8 ธ.ค. 2024 เวลา 13:37 • ข่าวรอบโลก

ทำไมอัสซาดถูก “โค่นอำนาจ” ในเวลาอันรวดเร็ว

หลังจากตัวเขาปกครองซีเรียมานานกว่า 2 ทศวรรษ ต่อจากพ่อของเขาก่อนหน้า 3 ทศวรรษ รวมเป็นกว่า 50 ปีที่ตระกูลอัสซาดปกครองซีเรีย
1
ช่วงกลางดึกของวันที่ 8 ธันวาคม 2024 ตามเวลาท้องถิ่น กองกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดได้บุกเข้าไปยึดกรุงดามัสกัสได้เป็นที่สำเร็จ แล้วมีการประกาศว่า “ซีเรียหลุดพ้นจากระบอบของอัสซาดแล้ว” กองบัญชาการปฏิบัติการทางทหารโพสต์บนเทเลแกรมว่า “เราขอประกาศว่าเมืองดามัสกัสเป็นอิสระจากจอมเผด็จการบาชาร์ อัล-อัสซาด” ก่อนหน้านี้กลุ่มต่อต้านอ้างว่าสามารถบุกเข้าไปในเมืองหลวงและบุกยึดเรือนจำทหาร Saydnaya ที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ทางเหนือของกรุงดามัสกัสได้ [1]
กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดหลังเข้าบุกยึดดามัสกัสได้ก็ออกประกาศแถลงถึง การสิ้นสุดระบอบปกครองของอัสซาด ผ่านรายการออกอากาศสดทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐซีเรีย เมื่อ 8 ธันวาคม 2024 เครดิตภาพ: Oneindia
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากกองกำลังต่อต้านรัฐบาลอัสซาดที่มีอาวุธครบครันและมีการวางแผนมาอย่างดีซึ่งนำโดยกลุ่ม Hayat Tahrir al-Sham (HTS) เข้ายึดเมืองอเลปโปได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองสำคัญๆ ของซีเรียทั้งหมดก็ถูกยึดครองอย่างรวดเร็ว
1
ในขณะเดียวกันทางตอนเหนือ กองกำลังที่ชื่อ Syrian National Army (SMO – ตุรกีสนับสนุน) เข้ายึดเมืองเทลริฟาตได้ และขณะนี้มีรายงานว่ากำลังรวมกลุ่มกันรอบเมืองมานบิจเพื่อขับไล่กลุ่ม YPG/PKK (กองกำลังชาวเคิร์ดที่อเมริกาสนับสนุน) ออกจากที่นั่นเช่นกัน [2]
สถานการณ์ที่คืบหน้าไปทิศทางดังกล่าวย่อมส่งผลดีต่อตุรกีอย่างแน่นอน เนื่องจากตุรกีให้ความสำคัญสูงสุดกับซีเรียในการกำจัดภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่เกิดจากกลุ่ม YPG/PKK และการส่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลับประเทศของตน และแม้ว่าอังการาจะปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ แต่หลายคนเชื่อว่าปฏิบัติการนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่มีตุรกีเข้ามาเกี่ยวข้อง
2
ในแถลงการณ์ล่าสุด “ฮาคาน ฟิดาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกียืนยันความสัมพันธ์ของตุรกีกับกลุ่มต่อต้านซีเรียตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) และกลุ่ม YPG/PKK ซึ่งพวกเขามองว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” และตุรกีได้ริเริ่มปฏิบัติการล่าสุดนี้ด้วยตนเอง โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น [3]
ทางการของตุรกีระบุว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายและการตัดสินใจของอัสซาดเอง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าอัสซาดจะได้รับการต้อนรับกลับเข้าสู่สันนิบาตอาหรับ แต่เขาก็แทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขข้อกังวลของเพื่อนบ้านอาหรับเลย นอกจากนี้ยังมีการคอร์รัปชันที่แพร่หลายในซีเรียยังส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอย ส่งผลให้ประชากร 90% ของซีเรียต้องอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนและต้องดิ้นรนเพื่อดำรงชีวิตด้วยเงินเพียง 10-15 ดอลลาร์ต่อเดือน [4]
3
แม้ว่าความสำเร็จอันน่าทึ่งและรวดเร็วของฝ่ายต่อต้านในสนามรบนั้นเป็นผลมาจากการที่พวกเขามีการจัดองค์กรและติดอาวุธที่ดีขึ้นมากในรอบนี้ แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันที่ฐานสนับสนุนของอัสซาดเริ่มเหนื่อยล้าและขาดแรงจูงใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในประเทศ นอกจากประชากรส่วนน้อยที่ร่ำรวยขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองของซีเรียแล้ว ฐานสนับสนุนของอัสซาดส่วนใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยอลาวี/นูไซรี ก็สูญเสียชีวิตจำนวนมากและยังคงมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อไป
