8 ธ.ค. เวลา 05:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ความเห็นเรื่องปฏิรูปภาษี

ช่วงนี้มีการพูดคุยกันเรื่องนโยบายภาษีกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดี แต่เรื่องนี้เราอาจจะคุยกันเรื่องภาษีอย่างเดียวไม่ได้เพราะมีประเด็นใหญ่กว่านั้น
ตอนนี้มีความจำเป็นที่เราต้องมีการปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาระดับรายได้ภาษีต่อ GDP ของเราปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ขนาดของรัฐใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รัฐเสพติดการขาดดุล เราไม่สามารถปรับลดการขาดดุลตามแผนการคลังได้เลย ในขณะที่งบลงทุนก็มีพื้นที่น้อยลง
1
มองไปข้างหน้า ด้วยโครงสร้างประชากรที่เรากำลังจะมีคนเสียภาษีน้อยลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น รายจ่ายค่ารักษาพยาบาล เบี้ยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่การปฏิรูปภาครัฐจริงๆมีสองด้าน
หนึ่ง คือ การปฏิรูปด้านรายจ่าย ควรต้องมีการปฏิรูประบบราชการ ทำให้รัฐมีขนาดเล็กลง รัฐเลิกทำกิจกรรมที่ไม่ควรทำ ปฏิรูปกฎระเบียบ ลด ละ เลิก หน้าที่ที่ไม่จำเป็น ลดการรั่วไหล ลดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหากัดกร่อนสังคมไทย
3
หรือจะต้องไปจ้าง Elon Musk มาตั้งกระทรวง Goverment Efficiency มาอีกสักกระทรวง
5
เพราะการจ่ายภาษีคือสัญญาประชาคม ที่ผู้เสียภาษียอมแบ่งเงินของตนบางส่วนให้รัฐไปจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ และทำหน้าที่ของรัฐ แต่ประชาชนรู้สึกว่าจ่ายภาษีแล้วไม่ได้อะไรคืนมา หรือไม่คุ้ม ก็คงไม่มีใครอยากจ่ายภาษี เพราะฉะนั้นก่อนขึ้นภาษี ประชาชนคงอยากเห็นว่ารัฐบาลทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว ก่อนจะไปขอเงินเพิ่มจากประชาชน
5
และสอง การปฏิรูปด้านรายได้ ซึ่งก็มีสองมิติใหญ่ๆ
มิติแรก คือการทำให้ฐานภาษีใหญ่ขึ้น ผมคิดว่าหนึ่งในสาเหตุที่รายได้ภาษีต่อ GDP ของเราลดลง ก็เพราะความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของเราลดลง เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ขึ้น คนหลบเลี่ยงภาษีมีมากขึ้น นึกภาพบริษัทที่แจ้งสรรพากรว่าขาดทุนตลอด แต่เจ้าของร่ำรวย ร้านค้าที่รับแต่เงินสดเท่านั้น หรือแม่ค้าออนไลน์ที่ออกมาบ่นตอนต้องเสียภาษี
3
รัฐควรลงทุนกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น สนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าระบบ การขยายฐานภาษีน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐโดยไม่ต้องปรับอัตราภาษีด้วยซ้ำ
2
แต่ถ้าไม่พอ ก็คงต้องปฏิรูปอัตราภาษีกันทั้งระบบ จริงๆน่าคิดนะครับ ว่าเราควรมองไปถึงการปรับภาษีอื่นอีกหรือ เช่น ภาษีคาร์บอน ภาษีความมั่งคั่ง อย่างภาษีที่ดิน หรือภาษีมรดก หรือแม้แต่ธุรกิจที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่เราตามเก็บภาษียาก เช่น digital tax หรือภาษีจาก platform ต่างๆ
ทีนี้คำถามคือแล้วภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เป็นข่าวละ จำเป็นต้อง 15/15/15 ไหม?
