6 ธ.ค. เวลา 14:55 • ธุรกิจ

วงการการศึกษาต้องการ ภาวะผู้นำและการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Transformation Leadership)

การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังสร้างโอกาสให้ผู้นำองค์กรปรับตัวและบริหารการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้มักมาพร้อมผลกระทบเชิงลบ เช่น ความมั่นคงทางอาชีพ วัฒนธรรมองค์กร ความปลอดภัยของข้อมูล และความยากลำบากในการปรับตัวของบุคลากร
แนวคิด Disruptive Innovation จากการศึกษา Christensen updates disruption theory ของ Stephen Denning (2016) อธิบายว่าทำไมบริษัทที่ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูงจึงล้มเหลวเมื่อเผชิญกับนวัตกรรมใหม่ แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้องในสถานการณ์ทั่วไป สาเหตุสำคัญคือการมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองตลาดปัจจุบันและละเลยการสร้างนวัตกรรมสำหรับตลาดใหม่
ในวงการการศึกษา การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน การเรียนรู้ และการจัดการระบบการศึกษา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยพัฒนาทักษะการสอนของครู เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงปรับปรุงวิธีการประเมินผล ส่งผลให้การศึกษาเข้าถึงได้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ทั้งครูและนักเรียนต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนักเรียนที่เผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพจิต ข้อมูลจากการศึกษาระหว่างปี 2010-2022 ระบุว่า อัตราภาวะซึมเศร้าและความเครียดในเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 18-24 ปี ที่มีอัตราการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 สูงกว่าอัตราของผู้ใหญ่อายุ 25-64 ปี ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8 ในปี 2022 (Summers-Gabr, Gutkowski, & Kassens, 2024)
ในประเทศไทย งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนและเตรียมสอบ ส่งผลให้มีเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสุขภาพจิตอย่างสมดุลลดลง (Burnet Institute et al., 2022) ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ยังระบุว่า การสอบวัดผลสร้างความเครียดและความวิตกกังวลในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางอารมณ์และการเรียนรู้ในระยะยาว (SEAMEO, 2022)
แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกนำเสนอในงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ภาวะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Transformation Leadership) ในยุคการศึกษาแบบดิจิทัล เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถแทรกแซงปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งนำพาองค์กรการศึกษาให้ปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางที่สร้างสรรค์
ในบริบทของการศึกษา ภาวะผู้นำและการบริหารการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเลิศ มีบทบาทสำคัญในการ 1) ปรับตัวต่อเทคโนโลยีใหม่ช่วยให้ครูและนักเรียนมีความยืดหยุ่นและเปิดรับการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง 2) สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการลดความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบุคลากรในองค์กร และ 3) สร้างความพร้อมในทุกระดับพัฒนาทั้งองค์กร ครู และนักเรียนให้สามารถเผชิญความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
ผู้นำที่มีความสามารถในยุคดิจิทัล ต้องสนับสนุนให้บุคลากรและนักเรียนพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างระบบสนับสนุนที่ช่วยให้การเรียนการสอนตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป การเป็นผู้นำเชิงรุกในยุคนี้จึงไม่เพียงเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และการปรับตัวที่ยั่งยืนในองค์กร เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณภาพในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
จากการศึกษาบทความ "Administrative and Leadership Innovation in the 21st Century: A Secondary School Sub-sector Perspective in Kenya" โดย Regina Koume-Mwinzi (2016) พบว่าภาวะผู้นำและการบริหารการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษาจำเป็นต้อง ยืดหยุ่นและปรับตัว ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากแนวทางการบริหารแบบดั้งเดิมที่มีลำดับชั้นที่เข้มงวด
Kaume-Mwinzi (2016) เน้นว่า โครงสร้างการบริหารที่ยืดหยุ่น เป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล โดยเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการจัดการและการสอน ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา เช่น การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ และการปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ให้ตอบสนองต่อความต้องการและความถนัดของผู้เรียน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการในยุคปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้วงการการศึกษาต้องการ ภาวะผู้นำและการบริหารการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเรียนการสอนและการจัดการศึกษา ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนรู้ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และปรับปรุงวิธีการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของผู้เรียน
ในขณะเดียวกันยังช่วยลดผลกระทบเชิงลบ เช่น ความเครียดจากระบบการเรียนรู้แบบเดิม และสนับสนุนให้ครูและนักเรียนพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล
ภาวะผู้นำที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้ยั่งยืนและมีคุณภาพ
อ้างอิง
Burnet Institute, UNICEF Thailand, & Ministry of Public Health. (2022). Strengthening mental
health and psychosocial support systems and services for children and adolescents
in East Asia and Pacific Region: Thailand country report 2022.
Denning, S. (2016). Christensen updates disruption theory. Strategy & Leadership, 44(2), 10-
Kaume-Mwinzi, R. K. (2016). Administrative and leadership innovation in the 21st century: A
secondary school sub-sector perspective in Kenya. Research in Pedagogy, 6(2), 85-
SEAMEO. (2022). The state of education in Southeast Asia: A focus on mental health and
well-being. Southeast Asian Ministers of Education Organization.
โฆษณา