9 ธ.ค. เวลา 02:28 • ข่าว

คดี "ดิ ไอคอน" ส่งอัยการ 25 ธ.ค. จ่อเอาผิดทนายขู่พยาน "สามารถ" ส่อโดนอีกคดี

ดีเอสไอเตรียมสรุปสำนวนคดีดิ ไอคอน ส่งให้อัยการคดีพิเศษวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ระหว่างนี้เปิดโอกาสให้บรรดาบอสส่งหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา พบเริ่มทยอยส่งมาบ้างแล้ว ส่วนบอสกันต์ และบอสแซม ส่งหนังสือชี้แจงให้การปฏิเสธข้อหาทั้งหมด อ้างเกี่ยวข้องเพียงในส่วนการว่าจ้างเท่านั้น “ดีเอสไอ” จะจัดทำ QR CODE ให้พยานที่ถูกข่มขู่ยืนยันตัวตน หลังถูกทนายความบอส ดิ ไอคอน ขู่จะดำเนินคดี
เพื่อนำไปยื่นต่อศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วย ด้านรอง ผบช.ก.เผยสามารถอาจโดนแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 คดี หลังพบเส้นเงิน 2 ล้านในบัญชีธนาคาร เกี่ยวข้องกับบริษัทขายซิมการ์ดและตู้เติมเงิน ก่อนจะขอยืมรถตู้ โตโยต้า อัลพาร์ด ไปใช้ไม่ยอมคืน ซ้ำยังพบพฤติการณ์ส่งลิงก์ภาพข่าวขณะอยู่กับผู้ใหญ่ไปให้กับบรรดา บ.แชร์ลูกโซ่ เพื่อให้เกิดความกลัวจะถูกตรวจสอบ จนต้องยอมจ่ายเงินรายเดือนให้
ดีเอสไอ เตรียมสรุปสำนวนคดี ดิ ไอคอน กรุ๊ป ส่งอัยการ เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีพิเศษที่ 119/2567
กรณีการดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก หรือแชร์ลูกโซ่ ดิ ไอคอน ว่า สำหรับกรอบเวลา 15 วัน ที่ดีเอสไอเปิดให้บรรดา 18 บอสดิ ไอคอน ทยอยส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก่อนสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ ทราบว่าผู้ต้องหาในส่วนของผู้บริหารทยอยนำส่งมาบ้างแล้ว ส่วนบอสดารา คือ นายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม ยื่นหนังสือชี้แจงประกอบ ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาแล้วเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบเรื่องตรวจทานรายละเอียดการแก้ข้อกล่าวหาจะรวบรวมไว้ประมวลประกอบการพิจารณา เนื้อหาภายในยังคงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมอธิบายว่าตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องเพียงในส่วนของการทำหน้าที่รับจ้างเท่านั้น ส่วนกรณีที่บอสกันต์ จะอธิบายถึงสาเหตุที่เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด อย่างไรนั้น ดีเอสไอรับฟังทั้งหมด แต่ต้องนำมาดูประกอบกับพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดของพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม ยังมีพยานของฝั่งผู้ต้องหาแต่ละรายที่เข้ามาให้ปากคำดีเอสไอ
เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วยเช่นกัน ยืนยันว่าดีเอสไอรับฟังความของทุกฝ่าย ส่วนกรอบเวลาการเตรียมสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ ยังคงตามกำหนดการเดิม คือภายในวันที่ 25 ธ.ค. และในระหว่างนี้จะยังไม่มีการเข้าไปสอบปากคำบรรดาผู้ต้องหาในเรือนจำเพิ่มเติม แต่จะเน้นไปที่การสอบปากคำพยานของผู้ต้องหา สำหรับการทำสำนวนคดี 119/2567 นี้ ที่ผ่านมาดีเอสไอเชิญพนักงานอัยการมาร่วมเป็นที่ปรึกษาคดี ทำให้หลังจากนี้หากสำนวนของดีเอสไอครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะนัดประชุมกับพนักงานอัยการในเร็วๆนี้
พ.ต.ต.วรณันกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ก่อนหน้านี้ปรากฏข่าวมีคลิปเสียงของทนายความผู้ต้องหาบางราย พูดคุยในกลุ่มลับครอบครัว ดิ ไอคอน ในลักษณะข่มขู่ถึงผู้ที่ไปแจ้งความกับบริษัท ว่า บริษัทจะพิจารณาดำเนินคดีกับตัวแทนที่ไปแจ้งความ ต่อมาภายหลังทนายความไปออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งรับว่าเป็นเสียงของตนเองและชี้แจงสาธารณะว่าการข่มขู่ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่เป็นความผิดอาญานั้น
กรณีที่เกิดขึ้นที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่าเมื่อมีบุคคลใดมาให้การเป็นพยานในคดีอาญากับพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องดำเนินการให้พยานได้รับการปกป้องตามกฎหมาย
