8 ธ.ค. เวลา 08:23 • การตลาด

บะหมี่ฯ 3 หมื่นล้านแข่งดุ “มาม่า” จัดทัพชนยักษ์เกาหลี

ซดเดือด! ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งแรงแตะ 3 หมื่นล้าน โต 8% “มาม่า” จัดแนวรบ วางยุทธศาสตร์ครบเครื่อง ย้ำผู้นำ ตีกันทัพเกาหลีบุกไทยท้าชิงแชร์บะหมี่พรีเมี่ยม ทั้งยักษ์ซีเจ ฟู้ดส์ปั้น “บิบิโก รามยอน” และ Samyang Foods ส่ง “MEP” เจาะคนรุ่นใหม่
“ดัชนีมาม่า” กลายเป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ ว่าเศรษฐกิจในประเทศดีหรือไม่ เพราะหากเศรษฐกิจถดถอยยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือบะหมี่ซอง จะขายดีเป็นพิเศษ เป็นอาหารยังชีพอิ่มท้อง ราคาถูก แต่ ณ วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการแข่งขันสูง ทำงานหนัก ต้องการประหยัดเวลา และความสะดวกสบาย ผนวกกับผู้ประกอบการในตลาดบะหมี่ฯ มีการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดตลอดเวลา ทำให้ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” กลายเป็นเมนูประจำครัว ที่ต้องมีติดไว้ทุกบ้าน
“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” ผู้คุมบังเหียนตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.9 หมื่นล้านบาท ถึงทิศทางตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปีนี้ ที่ถือเป็นช่วงข้าวยาก หมากแพง และดัชนีมาม่า เป็นหนึ่งอินดิเคเตอร์ถึงสภาพเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
“พันธ์” บอกว่า ผู้คนพูดว่า ที่มาม่าขายดีเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งถ้าตีความว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่นั้นวัดที่คนมีเงินเหลือเก็บเหลือกินเหลือใช้ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไม่เคยดีเลย ปัจจุบันนี้ที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัย กินเพราะจำเป็นก็มี กินเพราะชื่นชอบก็มี จึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการกระตุ้นความยาก และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 มูลค่าตลาดแตะ 2.14 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 10.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาบริโภคอาหารประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
1
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยปีละ 55 ซอง ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลกที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงสุด และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการทำการตลาดที่เข้มข้นของผู้ผลิต ทั้งการออกรสชาติใหม่ การจัดโปรโมชั่น และการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
“พันธ์” เล่าว่า วันนี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้ามวลชน เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องซื้อไว้ประจำบ้าน
“ยอดขายมาม่าในปีนี้เติบโตเกินคาด ไม่ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อหรือเศรษฐกิจโดยภาพรวมว่าดีหรือไม่ดี เนื่องจากไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี มาม่าก็ยังขายได้ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องซื้อไว้ประจำบ้าน แม้เศรษฐกิจจะผันผวนก็ตาม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และทำการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นมองว่าตลอดทั้งปีนี้จะเติบโต 4-5%”
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบ่งตลาดเป็น 2 เซ็กเมนต์ใหญ่ คือ แมสและพรีเมี่ยม โดยมีราคาเป็นตัวขีดเส้นแบ่ง ปัจจุบันตลาดแมส “มาม่า” ครองส่วนแบ่งตลาดที่ 49% ซึ่งเป็นผู้นำตลาด มาม่ามุ่งเน้นตลาดแมส ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม และตลาดพรีเมี่ยมมี “มาม่าโอเค” ทำตลาดอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าตลาดพรีเมี่ยมมีโอกาสเติบโตสูงจากคู่แข่งที่แห่บุกเข้ามาทำตลาดในไทย
