9 ธ.ค. เวลา 02:36 • ข่าวรอบโลก

ฝรั่งเศสการเมืองก็วุ่น ผู้คนก็ลำบาก

นิติการุณย์
มิ่งรุจิราลัย
1
สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด ‘มุมมองการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นในอารยประเทศ’ 13.00-16.00 น. 9 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่
ไทย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร แคนาดา หรือออสเตรเลีย ใช้ระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาในการปฏิบัติงาน
หากรัฐสภาไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะต้องลาออกหรือยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่
ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ บราซิล หรือสหรัฐฯ ใช้ระบบประธานาธิบดีที่มีการแยกอำนาจระหว่าง 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน
อำนาจบริหารอยู่ภายใต้ประธานาธิบดี อำนาจนิติบัญญัติอยู่กับรัฐสภา และอำนาจตุลาการอยู่ภายใต้อำนาจศาล แต่ละฝ่ายมีอิสระต่อกัน
ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทำให้มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศสูง ไม่ต้องแคร์เสียงสมาชิกรัฐสภา
รัฐสภามีอำนาจผ่านกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมีอำนาจวีโตหรือยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา
ท่านถามว่าฝรั่งเศสใช้ระบบไหน ขอตอบว่าเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี
ประเทศที่ใช้ระบบเดียวกับฝรั่งเศสมีรัสเซีย โปรตุเกส โปแลนด์ หรือศรีลังกา
ระบบกึ่งประธานาธิบดีมีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี
1
ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐที่มักเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ส่วนนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมักได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา
บทบาทของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
คนฝรั่งเศสเลือกนายเอ็มมานูแอล มาครง เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2017 ครั้งที่สองเมื่อ ค.ศ.2022
รัฐสภาฝรั่งเศสเลือกตั้งครั้งล่าสุดใน ค.ศ.2024 ทำกัน 2 รอบ รอบแรกเมื่อ 30 มิถุนายนและรอบที่สองเมื่อ 7 กรกฎาคม
พรรคที่มีสมาชิกรัฐสภามากที่สุดก็คือเอ็นเอฟพีหรือแนวร่วมประชาชนใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้าย ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ก็จริง แต่ไม่ถึงครึ่ง ทำให้ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้
พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 เป็นกลุ่มพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีมาครง
พรรคที่เป็นอันดับ 3 คือพรรค National Rally ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาจัดของมารีน เลอแปน (ได้รับคะแนนนำในรอบแรก แต่รอบสองร่วงลงมาเป็นอันดับ 3)
การเมืองฝรั่งเศสที่วุ่นวายขายปลาช่อนในตอนนี้ เพราะไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก จึงทำให้อยู่ในสถานะ Hung Parliament หรือรัฐสภาแขวน ภาวะการเมืองไม่แน่นอน
ประธานาธิบดีมาครงตั้งนายมิเชล บาร์นิเยร์ อายุ 73 ปี เป็นนายกฯฝรั่งเศสเมื่อ 5 กันยายน 2024
1
ตอนนั้นประธานาธิบดีมาครงโดนโจมตีจากฝ่ายซ้ายและประชาชนทั่วประเทศหลายแสนคน สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสไม่ดีนัก
นายกฯบาร์นิเยร์ดันใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประกันสังคมโดยไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภา
2 ธันวาคม 2024 พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและขวาของฝรั่งเศสยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทำให้นายกฯบาร์นิเยร์ยื่นใบลาออกเมื่อ 5 ธันวาคม 2024
นายบาร์นิเยร์เป็นนายกฯ ฝรั่งเศสที่ดำรงตำแหน่งสั้นมากเพียง 2 เดือน 27 วัน
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสแต่งตั้งนายกฯ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการโหวตหรือความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาก่อนการแต่งตั้ง
แต่นายกฯ ที่ตัวเองแต่งตั้งควรมาจากพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สามารถบริหารงานได้มีเสถียรภาพ
เพราะนายกฯ ต้องเสนอแผนงานและนโยบายต่อสมาชิกรัฐสภา ถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือการทำงานของรัฐบาลก็จะโดนลงมติไม่ไว้วางใจ นายกฯ ต้องลาออก
ทางเลือกของประธานาธิบดีมาครงในตอนนี้ก็คือ ต้องหานายกฯคนใหม่ หรือไม่ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ฝรั่งเศสแสดงจุดยืนสนับสนุนอูเครนและคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาสูง
นอกจากการเมืองและราคาสินค้าที่แพงลิ่วแล้ว ปัญหาที่มาแรงคือพวกซ็อง โดมีซิล ฟิกซ์ (ไม่มีที่อยู่แน่นอน) หรือเล ซ็อง ซาบรี (ไม่มีที่อยู่อาศัย)
หนูกามีย์ ป้ามารี ลุงอูโก ปู่เตโอ ต่างตะโกนกันลั่นถนนว่า
‘ออง วา ตูส มูรีย เดอ ฟรัว, บอร์เดล, มาครง!’
พวกกูจะหนาวตายกันหมดแล้วโว้ย ไอ้มาครง.
1
โฆษณา