ทราบว่าขณะนี้กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ อยู่ระหว่างจัดทำระบบรับแจ้งข้อมูลเบาะแสจากผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการกระทำดังกล่าวผ่านระบบ QR Code ที่จะนำไปแสดงบนหน้าเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th
เพื่อให้ผู้เสียหายแจ้งเรื่องยืนยันตัวตนเข้ามา คาดว่า QR Code จะแล้วเสร็จในวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. ส่วนความสำคัญของระบบดังกล่าวนี้ ดีเอสไอจะสามารถใช้ข้อเท็จจริงของผู้เสียหายที่แจ้งเรื่องเข้ามา เพื่อพิจารณาประเด็นการเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ หากมีประเด็นที่จะต้องใช้อธิบายต่อศาลถึงพฤติการณ์ ดีเอสไอจะสามารถใช้ยื่นประกอบการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวได้
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวด้วยว่า ความคืบหน้าของสำนวนคดี 119/2567 จนถึงขณะนี้คืบหน้าไปแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ดีเอสไอยื่นขยายเวลาขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 5 และจะยื่นฝากขังต่อในครั้งที่ 6 ส่วนความคืบหน้าในคดีพิเศษที่ 115/2567 กรณีการฟอกเงินทางอาญาของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด
เบื้องต้นมีผู้ต้องหา 3 ราย คือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล นางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ และนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างขยายผลดูเรื่องปลายทางของเงินในบัญชีของผู้ต้องหาว่ามีการจำหน่าย จ่าย โอน ไปยังปลายทางบัญชีใครบ้าง รวมทั้งที่ประชุมยังกำชับให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบกรณีการรับโอนเงิน 500,000 บาท ระหว่างนางวิลาวัลย์ และนายกลด เศรษฐนันนท์ หรือบอสปีเตอร์ ให้ไปดูข้อเท็จจริงและหลักฐานว่า ยอดเงินนี้คือเงินอะไร มาจากแหล่งที่มาเดียวกันหรือไม่
เพื่อพิจารณาว่าจะมีความผิดร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินหรือไม่ ส่วนกรณีสังคมตั้งข้อสงสัยว่าจะมีผู้ต้องหารายใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น เน้นย้ำว่าดีเอสไอยังคงเร่งดำเนินการในส่วนของ 18 ผู้ต้องหาหลักในสำนวนคดี 119/2567 ให้เสร็จสิ้นก่อน หากสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม แล้วเห็นว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องอีกจะพิจารณาเป็นอีกหนึ่งคดีพิเศษต่อไป
ขณะที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. กล่าวถึงการขยายผลเส้นทางการเงินบัญชีของนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ว่า ชุดสืบสวนพบเส้นเงินที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ประกอบกิจการขายซิมการ์ดและตู้เติมเงินจำนวน 2 ล้านบาท อาจเข้าข่ายการกรรโชกทรัพย์ นอกจากนี้ยังพบว่ารถยนต์หรูโตโยต้า อัลฟาร์ด สีดำ ของนายสามารถ ที่ตรวจยึดได้นั้น
เมื่อตรวจสอบทะเบียนรถ กลับไม่ใช่รถของนายสามารถ แต่เป็นรถของบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เมื่อสอบถามไปยังต้นทางพบว่านายสามารถรยืมไปใช้ ต่อมาบริษัทขอคืนรถคันดังกล่าว ถึงขั้นส่งทนายความไปเจรจา แต่นายสามารถกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนให้ กรณีนี้ตำรวจประสานให้บริษัทดังกล่าวมาให้ข้อมูลในวันศุกร์ที่ 13 ธ.ค.นี้
หากพบว่ามีพฤติการณ์กรรโชกทรัพย์จริงนายสามารถต้องถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 1 คดี ทั้งนี้ จากการขยายผลของชุดสืบสวนยังพบพฤติกรรมของนายสามารถว่าเข้าหาบริษัทผู้ประกอบการต่างๆ ก่อนอ้างว่ามีคนมาร้องเรียนกับนายสามารถว่าบริษัทดังกล่าวประกอบกิจการผิดกฎหมาย เข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่และขอให้ตรวจสอบ
จากนั้นนายสามารถจะขอค่าดูแลรายเดือน ส่วนใหญ่ผู้เสียหายหรือผู้ประกอบการจะจ่ายให้ เพราะรู้สึกกลัวเนื่องจากนายสามารถมักจะส่งรูปภาพที่ไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แล้วส่งลิงก์ข่าวมาให้เพื่ออวดอ้างอำนาจบารมี เป็นต้น
โฆษณา