู้ให้บริการแอปกู้เงินรายหนึ่งมียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้ง คือ บริษัท สเตลล่าร์ ฮอไรซอน จำกัด ประกอบกิจการด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการพัฒนา และขายซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ด้วยทุน 1 ล้านบาท มี น.ส.ศิริวรรณ คำหรั่ง เป็นกรรมการ
หรือแอปกู้เงินรายหนึ่ง เพิ่งวางจำหน่ายบน Play Store เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 มียอดการดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 1 แสนครั้ง ผู้ให้บริการคือ บริษัท ซุปเปอร์ เฟรช อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ประกอบกิจการ  นำเข้า ส่งออกผักผลไม้ อาหารสำเร็จรูป เครื่องกระป๋อง จดทะเบีบนบริษัท 15 พฤศจิกายน 2547 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท นายสาโรจน์ อัศวพรชัย เป็นกรรมการ
ผลประกอบการของบริษัท ซุปเปอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2563 รายได้และกำไรลดลงทุกปี โดยปี 2566 มีรายได้รวม 69.4 ล้านบาท กำไร 7 แสนบาท
บริษัท ซุปเปอร์ฯ นำเข้าส่งออกผลไม้ แจ้งที่อยู่เป็นที่เดียวกับที่ทำงานของแอปกู้เงิน
แอปกู้เงินรายสุดท้ายที่จะยกตัวอย่างคือ แอปที่วางขายบน Play Store มา 2 ปีแล้วโดยอ้างว่าผูกธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารพาณิชย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ผู้ให้บริการคือ บริษัท ลัสทรัส เพิร์ล จำกัด ประกอบธุรกิจการวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีอื่นๆ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วยทุน 1 ล้านบาท กรรมการ 1 คนคือ น.ส.ฐิตานันท์ จงสกุล ผลประกอบการปี 2566 ขาดทุน 2.8 แสนบาท
#เปิดตัวแอปกู้เงินน้องใหม่ไทยาง
“สินเชื่อด่วนไทยาง” แอปกู้เงินที่เพิ่งวางจำหน่ายบน Play Store ล่าสุดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มียอดการดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 5,000 ครั้ง คะแนนรีวิวสูงถึง 4.7 ถือว่าเป็นรายใหม่มาแรงที่เข้ามาเล่นในธุรกิจเงินกู้ สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งแข่งกันบนแพลตฟอร์มอย่างดุเดือด
แอปกู้เงิน “สินเชื่อด่วนไทยาง” มีความน่าสนใจคือระบุผู้ให้บริการชื่อว่า smartpolice.id
โฆษณา