แม้จะฟังดูง่ายดี แต่คำตอบสั้นๆง่ายๆเลยคือไม่ต้องครับ ไม่มีอะไรที่บอกว่าเราควรจะมีอัตราภาษีเท่ากันหมด และอัตราภาษีไม่จำเป็นต้องเท่ากับประเทศอื่น
2
ระดับอัตราภาษีขึ้นอยู่กับขนาดและภารกิจของรัฐ โดยเปรียบเทียบแล้วรัฐไทยมีขนาดเล็กกว่าประเทศในยุโรป ที่มีภารกิจเรื่องรัฐสวัสดิการที่ใหญ่กว่าเราเยอะ คนในประเทศเขายอมจ่ายภาษีเยอะเพื่อแลกกับสวัสดิการที่ได้จากรัฐ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่มีโอกาสปรับขึ้นค่อนข้างมาก เพราะอัตราภาษีเราอยู่ค่อนข้างต่ำ ต่ำกว่าอัตรา 10% ที่เราตั้งใจว่าจะเก็บเมื่อสามสิบปีที่แล้วเสียอีก
ด้วยสถานการณ์ การปรับขึ้นคงจะหลีกเลี่ยงยาก ทุกๆ 1% ที่เพิ่มสร้างรายได้ให้รัฐเกือบๆแสนล้าน แต่ก็มีผลกระทบต่อการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนอยากแตะ และเราก็ต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่มมาอย่างต่อเนื่องเกือบๆสามสิบปี
2
เราเห็นประสบการณ์อย่างญี่ปุ่น และสิงคโปร์ที่เพิ่งจะขึ้นภาษีไปไม่นาน การบริโภคเร่งตัวขึ้นก่อนมีการขึ้นภาษีและชะลอตัวลงอย่างชัดเจนหลังการขึ้นภาษี
2
ถ้าจะขึ้นไปถึง 15% นี่อาจจะโหดไปหน่อยและมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจถดถอยเลยทีเดียว
หากเราจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมคิดว่าควรจะค่อยๆขึ้น มีการสื่อสารอย่างชัดเจน และมีมาตรการลดผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น มีกลไกคืนภาษีส่วนเพิ่มให้กับคนรายได้น้อย เพราะคนรายได้น้อยมีสัดส่วนของการบริโภคต่อรายได้สูง ย่อมจะได้รับภาระจากการขึ้นภาษีมากกว่าคนรวย
ถ้าทุกวันนี้ เราสะสมแต้มในร้านสะดวกซื้อได้ ผมคิดว่าเราก็น่าจะสะสมแต้มภาษี vat และคืนเงินส่วนเพิ่ม เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาระภาษีได้
3
ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในประเทศจริงๆ เพราะถ้าอัตราภาษีของเราสูงกว่าประเทศอื่นมากๆ อาจจะทำให้บริษัทต่างๆหนีไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศอื่น
แต่นั่นอาจจะเป็นปัญหาของเราเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยอยู่ที่ 30% ปัจจุบันที่ลดลงมาเหลือ 20% แล้วปัญหานั้นน่าจะหายไปเยอะ
ยิ่งมี global minimum tax แปลว่าอัตราภาษีที่แท้จริงของบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศจะไม่ต่ำกว่า 15% อาจจะไม่มีเหตุผลที่เราต้องตามลงไป match ด้วยซ้ำ ถ้าอยากจะลด เราอาจจะมองถึงประเทศที่น่าจะคู่แข่งตรงของเรา เช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่่ 17% เพราะสุดท้ายแล้ว อัตราภาษี ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่เอกชนเลือกตั้งประเทศในการตั้งบริษัท เรื่องอื่นๆเช่นกฎระเบียบ ระดับการคอร์รัปชั่น การบังคับใช้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ความยากง่ายของบัญชี ภาษี และความพร้อมของบุคลากร ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
และคงต้องถามว่าเราอยากจ่ายเท่าไรเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสามารถในการแข่งขัน” นี้ การลดภาษีจาก 20% ไป 15% อาจจะทำให้เราเสียรายได้ไปเกือบสองแสนล้านบาทต่อปี เราอาจเสียรายได้ขนาดนั้นหรือไม่? หรือจะไปแค่ครึ่งทาง? หรือมีมาตรการอะไรจะทำให้รายได้เราเพิ่มขึ้นได้?
1
ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี่ยากกว่ากันเยอะ เพราะอัตราภาษีเป็นแค่ส่วนเดียว มีชิ้นอื่นๆอีกเยอะ เช่น ประเภทรายได้ การหักลดหย่อน และการยกเว้น
หากมีแนวคิดจะใช้ภาษีอัตราเดียว (flat tax) ก็คงต้องกลับมาถามว่าแล้วเราจะใช้มาตรการอะไรเพื่อทำหน้าที่การกระจายรายได้ (เช่นเพิ่มภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีความมั่งคั่งหรือเปล่า) เพราะปัจจุบันอัตราภาษีขั้นบันไดแบบก้าวหน้าเป็นกลไกสำคัญ ถ้าทุกคนเสียอัตราเท่ากันหมด จะทำให้คนรวยจ่ายภาษีน้อยลงเมื่อเทียบกับรายได้ การหักลดหย่อนจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือต้องมีกลไกอย่าง negative income tax เข้ามาร่วมหรือไม่
เพราะภาษีมีหน้าที่หลายอย่าง ทั้งเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล สร้างแรงจูงใจ หรือปรามการบริโภคสินค้าบางชนิด แก้ปัญหา externality ไปถึงการรักษาความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น และบทบาทในการกระจายทรัพยากร รายได้ และความมั่งคั่ง การปฏิรูปภาษีจึงควรต้องมองทั้งระบบ
สรุปแล้วผมว่ามีสามเรื่องที่เราควรทำ ซึ่งอาจจะทำไปพร้อมๆ กันก็ได้
หนึ่ง ปฏิรูปฝั่งรายจ่าย ลดขนาดของรัฐ และลดการรั่วไหลจากความไม่มีประสิทธิภาพและการคอร์รัปชั่นอย่างเต็มที่ หากยังมีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มก็สื่อสารกับประชาชนถึงความจำเป็น
6
เพราะถ้าประชาชนไม่มั่นใจว่าเงินภาษีของเขาถูกเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ก็ไม่มีใครอยากจ่ายภาษีหรอก
สอง พยายามปฏิรูปฝั่งฐานภาษี และต้องทำให้แน่ใจว่ามีการบังคับใช้กฎหมายและใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพของการเก็บภาษี และลดการหลบเลี่ยงภาษี
1
เราต้องทำให้คนเชื่อว่า “nothing is certain but death and taxes”!
สาม ควรทำการศึกษาผลกระทบของการขึ้นภาษีอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องภาระของภาษีส่วนเพิ่ม ต้นทุนและผลกระทบด้านอื่นๆอย่างรอบด้าน
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เวลาเปลี่ยนอะไรก็ตามคำถามคือใครจะเป็นคนจ่าย และใครควรเป็นคนจ่าย ครับ
โฆษณา