6 ธ.ค. เวลา 14:31 • การศึกษา

การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาควรเริ่มจาก ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem)

ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อว่า Butterfly Effect เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ระทึกขวัญที่มีเนื้อหาลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบที่การตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ อาจมีผลต่อชีวิตในอนาคต เรื่องนี้เป็นที่จดจำเพราะนำเสนอแนวคิดของ ทฤษฎีผีเสื้อ (Butterfly Effect) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) ที่กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระบบที่ซับซ้อนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ "การกระพือปีกของผีเสื้อในที่หนึ่งอาจนำไปสู่พายุในอีกซีกโลกหนึ่ง"
"การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระบบที่ซับซ้อนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้" นี่คือข้อคิดประจำใจของผู้เขียนในปัจจุบันซึ่งได้รับอิทธิพลมากจากภาพยนต์เรื่องนี้ นอกจากเหนือจากแรงบัลดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยฐานะของความเป็นครูแล้ว มันยังสอดคล้องกับ ตัวแปรสำคัญทางการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลมากจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตัวแปรดังกล่าวเรียกว่า "ระบบนิเวศทางการเรียนรู้" (Learning Ecosystem)
คำว่า ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) มีรากฐานมาจากแนวคิดทางนิเวศวิทยา ซึ่งหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตภายในสภาพแวดล้อมเดียวกัน โดยในบริบทของการเรียนรู้ ระบบนิเวศนี้ประกอบด้วยผู้เรียน ผู้สอน ทรัพยากรการเรียนรู้ เทคโนโลยี นโยบาย และปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างที่มักมีการพูดถึงระบบนิเวศทางการเรียนรู้ บ่อยครั้งคือกรณีศึกษา Keystone Species หรือที่เรียกกันว่า "หมาป่าในเยลโลว์สโตน" เมื่อหมาป่าถูกนำกลับคืนสู่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในปี 1995 หลังจากที่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นี้เป็นเวลาหลายสิบปี พวกมันได้ช่วยฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนั้น
ไม่ว่าจะเป็น 1) หมาป่าล่ากวางเอลก์ ซึ่งทำให้จำนวนกวางลดลงและช่วยลดการทำลายพืชพรรณในพื้นที่ 2) ต้นไม้ เช่น ต้นป็อปลาร์และต้นหลิว เริ่มเติบโตอีกครั้ง เพราะกวางเอลก์ไม่มากินบริเวณใกล้แม่น้ำ 3) การฟื้นฟูพืชพรรณนำมาซึ่งการกลับมาของสัตว์ชนิดอื่น เช่น นกบีเวอร์ และแม้กระทั่งสัตว์นักล่าอื่น ๆ เช่น หมี และ 4) แนวแม่น้ำมีเสถียรมากขึ้น เนื่องจากพืชปกคลุมดิน ช่วยลดการกัดเซาะ
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเพียงแค่หมาป่ากลุ่มเดียว ก็สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนิเวศได้อย่างมหาศาล ในการฟื้นฟูระบบนิเวศ การมีองค์ประกอบสำคัญในระบบการเรียนรู้ เช่น ครูที่มีความสามารถ นโยบายที่มีคุณภาพ หรือ ทรัพยากรการศึกษาที่เข้าถึงได้ อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงบวกในทุกมิติของระบบ เช่น การเพิ่มคุณภาพการสอน การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาผู้เรียนในระยะยาว
ตัวอย่างการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและสอดคล้องกับแนวคิดของ ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) อย่างชัดเจน โดยเมืองที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกนี้ ได้ริเริ่มโครงการ ‘Whole City’ ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนทุกพื้นที่ในเมืองให้กลายเป็น "สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ขนาดมหึมา" โดยเปิดโอกาสให้การเรียนรู้ออกนอกกรอบห้องเรียนแบบดั้งเดิม
สถานที่ต่าง ๆ ในเมือง เช่น ห้องสมุด สวนสาธารณะ ป่า สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ถนน อาคารทางวัฒนธรรม และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ล้วนได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับชีวิตจริง และสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาที่มีคุณค่าอย่างมาก
กรณีศึกษาของเมืองเฮลซิงกิ สะท้อนให้เห็นถึง พลังของระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการพื้นที่ สังคม และทรัพยากร เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยการใช้ทั้งเมืองเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากบริบทที่หลากหลาย ซึ่งก้าวพ้นข้อจำกัดของการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม
คุณภาพของการศึกษาที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ ไม่ได้พึ่งพาเฉพาะบทบาทของโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชนและสังคมที่ร่วมกันออกแบบและสนับสนุนโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่า "การมีส่วนร่วมของชุมชน"
แนวทางดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อเสนอของ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ และอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้เสนอโมเดล "กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ" เพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในประเทศไทย โดยโมเดลนี้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
1) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น สวนสาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ในชีวิตจริง
2) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ที่มุ่งสร้างเนื้อหาและสื่อที่ทันสมัย สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในบริบทที่หลากหลาย
3) การจัดเวิร์คช็อปเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ที่สนับสนุนกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ด้วยตนเอง
4) การสร้างความเข้าใจเรื่องอาชีพในอนาคต ให้กับผู้เรียนได้รู้จักและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน รวมถึงแนวทางการเตรียมตัวสำหรับอาชีพใหม่ๆ
แนวทางนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาระบบนิเวศทางการเรียนรู้ในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการตามข้อเสนอนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ไปจนถึงสถานศึกษาและครอบครัว เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณและการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม การเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับชีวิตจริง
จะไม่เพียงช่วยพัฒนาผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในระยะยาว
อ้างอิง
ศศินันท์ เศรษฐวัฒน์บดี, กันต์ฤทัย คลังพหล, บุษยา จูงาม, ปาริชาติ ผดุงศิลป์, & อภิชญา สวัสดี. (2566). การศึกษาระบบนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษาในจังหวัดปทุมธานี. 6(1), 102–113
The Kommon. (2021). ‘เฮลซิงกิ’ เมืองที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกระดับ. The Kommon. Retrieved from https://www.thekommon.co/helsinki-learning-whole-city/
Lonka, K., Makkonen,J. Berg, M., Talvio, M., Maksniemi, E., Kruskopf, M., Lammassaari, H., Hietajärvi, L., & Westling. S. (2018). Phenomenal Learning from Finland. Helsinki: Edita.
โฆษณา