8 ธ.ค. เวลา 11:05 • การเมือง

ที่มาของปัญหาเศรษฐกิจ

ถ้าการบิดเบือนธรรมชาติทำให้เกิดภัยพิบัติฉันใด การบิดเบือนกลไกตลาดทางเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจฉันนั้น และด้วยเหตุนี้เองทำให้นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมไม่สนับสนุนการแทรกแซงใดๆ ของรัฐบาลที่จะไปบิดเบือนตลาด (laissez-faire)
หลังจากที่ผมนั่งคิดตรึกตรองถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ถ้าไม่นับวิกฤตที่เกิดจากสงคราม ภัยธรรมชาติ (รวมโรคระบาด) หรือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ พบว่าสามารถจัดกลุ่มของสาเหตุของปัญหาได้ 4 กลุ่ม
1. ปัญหาที่เกิดจากการเก็งกำไรในระบบเศรษฐกิจ
วิกฤตการเงินที่เกิดจากพฤติกรรมการเก็งกำไรเกิดจากความต้องการที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการพื้นฐานอย่างแท้จริง แต่เป็นความต้องการเพื่อหวังกำไร (speculative demand) จากการซื้อถูกขายแพง ซึ่งเป็นเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจแบบสั้นๆ ทำให้เกิดความต้องการเทียมและนำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาดไปจากความต้องการที่แท้จริง
และเมื่อใดก็ตามที่ตลาดถูกบิดเบือน ก็เหมือนกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทั่วไป หากการบิดเบือนนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนธรรมชาติไม่อาจรับความไม่สมดุลนั้นได้ ตลาดก็จะพังคลืนลงมา ตัวอย่างวิกฤตที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนี้เช่น
- วิกฤตเศรษฐกิจในญี่ปุ่น (Lost Decade, 1990s)
เหตุการณ์: ในช่วงทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นประสบกับภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อมากเกินไปและการเก็งกำไรที่สูงเกินเหตุ ซึ่งในช่วงนั้นรัฐไม่ได้มีมาตรการควบคุมที่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง และปล่อยให้ความเสี่ยงสะสมมากเกินไป แสดงถึงความล้มเหลวของภาคเอกชนในการจัดการความเสี่ยง
ปัญหา: เมื่อฟองสบู่แตกในช่วงปี 1991 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ราคาที่ดินและหุ้นตกลงอย่างมาก ระบบธนาคารของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหนี้เสียจำนวนมหาศาล
ผลลัพธ์: ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับช่วงที่เรียกว่า "ทศวรรษที่สูญหาย" (Lost Decade) เศรษฐกิจถดถอยยาวนานและการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า
- วิกฤตการเงินในเอเชียปี 1997 (Asian Financial Crisis)
เหตุการณ์: ในช่วงทศวรรษ 1990 หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ได้มีการกู้เงินจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และเกิดการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุน โดยภาคเอกชนในประเทศเหล่านี้กู้ยืมเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแต่รายได้เป็นสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ถูกซ้ำเติมด้วยการที่รัฐบาลตรึงค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ภาคเอกชนมองข้ามความเสี่ยงด้านค่าเงินไป เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทจึงทำให้เกิดวิกฤตการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจตามมาทันที
1
ปัญหา: นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์และโอนเงินออกจากประเทศ ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลงอย่างทันทีทันใด หนี้สินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างทันทีเป็นจำนวนมากจนเกิดความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นเงินต่างประเทศ เกิดการล้มละลายของธุรกิจและต่อเนื่องมาที่ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้
ผลลัพธ์: วิกฤตการเงินในเอเชียลุกลามและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาค รัฐบาลและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตโดยการช่วยเหลือทางการเงิน
- ฟองสบู่ดอทคอม (Dot-com Bubble, 1997-2000)
เหตุการณ์: ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีโดยเฉพาะบริษัทอินเทอร์เน็ตในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาได้รับความนิยมอย่างสูง มีการเก็งกำไรในหุ้นของบริษัทเหล่านี้อย่างมหาศาล แม้บริษัทหลายแห่งจะไม่มีรายได้หรือแผนธุรกิจที่ชัดเจนแต่ราคาหุ้นก็ขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลและพื้นฐานรองรับ
ปัญหา: ความคาดหวังสูงเกินจริงที่มีต่อภาคเทคโนโลยีทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล เมื่อฟองสบู่แตกในปี 2000 ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างรวดเร็ว ทำให้มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีหายไปมหาศาลในทันที
ผลลัพธ์: เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและประเทศที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในเทคโนโลยีต้องเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจ นักลงทุนและบริษัทจำนวนมากสูญเสียความมั่งคั่งไปจำนวนมาก ส่งผลต่อเนื่องไปยังประชาชนทั่วไปผ่านการถดถอยของเศรษฐกิจ
- วิกฤตการเงินโลกปี 2008 (Global Financial Crisis)