แรงจูงใจของพวกเขาที่จะสู้กลับในครั้งนี้จึงไม่เหลือแล้วเพราะหมดศรัทธาต่อระบอบการปกครองของอัสซาด และยังเป็นความกลัวการตอบโต้จากกลุ่มนักรบฝ่ายต่อต้านซึ่งมีพวกที่เรียกตัวเองว่าญิฮาดอยู่ด้วยจำนวนมาก
ชนกลุ่มน้อยอลาวีที่สนับสนุนอัสซาด เครดิตภาพ: AFP
  • กระบวนการทางการทูตที่ไม่ลงตัว
ในขณะเดียวกันพันธมิตรในการประชุมสุดยอดที่อัสตานาเมื่อเดือนก่อน คือ รัสเซีย-อิหร่าน-ตุรกี ซึ่งทำงานร่วมกันตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อแบ่งเขตอิทธิพลภายในซีเรีย กำลังขัดแย้งกันอย่างชัดเจนในตอนนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “อับบาส อาราฆชี” รัฐมนตรีการต่างประเทศอิหร่านได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้อย่างชัดเจนว่าเป็นปฏิบัติการที่เรียกว่า “ทักฟีริสต์” (เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง การขับไล่ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งออกจากศาสนา หรือกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับฟิดาน (รมต.ต่างประเทศตุรกี) ในกรุงอังการาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และกล่าวโดยอ้อมว่าตุรกีสมคบคิดกับพวกเขาเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพวกเขา [5]
หลังจากละหมาดวันศุกร์ในอิสตันบูล ประธานาธิบเออร์โดกันของตุรกีกล่าวว่า “เป้าหมายคือ อิดลิบ ฮามา โฮมส์ และแน่นอนว่าดามัสกัส เราหวังว่าการเคลื่อนทัพของฝ่ายต่อต้านซีเรียจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีเหตุไม่คาดฝันใดๆ” นอกจากนี้ในวันศุกร์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิรัก อิหร่าน และซีเรียได้ประชุมไตรภาคีในกรุงแบกแดด โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอิรักกล่าวว่าขณะนี้ประเทศของเขากำลังพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการแทรกแซงในซีเรียเพื่อช่วยเหลืออัสซาด [6][7]
1
เครดิตภาพ: X @redstreamnet
และในวันเสาร์และอาทิตย์นี้ (7-8 ธันวาคม) รัฐมนตรีการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องยังได้ประชุมกันอีกครั้งที่โดฮาเพื่อหารือเกี่ยวกับการเคลื่อนพลอย่างรวดเร็วของกลุ่มต่อต้านในซีเรีย ขณะเดียวกันคาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสันนิบาตอาหรับจะพบกันในกรุงไคโรตามคำร้องขอของรัฐบาลดามัสกัส (ไม่ทันแล้ว ดามัสกัสถูกตีแตกแล้ว)
  • กลุ่มก่อการร้ายชุบตัวหรือ “รีแบรนด์”
การรุกคืบอย่างรวดเร็วทำให้ HTS ได้รับความสนใจอีกครั้ง ซึ่ง HTS อยู่ในรายชื่อองค์กรก่อการร้ายของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2018 และถูกตุรกี สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ อีกหลายประเทศกำหนดให้เป็นเช่นนั้น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาชาติตะวันตกโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักได้พยายามอย่างหนักเพื่อนำเสนอกลุ่มนี้ว่าเป็นองค์กรอิสลามสายกลางที่ตัดขาดความสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้มีการกล่าวหาว่าอเมริกาและชาติตะวันตกมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ [8]
1
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา CNN ได้สัมภาษณ์อาบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี ผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่ขับเคลื่อนกองกำลังฝ่ายต่อต้านในซีเรีย ซึ่งในที่สุดก็ได้เปิดเผยชื่อจริงของเขาว่า อาเหม็ด อัล-ชารา ซึ่งเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยตั้งเงินค่าหัวไว้ 10 ล้านดอลลาร์
ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ อัล-โจลานีกล่าวว่ากลุ่มของเขามีแผนที่จะจัดตั้งรัฐบาลในซีเรียโดยอาศัยสถาบันและสภาที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน นอกจากนี้เขายังให้คำมั่นกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชนกลุ่มน้อยว่าพวกเขา “ไม่ควรกลัวการปกครองแบบอิสลาม” และกล่าวว่าคริสเตียนและกลุ่มชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จะปลอดภัย [9]
อาบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี ผู้นำกลุ่ม HTS ที่เคลื่อนทัพบุกเข้าดามัสกัส ภาพถ่ายเมื่อปี 2023 เครดิตภาพ: AFP
คำกล่าวเหล่านี้บ่งชี้ว่าอาจมีข้อตกลงและการจัดการแบบเดียวกับ “อัฟกานิสถานโมเดล” กลุ่ม HTS กำลังมองหาตำแหน่งของตนเองในรัฐบาลซีเรียในอนาคตอย่างชัดเจน บางทีอาจถึงขั้นดำรงตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลด้วยซ้ำ เมื่อสามารถโค่นล้มรัฐบาลเดิมของอัสซาดได้สำเร็จ พวกเขาก็อาจยุบกลุ่มและจัดตั้งกลุ่มใหม่ภายใต้ชื่ออื่น เช่นเดียวกับที่กลุ่ม YPG เปลี่ยนชื่อเป็น Syrian Democratic Forces (SDF) ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายอเมริกา
1
แม้ว่าอิทธิพลของอิหร่านในซีเรียจะลดลง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับประเทศอาหรับหลายประเทศ แต่บางประเทศก็กังวลอย่างยิ่งต่อการเติบโตของกลุ่ม HTS และกลุ่มอิสลามิสต์อื่นๆ เข้ามาแทนที่ในซีเรีย สำหรับอิสราเอลเองพวกเขาคงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จุดยืนของอิหร่านในซีเรียดูไม่มีเสถียรภาพแล้ว และอาจมั่นใจพอสมควรว่าฝ่ายต่อต้านซีเรียจะไม่เข้ามาแทรกแซงสงครามในฉนวนกาซาและนโยบายเลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ แต่ก็ไม่มีการรับประกันว่าฝ่ายต่อต้านอัสซาดในซีเรียจะนิ่งเฉยต่อไปในอนาคต
1
อ่านบทความเกี่ยวกับ “ท่าทีปัจจุบันของอิหร่านในซีเรีย” ที่ทางเพจได้เคยลงไว้ก่อนหน้านี้ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
  • ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้
กลุ่มติดอาวุธจำนวนมากในซีเรียตอนเหนือ ตามแนวชายแดนทางใต้ของตุรกี ซึ่งรวมถึงกลุ่มต่างๆ เช่น YPG, HTS, SMO และแม้แต่ IS น่าจะยังคงอยู่และสร้างปัญหาวุ่นวายในซีเรียกันต่อไป
ในขณะที่ชาติตะวันตกถือว่า YPG เป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับ IS โดยให้การฝึกอบรมและจัดหาอุปกรณ์ให้กับกลุ่มชาวเคิร์ด ตุรกีกลับมองว่า YPG เป็นส่วนขยายขององค์กรก่อการร้าย PKK หลังจากการโจมตีที่นำโดย HTS
กลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ด YPG ก็มีความกังวลว่าตุรกีจะดำเนินการอย่างไร และตุรกีสามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากอเมริกาได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่น่าสนใจคือ YPG และอัสซาดเคยมีการติดต่อและร่วมมือกันมาอยู่บ้าง ซึ่งเห็นได้จากการที่ YPG ได้ก้าวเข้าสู่พื้นที่แทนที่กองทัพซีเรียซึ่งถอยทัพไปแล้ว
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในซีเรียต่อไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายที่สามคืออะไร และฝ่ายคู่กรณีหลักที่ทำสงครามในพื้นที่จะดำเนินการอย่างมีเหตุผลหรือไม่ การเจรจาต่อรองเบื้องหลังอาจกำหนดได้ว่าซีเรียในยุคหลังการปกครองของอัสซาดจะเป็นอย่างไร และไม่ว่าตุรกีจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้หรือไม่ ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าพวกเขาจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์ในซีเรียส่งผลกระทบโดยตรงต่อตุรกี
เรียบเรียงโดย Right Style
8th Dec 2024
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Omar Haj Kadour / AFP>
โฆษณา