โดยส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากมาม่าที่ถือครองอยู่ 49% แล้วยังมียำยำ 21.4% และไวไวและอื่นๆ เช่น นิชชิน และบะหมี่เกาหลีอื่นๆ ฯลฯ อีก 29.6% ขณะที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพรีเมี่ยมมีมูลค่าประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 16-17% ของตลาดรวมทั้งหมด มาม่าก็ได้เข้ามาตีตลาดพรีเมี่ยมด้วยแบรนด์ “มาม่าโอเค” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค โดยมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มพรีเมี่ยมสูงถึง 49% หรือคิดเป็นยอดขายกว่า 2,400 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 10% ของตลาดรวมทั้งหมด
การเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดพรีเมี่ยม เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการรุกทำตลาดของ “มาม่าโอเค” กับการพัฒนาสินค้าใหม่ รสชาติใหม่ออกทำตลาดต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็เป็นการ X กับ Netflix Squid Game 2” เปิดตัวรสชาติใหม่ “Spicy Korean Squid Ink Flavour” รวมทั้งการเข้ารุกเข้าทำตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติเกาหลี จากเดิมที่เป็นการนำเข้า
ทำให้การแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยิ่งทวีความรุนแรง จากผู้เล่นรายใหญ่และรายเล็ก หน้าเก่าและหน้าใหม่ที่รุกเข้ามาทำตลาด ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและรสชาติอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดพรีเมี่ยมที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดด้วยราคาที่สูงขึ้นอย่าง “พรีเมี่ยมโคเรียน” หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติเกาหลี ที่เข้ามาทำตลาดในไทยก่อนหน้านี้หลายค่ายด้วยกันโดยราคาขายอยู่ที่ 39-50 บาท
นอกจากแบรนด์ไทยแล้ว แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ค่ายยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลี “ซีเจ ฟู้ดส์” ตบเท้าเข้าตลาดตลาดบะหมี่สำเร็จรูปพรีเมี่ยม ด้วยการปั้น “บิบิโก รามยอน” ชิงเค้ก ชูวัฒนธรรมเกาหลี K-Culture เป็นแกนกลาง จากกระแสความนิยมอาหารเกาหลี ซีรีส์เกาหลี และศิลปินเคป๊อป ถึง 5 รสชาติรวด
ทั้งรสต็อกบกกีเผ็ด, รสชีสต็อกบกกี, รสกิมจิ, รสไก่เกาหลี และรสไก่รมควันสไตล์เกาหลีรวมถึงการเจาะตลาดผ่าน “Emotional Benefit” วางจุดยืนเป็นโปรดักต์ที่เข้าไปเติมเต็มโมเมนต์ยามดึกเมื่อต้องหาของอร่อยหลังเลิกงาน ตั้งเป้าทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทในปีแรก
ล่าสุดยังมี “ซัมยัง ฟู้ดส์” (Samyang Foods) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปชั้นนำของโลกจากเกาหลี ที่ประกาศเปิดตัว “MEP” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์น้องใหม่สัญชาติเกาหลี ที่โดดเด่นด้วยรสชาติเผ็ดร้อนสไตล์เกาหลีแท้ๆ กับ 2 รสชาติใหม่ที่ผสมผสานความอร่อยอย่างลงตัวให้ได้ลิ้มลอง เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมนี้
“พันธ์” บอกว่า “มาม่า”ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จของ “มาม่าโอเค” มาจากการที่แบรนด์สามารถสร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มพรีเมี่ยมได้เป็นอย่างดี โดยเน้นที่รสชาติที่หลากหลายและคุณภาพวัตถุดิบที่คัดสรรมาเป็นพิเศษ แม้จะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่ผู้บริโภคก็ยอมรับและพร้อมจ่าย เพราะมองว่าได้คุณภาพที่คุ้มค่า
ขณะเดียวกันจะเห็นว่า ตลอดปี 2567 มาม่ามีการออกสินค้าใหม่ 4-5 รายการ ไม่ว่าจะเป็น “มาม่าคัพ” ซีรีส์ FUSION 2 รสชาติในถ้วยเดียว ได้แก่ รสเป็ดพะโล้และรสต้มแซ่บ กับรสต้มแซ่บและรสกะเพราแซ่บ แบบแห้ง สไตล์อีสาน
1
ส่วน “มาม่าโอเค” ก็ออก 2 รสชาติใหม่คือ “ทาโกะยากิ” และ “พะแนงเนื้อ” และรวมถึง มาม่าโอเค X Netflix Squid Game 2” เปิดตัวรสชาติใหม่ “Spicy Korean Squid Ink Flavour” พร้อมกับพรีเซนเตอร์ “Squid Ink” “อิ้งค์-วรันธร เปานิล” ที่เปิดตัวในกลางเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับการทำแคมเปญ สนับสนุนการขาย จัดโปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องรอเศรษฐกิจว่าจะซบหรือจะฟื้น เพราะยังมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ผลิต ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมากขึ้นด้วย
โฆษณา