9 ธ.ค. เวลา 02:59 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จับสัญญาณอันตราย ว่างงานพุ่ง พิษเศรษฐกิจซึมยาวถึงกลางปี 2568

“ธนิต โสรัตน์” ประเมินทิศทางการจ้างงาน ปี 2568 พบสัญญาณอันตราย หลังจากภาวะเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะค่อนข้างนิ่งยาวอย่างน้อยครึ่งปี 2568 กระทบการว่างงานพุ่งแน่ ตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงไตรมาสแรกปีหน้า
ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการจ้างงาน ปี 2568 ว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยปี 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยครึ่งปี 2568 เศรษฐกิจยังอยู่ในสภาวะค่อนข้างนิ่ง ด้วยสภาวะแบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมอัตราว่างงานไตรมาสสุดท้ายปี 2567 ไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2568 อาจมีผู้ว่างงานมากขึ้น
สำหรับภาพรวมตลาดแรงงานและการจ้างงานนั้น ดร.ธนิต ระบุว่า การขยายตัวหรือหดตัวทางเศรษฐกิจมีผลต่อตลาดแรงงานอย่างเป็นนัย หากภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดี จะทำให้เกิดการบริโภค ตามด้วยการขยายกิจการและการลงทุนส่งผลต่อเสถียรภาพการจ้างงาน
โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการจ้างงาน เช่น การขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โซ่อุปทานการส่งออกเกี่ยวข้องตั้งแต่อุตสาหกรรมนำเข้า-อุตสาหกรรมผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ รวมถึงภาคเกษตรกรรมและภาคโลจิสติกส์
นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ภาคท่องเที่ยวค้าส่ง-ค้าปลีก-ก่อสร้าง และภาคบริการ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้มีการจ้างงานผลที่ตามมาคือ การบริโภคและจับจ่ายใช้สอยของภาคแรงงาน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
ขณะที่อัตราการว่างงานนั้น จากข้อมูลตลาดแรงงานของไทย ณ เดือนตุลาคม 2567 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำ 39.63 ล้านคน โดยมีผู้ว่างงานประมาณ 3.87 - 3.9 แสนคน ซึ่งอัตราการว่างงานของประเทศ 0.97 – 1% ในจำนวนนี้ 41.3% ของผู้ว่างงานจบระดับอุดมศึกษาและสูงกว่า
อีกทั้งผู้ว่างงานใหม่ซึ่งไม่เคยทำงานมาก่อน มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของผู้ว่างงานทั้งหมดรวมกัน อัตราว่างงานของไทยอาจไม่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากยังไม่รวมผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลาเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวันจำนวนประมาณ 1.84 แสนคน คิดเป็น 0.46% ของผู้มีงานทำ
ด้านอัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ณ เดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 216,213 คนสัดส่วน 1.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 อัตราการว่างงาน 1.93% ในจำนวนนี้มีผู้ที่ว่างงานรายใหม่จำนวน 75,885 คน สูงสุดในรอบ 6 เดือน
อย่างไรก็ตามภาพรวมอัตราว่างงานไตรมาสสุดท้ายปี 2567 ไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2568 อาจมีผู้ว่างงานมากขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะนิ่ง การจ้างงานใหม่ชะลอตัว เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่องจนต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้
จากการสำรวจของสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า สถานประกอบการ ซึ่งเป็นตัวอย่าง 591 กิจการส่วนใหญ่ 52.8% ระบุว่าการจ้างงานคงเดิม ขณะที่กลุ่ม ตัวอย่างระบุว่าอาจลดจำนวนแรงงานลง 24.2% สอดคล้องกับสถานประกอบการอาจมีการปิดตัวมากขึ้น
ดร.ธนิต กล่าวว่า ในส่วนของการจ้างงานแยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 แรงงานต่างด้าว และการจ้างงานแรงงานตามคลัสเตอร์ที่สำคัญ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 : ภาวะการจ้างงานของตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัว หลังจากวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง ข้อมูลที่ชัดเจนคือการจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 11,986,943 คน ต่ำสุดในช่วง 5 เดือน ในช่วง 10 เดือน (ม.ค. - ต.ค.2567) การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพิ่มขึ้น (สุทธิ) 160,088 คน เพิ่มขึ้นคิดเป็น 1.35% ในมิติการจ้างงานสุทธิลดลง 0.49% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น
อย่างไรก็ตาม แรงงานใหม่ที่จบการศึกษาในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 มีจำนวนประมาณ 373,488 คน ส่วนใหญ่จบระดับ ปริญญาตรี 44.2% คำถามคือแรงงานส่วนที่เหลือไปอยู่ที่ไหนและแต่ละปีที่ผ่านมาจะมีแรงงานที่จบใหม่ที่ไม่มีงานสะสมอยู่เป็นจำนวนเท่าไร ตัวเลขเหล่านี้อยู่นอกสำรวจอัตราการว่างงาน
แรงงานต่างด้าว : เป็นแรงงานไร้ทักษะทำงานในอุตสาหกรรมหรือภาคบริการซึ่งใช้แรงงาน เข้มข้น ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายมีจำนวน 3,348,080 คน ในช่วง 10 เดือนที่ ผ่านมาการจ้างงาน (สุทธิ) ลดลงจำนวน 67,694 คน คิดเป็น 2%
แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา มีสัดส่วนถึง 70.25% ตามด้วยสัญชาติกัมพูชาสัดส่วน 13.69% ที่เหลือเป็นแรงงาน สปป.ลาว และสัญชาติอื่นๆ
ทั้งนี้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะจำนวน 186,603 คน โดย 31.2% เข้ามาทำงานตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน
การจ้างงานแรงงานตามคลัสเตอร์ที่สำคัญ : ข้อมูล ณ ตุลาคม 2567 โดยการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จากภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวต่อ เนื่องมาจากปีก่อนหน้าส่งผลทำให้จำนวนการจ้างงานในแต่ละคลัสเตอร์ในแต่ละธุรกิจ ส่วนใหญ่มีการจ้างงานลดลง เช่น ภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและภาคการผลิต สำหรับคลัสเตอร์ธุรกิจที่ฟื้นตัวและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือ ภาคท่องเที่ยว
โฆษณา