เหตุการณ์: วิกฤตการเงินโลกปี 2008 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคการธนาคารและการเงิน มีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดวิกฤตด้วยการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง (subprime mortgages) ให้กับลูกค้าที่มีประวัติเครดิตไม่ดี
กิจกรรมดังกล่าวได้ถูกขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางด้วยเทคนิคทางการเงินที่ตอบสนองต่อความต้องการเก็งกำไร โดยธนาคารต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาทำการแปลงสินเชื่อเหล่านี้เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันในตลาดการเงิน โดยการขาดการตรวจสอบจากรัฐเนื่องจากภาพลวงตาอันเกิดจากกฎเกณฑ์การประเมินที่ทำให้เชื่อว่าสินทรัพย์เหล่านั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
ปัญหา: ภาคเอกชนสร้างความเสี่ยงสะสมในระบบการเงินโดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาควบคุมการออกหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ และปล่อยให้การเก็งกำไรในตลาดการเงินเติบโตเกินขอบเขต เมื่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้เริ่มสูญเสียมูลค่าที่ไม่สะท้อนจากพื้นฐานที่แท้จริง ระบบการเงินก็ล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว
ผลลัพธ์: ความล้มเหลวของตลาดการเงินทำให้ธนาคารใหญ่หลายแห่งต้องล้มละลาย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ต้องเข้ามาช่วยกู้ธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกพังทลายลง
2. ปัญหาที่เกิดจากการแทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาดของรัฐในตลาดที่ไม่บกพร่องหรือถูกบิดเบือนโดยธรรมชาติ
การแทรกแซงของรัฐที่เกินขอบเขตสามารถนำไปสู่การบิดเบือนของกลไกตลาด ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หลายประการ
ประการแรก การแทรกแซงอาจทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการกำหนดราคาหรือการให้สิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริงของตลาด
ประการที่สอง การแทรกแซงอาจทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยรัฐมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพ
ประการที่สาม การแทรกแซงอาจเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตและระบบพรรคพวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการให้สัมปทานหรือเงินอุดหนุนที่ไม่โปร่งใส และเมื่อใดก็ตามที่ตลาดถูกบิดเบือน ก็เหมือนกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทั่วไป หากการบิดเบือนนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนธรรมชาติไม่อาจจะรับความไม่สมดุลนั้นได้ ตลาดก็จะพังคลืนลงมา และแม้ไม่พังคลืนอย่างรวดเร็วเหมือนกับการเก็งกำไร แต่ก็จะทำให้ประเทศอยู่ในสภาวะกบถูกต้มและยากที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนี้เช่น
- นโยบายเศรษฐกิจแบบควบคุมของสหภาพโซเวียตและจีน
เหตุการณ์: สหภาพโซเวียตในช่วงศตวรรษที่ 20 และ รัฐบาลจีนก่อนยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนส่วนกลาง โดยกำหนดเป้าหมายการผลิต การจัดสรรทรัพยากร และการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหมด รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและจัดการทุกอย่างจากส่วนกลาง รวมถึงการควบคุมอัตราการผลิตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
ผลลัพธ์: ในโซเวียต การแทรกแซงนี้ทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง การขาดตลาดเป็นเรื่องปกติ สินค้าไม่ได้ถูกผลิตตามความต้องการของประชาชน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง และท้ายที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญในการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
ในจีน ผลจากการควบคุมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดของรัฐทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงก่อนการปฏิรูปไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่น การขาดแคลนสินค้า การขาดการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประชากรต้องเผชิญกับความยากจน และการขาดแคลนทรัพยากร การแทรกแซงของรัฐทำให้ตลาดขาดการยืดหยุ่นและขาดแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- นโยบายเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในช่วงทศวรรษ 2000
เหตุการณ์: ในช่วงปี 2001 อาร์เจนตินาประสบปัญหาวิกฤตหนี้สินที่เกิดจากการแทรกแซงของรัฐและการควบคุมค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินากับดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลอาร์เจนตินาใช้วิธีควบคุมค่าเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและป้องกันการเฟ้อ
ผลลัพธ์: การควบคุมนี้ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากทำให้ประเทศสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ ตลาดการเงินตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก ทำให้เกิดการล่มสลายของระบบการเงินในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง อัตราการว่างงานพุ่งสูง และเงินเฟ้อควบคุมไม่ได้
- นโยบายควบคุมราคาสินค้าในเวเนซุเอลา
เหตุการณ์: รัฐบาลของเวเนซุเอลาในช่วงที่ Hugo Chávez และ Nicolás Maduro เป็นประธานาธิบดี ได้ดำเนินนโยบายควบคุมราคาสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร น้ำมัน และยา เพื่อทำให้สินค้ามีราคาถูกสำหรับประชาชน
ผลลัพธ์: นโยบายควบคุมราคานำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนสินค้า ผู้ผลิตไม่มีแรงจูงใจในการผลิตเพราะกำไรลดลง สินค้าหลายชนิดไม่สามารถหาได้ในตลาดทั่วไป การขาดแคลนอาหารและยาเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศ ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่และสังคมเวเนซุเอลาตกอยู่ในความยากลำบากอย่างรุนแรง
- นโยบายเศรษฐกิจแบบ New Deal ของสหรัฐอเมริกาในบางด้าน
เหตุการณ์: หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1929 ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ได้ริเริ่มโครงการ New Deal ซึ่งเป็นชุดของมาตรการแทรกแซงเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมตลาดและการสร้างงานผ่านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
ผลลัพธ์: ในขณะที่ New Deal มีบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายด้าน แต่บางนโยบายกลับทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เช่น National Industrial Recovery Act (NIRA) ที่กำหนดมาตรฐานการผลิตและการควบคุมค่าจ้างและราคา การควบคุมเชิงลึกนี้ทำให้ตลาดขาดความยืดหยุ่น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1930 ช้าลงไปมากกว่าที่ควรจะเป็น
- การควบคุมราคาข้าวในประเทศไทย (ปี พ.ศ. 2554-2557)
เหตุการณ์: รัฐบาลไทยในช่วงเวลานั้นได้ริเริ่มโครงการรับจำนำข้าว โดยเสนอราคาที่สูงกว่าราคาตลาดให้กับชาวนาเพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
ผลลัพธ์: การรับจำนำข้าวทำให้รัฐบาลต้องรับซื้อข้าวจำนวนมหาศาลจนเกินความสามารถในการจัดการ และไม่สามารถขายข้าวในตลาดโลกได้ในราคาที่คุ้มทุน ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น และไม่เกิดการจัดการทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
จะเห็นได้ว่า การบิดเบือนกลไกตลาดล้วนนำไปสู่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หน้าที่ของรัฐคือ ทำให้ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาปัจจัยการผลิตเป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด ซึ่งธรรมชาติดังกล่าวคือ การแข่งขันอย่างเสรีแต่เป็นธรรม ไม่เกิดการได้เปรียบระหว่างผู้แข่งขันไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด แล้วรัฐคอยช่วยเหลือคนที่เปราะบาง และธุรกิจที่เปราะบางให้สามารถเข้าสู่ตลาดที่แข่งขันอย่างเสรีได้
และหากใครก็ตามที่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องบาดเจ็บจากการแข่งขัน หน้าที่ของรัฐก็คือการพัฒนาให้เขาหรือธุรกิจนั้นกลับมาเข้มแข็งและพร้อมกลับเข้าไปแข่งขันใหม่ ไม่ใช่การช่วยโดยการบิดเบือนกลไกตลาดซึ่งไม่สร้างความเข้มแข็งใดๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจหรือแม้แต่ประชาชนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ
3. ปัญหาที่เกิดจากศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจ
ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของทุกประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงเป็นพื้นฐานของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง การมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง การลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และยังช่วยลดปัญหาสังคม เนื่องจากประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงจะมีรายได้สูง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ
อีกทั้งรัฐบาลสามารถเก็บภาษีไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคมได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญเช่น
- รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร
ประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่ำจะมีประชากรส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ส่งผลให้ GDP ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ
- การขาดดุลการค้า
ประเทศที่ขาดแรงงานที่มีทักษะสูงหรือเทคโนโลยีที่พัฒนาอาจไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่ไม่สามารถส่งออกสินค้าของตนไปทดแทนได้เท่าที่ควร เพราะเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มต่ำ ไม่ได้ราคาในตลาดโลก ส่งผลให้เกิดการขาดดุลทางการค้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรหรือทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวคุณภาพต่ำ แต่ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือบริการที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
- ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน
เมื่อรายได้น้อยแต่ความต้องการบริโภคมีมาก ทำให้ต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค หากระบบเศรษฐกิจเป็นระบบที่ส่งเสริมการกู้ยืมเพื่อการบริโภคโดยไม่พิจารณาความสามารถในการชำระคืนหรือพิจารณาอย่างไม่เข้มข้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ยืมเพื่อการบริโภค โดยคิดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการผลิตมากเกินสมดุล หนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นการย้อนกลับเชิงลบ เพราะคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจะมีประสิทธิภาพแรงงานต่ำตามภาวะทางจิตใจ
- การลงทุนในประเทศต่ำ
เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการผลิต การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงจะลดแรงจูงใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ทำให้ดึงดูดมูลค่าการลงทุนได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความตกต่ำของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์นั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการมีระบบการศึกษาที่ผูกโยงกับระบบราชการที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ การบังคับใช้กระบวนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการโดยขาดการแข่งขันและความคิดสร้างสรรในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการบิดเบือนกลไกตลาดในด้านการศึกษา
แต่เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีปัญหา ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็ถูกส่งต่อไปเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจในที่สุด
4. ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ
ในโลกปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพึ่งพาเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เช่น การประท้วง ความขัดแย้ง หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน แต่ยังสร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อระบบเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ได้แก่
1) เกิดความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย
ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมักทำให้รัฐบาลขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน นโยบายระยะยาว การปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจถูกเลื่อนออกไปหรือเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดการเปลี่ยนข้างทางการเมือง
2) ลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศล้วนแต่ต้องการความมั่นคงทางการเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงของนโยบายที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับการทำธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองบ่อยครั้งจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้น้อยลง และเนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนจากต่างประเทศที่น้อยลงจึงนำมาสู่การพัฒนาประเทศที่ช้าลงด้วย
3) เพิ่มความเสี่ยงในตลาดเงิน
ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองสร้างความผันผวนในตลาดการเงิน เช่น ค่าเงินที่อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนย้ายทุนออกจากประเทศ และการลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งล้วนแต่นำมาซึ่งต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้มากขึ้น
4) เกิดการไหลออกของทรัพยากรมนุษย์และเงินทุน
ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองทำให้บุคลากรที่มีความสามารถทั้งในระดับคนทำงานและผู้ประกอบการย้ายไปยังประเทศที่มีเสถียรภาพมากกว่า
หากทำได้ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว รัฐจะทำงานได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และเหลือภารกิจที่ต้องเข้าไปแทรกแซงเพียงไม่กี่กรณี ที่สำคัญเช่น
1. ตลาดที่มีความบกพร่องหรือถูกบิดเบือนโดยธรรมชาติ เช่น ตลาดผูกขาดโดยธรรมชาติ (natural monopoly) ตลาดของสินค้าสาธารณะ (public goods market) ตลาดของสินค้าที่มีผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบ (externalities) ตลาดที่มีข้อมูลไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบจากข้อมูลที่ไม่เท่ากัน (imperfect information) ตลาดที่ปัจจัยการผลิตเคลื่อนย้ายได้ไม่สมบูรณ์ (factor immobility)
 
2. ตลาดที่มีความอ่อนไหวและหากมีปัญหาจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ตลาดเงิน
3. เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้วปล่อยให้ตลาดปรับตัวเองอาจนำไปสู่ความเสียหายที่รุนแรงกว่าเดิม (อย่างไรก็ตาม หากประเทศใดมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยืดหยุ่น อันเนื่องมาจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ดี วิกฤตเศรษฐกิจมักไม่ได้มาจากในประเทศแต่อาจมาจากต่างประเทศ)
4. การให้ความช่วยเหลือทางสังคม นอกจากการจัดการเศรษฐกิจ รัฐยังมีบทบาทในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน และการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากภายนอกตลาด เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือการระบาดของโรค โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล การลงทุนในกิจการที่จำเป็นแต่เอกชนยังไม่สนใจเข้าไปลงทุน ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าหากรัฐไม่แทรกแซงอาจทำให้ปัญหาบางอย่างเลวร้ายลงหรือประชาชนในสังคมไม่ได้รับการช่วยเหลือตามที่จำเป็น
ประเทศใดก็ตามที่นำแนวคิดดังกล่าวไป implement ประเทศนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบราชการที่ใหญ่โต เทอะทะ ไม่ต้องเสียเงินภาษีจำนวนมหาศาลไปกับการปฏิบัติงานที่ไม่มีประโยชน์และไม่มีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม ประเทศจะมีรายได้จำนวนมากขึ้นจากภาษีที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำมาพัฒนาประเทศชาติและสังคมที่นำมาซึ่งความสุขและความเจริญก้าวหน้าของประเทศและประชาชนโดยรวมได้อย่างเต็มที่
โฆษณา