7 ธ.ค. เวลา 02:00 • บ้าน & สวน

Reflection House บ้านโมเดิร์นที่สะท้อนความสัมพันธ์ครอบครัวและชุมชน

บ้านโมเดิร์นในพื้นที่จำกัดหลังนี้มีชื่อว่า Reflection House ด้วยความรักความผูกพันกับพื้นที่ และวิถีชีวิตในอดีตที่คิดถึง จึงออกแบบบ้านหลังนี้ให้อยู่ร่วมกับบริบทชุมชนโดยรอบ เพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความทรงจำในวันวานของ คุณหนุ่ม -ณรงค์เกียรติ เฝ้าทรัพย์ เจ้าของบ้านและคุณแม่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านหลังใหม่
โดยได้สองสถาปนิกจาก AUN Design Studio คุณอุ่น-เขตขัณฑ์ ยอดพริ้ง และคุณปุ๋ย-ปรียานุช เรืองสังข์ มาช่วยสะท้อนความทรงจำเหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้นในบ้านสองชั้นขนาด 240 ตารางเมตร บนที่ดินขนาดกะทัดรัด สำหรับอยู่อาศัยกับคุณแม่และครอบครัว ด้วยงบประมาณที่สามารถเอื้อมถึงได้
เนื่องจากบ้านเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและอยู่ติดกับบ้านใกล้เคียง การออกแบบผังจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์จากการใช้งานพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยต่างวัย
สถาปนิกเล็งเห็นว่าการออกแบบโดยแบ่งทางเข้าบ้านออกเป็นสองฝั่งแทนการเปิดทางเข้าเพียงทางเดียวนั้น ทำให้เกิดพื้นที่ว่างขนาบตัวบ้าน ซึ่งมีข้อดีคือนอกจากจะช่วยแยกฟังก์ชันทางเข้าบ้านสำหรับแขกออกจากทางเข้าบ้านหลักแล้ว การจัดการพื้นที่ดังกล่าวยังช่วยให้ตัวบ้านตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ว่างซึ่งออกแบบให้เป็นสวนภายใต้ร่มเงาของต้นไม้
แสงและลมธรรมชาติจึงสามารถเข้ามาในตัวบ้านได้จากทั้งสองฝั่ง ภายในบ้านจึงปลอดโปร่งมากกว่าการเลือกเปิดทางเข้าบ้านเพียงฝั่งเดียวเท่านั้น ซึ่งสถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เป็นต้นแบบสำหรับบ้านที่มีเนื้อที่จำกัดในงบประมาณที่สามารถเอื้อมถึงได้
เมื่อเข้ามาภายในบ้านเราจะพบกับพื้นที่รับประทานอาหารอยู่บริเวณกลางบ้านซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับส่วนเตรียมอาหารหรือห้องครัว พื้นที่ชั้นล่างนั้นออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคุณแม่ จึงไม่แปลกที่ห้องนั่งเล่นจะปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นโต๊ะรับประทานอาหารแทนการวางชุดโซฟา ด้วยกิจวัตรชอบทำอาหารและมักจะมีเพื่อนบ้านแวะมาพบปะพูดคุย ทำให้บริเวณนี้ทำหน้าที่เสมือนห้องรับแขกไปในตัว
ถัดจากส่วนรับประทานอาหารจึงเป็นห้องนอนของคุณแม่และห้องเก็บของ ด้วยผังบ้านออกแบบเป็นรูปตัวที (T) ทำให้ห้องนอนคุณแม่ยังคงใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวและมุมมองของพื้นที่ระหว่างห้องนอนกับห้องรับประทานอาหารยังคงมีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ชั้น 2 ออกแบบให้เป็นพื้นที่ของคุณหนุ่ม ฟังก์ชันจึงประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่นซึ่งเชื่อมต่อมาจากชั้นล่าง มีเคาน์เตอร์บาร์สำหรับรองรับเพื่อนฝูงที่แวะเวียนมาสังสรรค์ ฟังก์ชันที่น่าใจบริเวณเคาน์เตอร์บาร์คือการออกแบบห้องน้ำซ่อนไว้ด้านในเสมือนห้องลับ ที่ดูเพียงผิวเผินประตูห้องน้ำจะกลมกลืนไปกับผนังบิลท์อิน และมีระเบียงขนาดเล็กช่วยต่อขยายพื้นที่ห้องนั่งเล่นออกไปให้ดูกว้างมากยิ่งขึ้น
สถาปนิกไม่ลืมที่จะนำความคุ้นเคยในอดีตของคุณหนุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ จึงออกแบบห้องนอน ห้องน้ำ และห้องทำงานให้อยู่ในแนวเดียวกัน คล้ายกับการอยู่อาศัยแบบ “อพาร์ตเมนต์”
สถาปนิกออกแบบบ้านโดยนอบน้อมต่อบริบทดั้งเดิมของบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อบ้านเปิดเป็นพื้นที่โล่งทั้งสองฝั่ง สถาปนิกจึงออกแบบรั้วระแนงเหล็กโปร่งรอบบ้าน โดยหยิบยกภาษาของหลังคาจั่วของบ้านเดิมและบ้านโดยรอบมาใช้ เพื่อให้ยังคงสามารถรับรู้วิถีชีวิตภายนอกบ้าน มองเห็นเพื่อนบ้านเดินผ่านไปมาและทักทายกันได้ โดยยังคงความเป็นส่วนตัวเอาไว้ในระดับที่เหมาะสม และเป็นทางผ่านให้ลมและแสงสามารถผ่านเข้ามาได้
หัวใจสำคัญในการออกแบบบ้าน Reflection House เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว กับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ถ่ายทอดออกมาผ่านพื้นที่และงานสถาปัตยกรรม โดยแทรกกิมมิกเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิก บ้านหลังนี้จึงสะท้อนทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและทำให้บ้านมีชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องแต่งเติมในงานสถาปัตยกรรมมากจนเกินไป
เจ้าของ : คุณณรงค์เกียรติ เฝ้าทรัพย์
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน: AUN Design Studio
ออกแบบแสง : ศาสตราจารย์พรรณชลัท สุริโยธิน อาจารย์วีระพงศ์ เอี๋ยวพานิช และ AUN Design Studio
วิศวกรโครงสร้าง : คุณสิทธิโชค ศิริวิวัฒน์ วิศวกรงานระบบ : คุณรณชัย ศิริธนารัตนกุล และคุณเอกสิทธิ์ รักษากุลเกียรติ
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> www.baanlaesuan.com/352405/houses/reflection-house
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา