Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ
•
ติดตาม
7 ธ.ค. เวลา 09:24 • สิ่งแวดล้อม
ตรัง
ผนึกกำลัง กรมทะเลฯ-กรมอุทยานฯ ร่วมมือเครือข่าย แก้วิกฤตพะยูนเกยตื้น เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล เมืองตรัง
ตั้งศปก.ร่วมพิทักษ์พะยูน-ของบฯกลางปี 68 วงเงิน 615 ล้านบาท เพื่อสร้างกิจกรรมอนุรักษ์พะยูน-แหล่งหญ้าทะเล
จากภาวะโลกเดือด ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญและเป็นแหล่งอาศัยหลักของพะยูนในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน ส่งผลกระทบทำให้พะยูนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ เสี่ยงสูญพันธุ์ และมีเหตุตายรายวันมากขึ้นเรื่อยๆ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้กำหนด 4 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ประกอบด้วย
1.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) และแบบสำรวจการพบเห็นพะยูนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบจำนวน พื้นที่การแพร่กระจายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสำรวจสุขภาพของพะยูนแต่ละตัวว่ามีความสมบูรณ์ หรือมีอาการป่วย เพื่อหามาตรการช่วยเหลือไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร
2.หาแนวทางประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ ซึ่งจะเป็นการป้องกันอันตราย จากการประกอบกิจกรรมในทะเล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพะยูนที่เข้ามาอาศัย จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะประกาศ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไวย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนจำนวนมาก โดยจะต้องมีการหารือในรายละเอียดกับภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศออกไป
3.ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและอ่อนแอ โดยเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พะยูนอพยพย้ายถิ่น ตลอดจนกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษโดยการเสริมอาหารทดแทนหญ้าทะเลในธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดตรัง และจังหวัดภูเก็ต รวมถึงศึกษาแนวทางการกั้นคอกเพื่อดูแลพะยูนที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอในธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาและเตรียมความพร้อมของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง และศูนย์ช่วยชีวิตสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต
4.เตรียมบ่อกุ้งร้างหรือสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน พร้อมทั้งเร่งศึกษานวัตกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเลในธรรมชาติ
โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส. พร้อมเสนอของบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนเงิน 615,163,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรฯ จึงลงพื้นที่มายังโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (เกาะลิบง) อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อพบปะพี่น้องชาวเกาะลิบง และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดตรัง
รับฟังรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายากในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่จังหวัดตรัง ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติงานในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและพะยูน พร้อมมอบนโยบายในด้านการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และการฟื้นฟูแหล่งอาหารของพะยูน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในการดูแล ปกป้อง และคุ้มครองทรัพยากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลไม่ให้สูญหายไปจากท้องทะเลตรัง
ซึ่งกรมทะเลฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิต ด้วยวิธีการใช้อาหารเสริมแทนหญ้าทะเล โดยมีการดำเนินงานในพื้นที่สะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต, อ่าวตังเข็น ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต, ด้านหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เกาะลิบง จ.ตรัง, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และพื้นที่บางขวัญ จ.พังงา
จัดเตรียมคอกอนุบาลในทะเล สำหรับดูแลพะยูนที่ป่วยและไม่แข็งแรง ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลและการดำเนินการในพื้นที่บริเวณเกาะละวะ ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา รวมทั้งบ่อเลี้ยงของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต
เร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดพังงา บริเวณ เกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา พื้นที่ 15 ไร่ อีกทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ บ้านบางพัฒน์ อ่าวพังงา ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา พื้นที่ 12 ไร่ และพื้นที่บ้านปากคลอง ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง พื้นที่ 4 ไร่ โดยดำเนินการประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูหญ้าทะเลและเก็บตัวอย่างดินตะกอน เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ก่อนการย้ายปลูกหญ้าทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งพันธุ์หญ้าทะเล
และมีแผนดำเนินการย้ายปลูกหญ้าทะเลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการจัดการปัญหามลพิษและควบคุมการใช้พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน หากมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล และยังมีการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เราอาจยังมีโอกาสเห็นพะยูนอยู่ในน่านน้ำไทย และคงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแห่งนี้ต่อไป
ด้านกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) ผลจากการสำรวจเบื้องต้น...
1.บริเวณอ่าวพังงา เกาะยาวใหญ่ พบพะยูนจำนวน 3 ตัว
2.จังหวัดภูเก็ต บริเวณอ่าวปากคลอก พบพะยูนจำนวน 40 ตัว
3.บ้านป่าหล่าย พบพะยูนจำนวน 2 ตัว
4.สะพานสารสิน พบพะยูนจำนวน 7 ตัว
5.อ่าวตังเข็น พบพะยูนจำนวน 7 ตัว
6.อ่าวราไวย์ พบพะยูนจำนวน 2 ตัว
รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 58 ตัว และจังหวัดตรัง บริเวณแหลมจูโหย พบพะยูนจำนวน 3 ตัว ชายหาดบ้านปากคลองกะลาเสใหญ่ พบพะยูนจำนวน 2 ตัว รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 5 ตัว
และได้สำรวจหญ้าทะเล...
1.จังหวัดพังงา สำรวจ 4,824 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,071 ไร่
2.จังหวัดภูเก็ต สำรวจ 3,348 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,360 ไร่
3.จังหวัดกระบี่ สำรวจ 23,302 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 7,670 ไร่
4.จังหวัดตรัง สำรวจ 23,038 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 12,380 ไร่
5.จังหวัดสตูล สำรวจ 2,963 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,427 ไร่
รวมถึงประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่เฝ้าระวังพะยูนและคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล 13 แห่ง
และภายหลังจากที่มีการหารือร่วมกับจังหวัดภูเก็ตและทุกภาคส่วน เกี่ยวกับการวางแนวทางและกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพะยูนในบริเวณที่อยู่อาศัยและหากิน
จังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ องค์กรภาคเอกชน เครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันผลกระทบต่อพะยูนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณช่องปากพระบ้านสารสิน บริเวณอ่าวป่าคลอก อ่าวบางโรง บริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ และบริเวณอ่าวตังเข็น เพื่อร่วมกันป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพะยูนอีกด้วย
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
พะยูน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย