8 ธ.ค. 2024 เวลา 12:00 • ข่าว

คลังชงปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่

ขึ้น VAT ลดภาษีเงินได้บุคคล-นิติบุคคล แก้เศรษฐกิจโตต่ำ ‘หนี้สาธารณะ’ ใกล้ชนเพดาน
➡ 1. ล่าสุดข่าวเรื่องของการขึ้น VAT วนกลับมาอีกครั้งเมื่อ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังออกมาเปิดเผยถึงแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่
➡ 2. โดยบอกว่าไทยมีปัญหาเรื้อรัง GDP ขยายตัวต่ำมานาน (หลังโควิดก็ประมาณ 1-2%) ส่วนประเทศอื่นโตกันได้ดีแล้ว
➡ 3. ปัญหาโครงสร้างก็ต้องแก้ไข มันเป็นส่วนหนึ่ง มันทำได้ช้า แต่เรื่องอื่นก็ต้องแก้ไขไปด้วยพร้อมๆ กัน
➡ 4. เมื่อ GDP โตต่ำ -> รัฐบาลเก็บรายได้ได้น้อย เพราะภาษีขึ้นกับเศรษฐกิจ -> รายได้น้อยทำให้กระบวนการทางงบประมาณขาดดุล เก็บรายได้ไม่ได้ตามที่ควร -> ต้องไปกู้เพิ่ม ทำให้หนี้สาธารณะสูง -> ทำไปเรื่อยๆ ภาคการคลังจะไม่ยั่งยืน
➡ 5. นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ หนี้สาธารณะก็ค่อนข้างสูง 65%-66% ต่อ GDP มูลหนี้แตะ 12 ล้านล้านบาท ใกล้เพดาน 70% ที่ 15 ล้านล้านบาทไปทุกที
➡ 6. ประเทศไทยไม่ควรขาดดุลมากกว่านี้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ
1
➡ 7. VAT คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2535 อัตราจัดเก็บที่ 10% แต่ช่วงที่ผ่านมามีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% และใช้วิธีต่ออายุแบบรายปีมาตลอด ตั้งแต่หลังช่วงต้มยำกุ้ง
➡ 8. ปัจจุบันไทยมีรายได้ภาษีเพียง 14% ต่อ GDP เทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ 18-20% ต่อ GDP จึงทำให้ไม่มีงบเหลือมาลงทุน
➡ 9. ตามข่าวที่ออกมาคือ VAT สามารถขึ้นไปได้ถึง 10% ในขณะเดียวกันก็ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล เป็นแบบอัตราเดียว (ไม่มีขั้นบันได)
1
➡ 10. "ขณะนี้กำลังทำการบ้านกันอยู่แนวทางคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลต้องต่ำลง ตามบริบทของโลก ส่วนภาษีการบริโภค (VAT) ต้องปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งตามเพดานกฎหมาย สามารถขึ้นไปได้ถึง 10% รวมถึงการ จัดเก็บภาษีทรัพย์สิน โดยเก็บจากความมั่งคั่ง จากทรัพย์สินที่มีทะเบียน หาได้อาทิ บ้าน รถยนต์ ที่ดิน เงินฝาก เป็นต้น" นายลวรณกล่าว
➡ 11. ส่วนภาษีกำไรขายหุ้น (Capital Gain Tax) ไทยยังไม่เคยเก็บ อาจจะมีการหักขาดทุนก่อนได้ ถ้าแต่ละปีหักแล้วกำไรค่อยเก็บภาษี ถือเป็นภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax)
3
➡ 12. ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำแผนเพื่อเสนอ รมว. คลัง ก่อนสิ้นปี
➡ 13. เก็บภาษีแบบขั้นบันไดต้องเอากลับมาทบทวนใหม่ เพราะใช้มานานก็ยังลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ คนวางแผนภาษีกันได้ ลดหย่อนได้สารพัด
2
➡ 14. ภาษีเงินได้นิติบุคคลมีข้อกำหนดของ OECD ไม่ให้เก็บต่ำกว่า 15% เพราะฉะนั้นจากตอนนี้เก็บที่ 20% จะลองเก็บที่ 15% เลยไหม เพื่อดึงดูดการลงทุนด้วย และกระตุ้นไม่ให้หลบเลี่ยงภาษีกัน เพราะมันต่ำมากแล้ว
➡ 15. ตอนนี้เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้มากขึ้น จากเดิมต้องใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีกว่า 2,000 คน ตรวจสอบแบบสุ่ม ตอนนี้กระทรวงการคลังนำเอกสารข้อมูลภาษีเป็นไฟล์ดิจิทัลหมดแล้ว พร้อมให้ AI มาช่วยงาน สามารถตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้หลายปี ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ และตรวจสอบได้ 100% ไม่ต้องสุ่ม เป็นการตรวจสอบคนที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว แต่ภาษียังไม่ถูกต้อง ส่วนคนนอกระบบก็ต้องนำเข้ามาในระบบให้ได้
2
➡ 16. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainability Forum 2025 ว่าได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
