8 ธ.ค. เวลา 03:30 • ธุรกิจ

อธิบาย NPV และ IRR ที่ใช้ดูว่า โครงการนี้ น่าลงทุนหรือไม่ ?

คำถามของคนทำธุรกิจ “โครงการนี้น่าลงทุนไหม” น่าจะเป็นคำถามยอดฮิตที่ได้ยินกันเป็นประจำ
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เราตอบคำถามนี้ได้ดี
ก็คือ
- Net Present Value (NPV)
- Internal Rate of Return (IRR)
NPV และ IRR คืออะไร
ทำไมคนทำธุรกิจควรรู้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
NPV หรือมูลค่าปัจจุบันสุทธิ คือ ผลตอบแทนที่เราคาดว่า จะได้รับ จากการลงทุนในโครงการนั้น ๆ ซึ่งมีหน่วยเป็นบาท หรือขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่เรานำมาคิด
ซึ่งการตีความ NPV ไม่มีอะไรยุ่งยากหรือซับซ้อน
หากเราคำนวณค่า NPV ที่ได้ออกมาเป็น
- ค่าบวก
หมายความว่า ผลตอบแทนที่ได้จากโครงการนี้มากกว่าเงินลงทุน แปลว่า โครงการนี้น่าลงทุน
- ค่าลบ
หมายความว่า ผลตอบแทนที่ได้จากโครงการนี้น้อยกว่าเงินลงทุน แปลว่า โครงการนี้ไม่น่าลงทุน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติเราต้องการเปิดร้านกาแฟขึ้นสัก 1 ร้าน โดยมีสัญญาเช่าที่ระยะเวลา 5 ปี
และใช้เงินลงทุนส่วนตัวของเรา 1,000,000 บาท ไม่ว่าจะเป็น ค่าเครื่องชงกาแฟ ค่าตกแต่งร้าน และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ
เราคาดว่า ร้านกาแฟของเราจะมีกระแสเงินสดที่เราจะได้รับ หักลบกับกระแสเงินสดที่จ่ายออกไป ในปีที่ 1-5 อยู่ที่ปีละ 300,000 บาท
หากคิดเร็ว ๆ หลายคนอาจมองว่า ผ่านไป 5 ปี การลงทุนเปิดร้านกาแฟก็น่าจะคุ้มค่า
เพราะเราลงทุน 1,000,000 บาท และได้เงินกลับมาจำนวน 1,500,000 บาท
ก็คิดเป็นผลตอบแทน 500,000 บาท หรือ 50% ของเงินที่ลงทุนไป
อย่างไรก็ตาม มูลค่าของเงินมีการลดลงตามกาลเวลา
หรือพูดง่าย ๆ ว่า เงินจำนวน 300,000 บาท ในปีที่ 1-5 ที่เราคาดว่าจะได้รับในอนาคต จะมีมูลค่าน้อยกว่าเงินจำนวน 300,000 บาท ในวันนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อ หรือค่าเสียโอกาส จากการนำเงินก้อนเดียวกันไปลงทุนอย่างอื่น
ดังนั้น เราจึงต้องแปลงมูลค่าของกระแสเงินสดที่เราคาดว่าจะได้รับในอนาคต กลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันเสียก่อน ด้วย “อัตราคิดลด”
สมมติว่า ให้อัตราคิดลด คือ 10% ซึ่งอาจจะมาจาก ผลตอบแทนจากทางเลือกอื่น หากเราไม่นำเงินมาลงทุนเปิดร้านกาแฟ เช่น เราสามารถนำเงินตรงนี้ ไปปล่อยกู้ แล้วเก็บดอกเบี้ย 10% หรือซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
หรือพูดได้ว่า เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้น หรือเป็นต้นทุนของเงินลงทุนร้านกาแฟ นั่นเอง
ดังนั้น กระแสเงินสดในอนาคต เมื่อคิดย้อนกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันของแต่ละปี ด้วยอัตราคิดลดที่ 10% จะเท่ากับ
- ปีที่ 1 จำนวน 272,727 บาท
- ปีที่ 2 จำนวน 247,934 บาท
- ปีที่ 3 จำนวน 225,394 บาท
- ปีที่ 4 จำนวน 204,904 บาท
- ปีที่ 5 จำนวน 186,276 บาท
ซึ่งเมื่อนำกระแสเงินสดของแต่ละปีมารวมกัน จะอยู่ที่ 1,137,235 บาท และนำไปหักออกจากเงินทุนที่ 1,000,000 บาท จะได้ว่า NPV เท่ากับ 137,235 บาท ซึ่งแม้น้อยลงกว่าตัวเลข 500,000 บาท ที่คิดไว้ตอนแรกมาก แต่ก็ยังมีค่าเป็นบวก
ทีนี้ เรามาดู IRR หรือ อัตราผลตอบแทนภายใน กันบ้าง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัด ที่มักใช้ควบคู่กับ NPV
โดย IRR ก็คืออัตราคิดลด ที่ทำให้ NPV มีค่าเท่ากับ 0
การตีความ IRR ก็ไม่ยุ่งยากเช่นกัน
- ถ้า IRR มากกว่า ต้นทุนเงินลงทุนของโครงการ แปลว่า โครงการนี้น่าลงทุน
- ถ้า IRR น้อยกว่า ต้นทุนเงินลงทุนของโครงการ แปลว่า โครงการนี้ไม่น่าลงทุน
หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ IRR ยิ่งสูง ยิ่งดี และต้องสูงกว่าต้นทุนเงินลงทุนของโครงการ
จากกรณีของธุรกิจร้านกาแฟข้างต้น อัตราคิดลด หรือต้นทุนของเงินลงทุน ที่จะทำให้ NPV อยู่ที่ 0 บาท คือ 15.24%
ดังนั้น ถ้าร้านกาแฟมีต้นทุนเงินลงทุน อยู่ที่ 10%
การมี IRR ที่ 15.24% ก็ถือเป็นการลงทุนที่น่าลงทุน
หรือพูดในอีกมุมหนึ่งก็คือ ถ้าเราคาดหวังว่าอยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่า 15.24% ต่อปี หรือเรามีต้นทุนเงินลงทุนของโครงการมากกว่า 15.24% ก็จะทำให้ร้านกาแฟร้านนี้ ไม่น่าลงทุนอีกต่อไป เพราะจะทำให้ NPV เริ่มมีค่าติดลบ นั่นเอง
สรุปแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ใช้ NPV และ IRR ในการวิเคราะห์การลงทุน
หาก NPV เป็นบวก หรือ IRR มีค่ามากกว่าต้นทุนเงินลงทุนของโครงการ แปลว่า โครงการนั้นน่าลงทุน
อย่างไรก็ตาม หากเรากำลังพิจารณาหลายโครงการ ภายใต้เงินลงทุนที่จำกัด ก็ควรพิจารณาจากโครงการที่ NPV เป็นบวกมากที่สุด
และนี่คือการอธิบาย NPV และ IRR แบบเข้าใจง่าย ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่คนทำธุรกิจควรต้องรู้
เพราะอย่างน้อย ๆ ก็เป็นตัวช่วยในการตอบคำถามเบื้องต้นว่า โครงการนี้น่าลงทุนไหม นั่นเอง..
1
โฆษณา