➡ 17. “เรื่อง VAT เป็นภาษีที่เก็บจากทุกคนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว แต่ถ้าหากเก็บสูงขึ้นและเหมาะสมจะทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำรอด ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะลดลง เพราะถ้าเก็บสูงขึ้นคนรวยมาก ๆ จ่ายสูงขึ้นตามการใช้จ่าย คนรวยปานกลางจ่ายสูงขึ้น เงินภาษีกองกลางก็ใหญ่ขึ้น ก็จะส่งกลับไปให้โอกาสกับคนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล สถานศึกษา" นายพิชัยกล่าว
2
➡ 18. ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน TDRI ชี้ว่า การปรับขึ้น VAT เป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากประเทศไทยต้องการรายได้เพิ่มเติมสำหรับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
1
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยยังเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจอย่างมาก อาจจะมีการตั้ง ‘กองทุนช่วยเหลือ’ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก VAT ขึ้นมาผ่านหลากหลายเครื่องมือ เช่น การเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ/เบี้ยคนพิการ หรือ การแยกสินค้าให้สินค้าที่จำเป็นไม่ต้องขึ้น VAT หรือขึ้น น้อยกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น
➡ 19. ประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีที่น่าสนใจ ปรับขึ้น VAT แบบเป็นขั้นเป็นตอน แล้วดูเป็นระยะไปว่าผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นอย่างยังไงบ้าง ถ้าไม่กระทบก็ค่อยขึ้นต่อ
➡ 20. VAT ที่สูง ผู้ผลิตจะผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภค ทำให้สินค้ามีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ค่าจ้างต้องมีการปรับอย่างเหมาะสม อาจจะมีการควบคุมสินค้าที่จำเป็น หรือคิด VAT สินค้าจำเป็นให้ต่างออกไป ช่วยลดผลกระทบก็ได้
1
➡ 21. นอกจากความกังวลเรื่องปากท้องแล้ว อีกคำถามหนึ่งที่รัฐบาลอาจจะต้องตอบให้ชัดคือภาษีที่เก็บเอาไปทำอะไร?​ ช่วยกลุ่มเปราะบางยังไง? ตัวอย่างหนึ่งที่ทำได้ดีที่ นายก ชินโซ อาเบะ เคยใช้คือตอนที่ขึ้นภาษีการขายและระบุชัดเจนว่าจะนำเงินที่ได้มาใช้เพื่อการดูแลและให้การศึกษาเด็กเล็ก
1
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงเขียนไว้บนเว็บไซต์ TDRI ว่า “วิธีนี้จะทำให้คนที่ห่วงว่าคนจนจะเสียเปรียบจากการเสียภาษีมากขึ้นเบาใจได้ว่าจริง ๆ แล้วคนจนจะได้ 'กำไร' เพราะ ยังไงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มถ้าคิดเป็นเม็ดเงิน (ไม่ใช่อัตรา) คนรวยจ่ายมากกว่าคนจนมาก ผมเคยประมาณการว่าคนจนจริง ๆ เสีย VAT 20 บาทหากรัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 100 บาท การที่เม็ดเงิน ทั้งหมดย้อนกลับไปที่คนจนเป็นผู้ได้รับ หมายถึงคนจนจะได้กำไร 80 บาท (จ่าย 20 ได้ 100) ช่วยเรื่องลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี”
1
➡ 22. พี่หนอม จากเพจ TaxBugnoms เขียนสเตตัสบน Facebook ถึงประเด็นนี้ในตอนเช้าว่า
“ความเห็นส่วนตัวในเรื่อง การดึงดูดคนมาลงทุนในประเทศนั้น ตอนนี้มีปัจจัยที่ควรพิจารณาอื่นนอกเหนือกว่าเรื่องอัตราภาษีแล้วล่ะครับ เช่น ความสะดวกในการทำธุรกิจ การจัดการเอกสารแบบรวมศูนย์ ความมั่นคงทางการเมือง ฯลฯ เพราะปัจจุบันนี้มีหลายปัจจัยต้องพิจารณาครับ
1
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ การนำผู้เสียภาษีที่อยู่นอกระบบมาเข้าระบบให้ถูกต้องครับ อาจจะลดความเหลื่อมล้ำเรื่องนี้ได้อีกส่วนหนึ่งครับผม”
1
สุดท้ายต้องติดตามกันต่อในเรื่องนี้ครับว่าจะเกิดการปฏิรูปภาษีในหน้าตาแบบไหน และถ้าทำจริงๆ จะออกมายังไง พร้อมทั้งผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนั้นด้วย
#aomMONEY #MakerichGeneration #VAT #ขึ้นVAT #การเงิน #ภาษี
โฆษณา