29 ธ.ค. 2024 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์

"early yuyen" คอมมูนิตี้สเปซของคนแนวคิดรักษ์โลก อบอุ่นเป็นกันเองในบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน

early คือแบรนด์ที่สะท้อนเรื่องราวการนำวัสดุเหลือทิ้งมาชุบชีวิตใหม่ผ่านงานดีไซน์ เป็นที่รู้จักครั้งแรกกับคาเฟ่บริเวณหัวมุมถนน ภายในหมู่บ้านสัมมากร กับร้านขนาดกะทัดรัด แต่กลับเข้มค้นเรื่องแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม จนเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบธุรกิจที่มีแนวคิดผลักดันด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวันอีกหนึ่งแบรนด์
ครั้งนี้ early ขอขยับก้าวอีกขั้น กับการก่อตั้งร้านสาขา 2 ภายในโครงการ My Paws Backyard รามอินทรา 34 (ซอยอยู่เย็น) แยก 12 โดยยังคงคอนเซ็ปต์ “ลดก่อนเริ่ม” เช่นเดียวกับร้านแรก ที่อยากชวนทุกคนมาลดขยะ สร้างประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ ร่วมกันใส่ใจโลกจนกลายเป็นกิจวัตร
นอกจากจะมีในส่วนของคาเฟ่ที่รีโนเวตจากอาคาร Pets Shop เก่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ Dog Park ยังมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับสัตว์เลี้ยงหลายจุดเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้น้องหมาได้ทำกิจกรรมมากขึ้น เรียกว่ามีความเฟรนด์ลี่ทั้งกลุ่มของครอบครัว เด็ก ๆ และเหล่าน้องหมา ที่นี่จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม
ซึ่งเป็นความต้องการของ คุณเค-เคฑิตา ชัยศักดิ์ศิริ และคุณกิ๊ฟ-กรัณฑารณ์ ธนะกวินวัจน์ สองหุ้นส่วนที่อยากให้สาขานี้ บอกเล่าอารมณ์ถึงความเป็นบ้าน อบอุ่นเป็นกันเองมากกว่าสาขาแรก พร้อมพื้นที่ให้ครอบครัวได้พักผ่อนทั้งในคาเฟ่และพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ที่กว้างขวางและเป็นอิสระ ต่อยอดคอนเซ็ปต์การเป็นคาเฟ่เพ็ทเฟลนด์ลี่
โดยทั้งคู่ได้ร่วมเวิร์กชอปกับผู้ออกแบบจาก space+craft ซึ่งเคยทำงานร่วมกันในสาขาแรก และทีมผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อหาแนวทางการออกแบบผ่านวัสดุเหลือใช้ที่ได้รับการพัฒนาและรูปแบบการใช้งานใหม่ หรือที่เรียกว่าเป็นชีวิตที่สองของขยะเหลือใช้ ที่สามารถนำกลับมาสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ได้อย่างน่าสนใจผ่านงานดีไซน์
เรียกว่าเป็นการทำงานและถ่ายทอดความรู้ร่วมกันตั้งแต่วันแรกที่ออกแบบจนกระทั่งสร้างเสร็จ ทุกขั้นตอนจึงมาจากความตั้งใจและความละเอียดอ่อนไม่ต่างจากงานคราฟต์ จนคุณเคขอให้นิยามการออกแบบของที่นี่ว่า Holistic Design ที่เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม
การออกแบบคาเฟ่เพื่อส่งเสริมภาพของความเป็นบ้านดังที่กล่าวไป ได้รับการบอกเล่าผ่านการออกแบบฟาซาด ด้วยการนำบานหน้าต่างไม้เก่า และบานเหล็กดัดเก่าที่ได้จากร้านรับซื้อของเก่ามาตกแต่ง เพื่อสื่อถึงองค์ประกอบของบ้าน หรือถูกใช้ในอาคารยุคเก่า ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนเคยคุ้นเคยมาก่อนในอดีต ชวนให้นึกย้อนไปยังภาพจำในวัยเด็ก ผสมผสานของวัสดุที่ทำจากของเหลือใช้ในชีวิตประจำวันที่กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง
ผู้ออกแบบและเจ้าของเลือกเก็บโครงสร้างเก่าของอาคารหลังนี้ไว้ แล้วใช้วัสดุตกแต่งจากของเหลือทิ้งไม่ว่าจะเป็นมือจับทำจากขวดแก้ว ใช้วัสดุทดแทนไม้ทำมาจากกล่องนม หรือที่เรียกว่าแผ่นกล่องนม นำมาใช้กรุทั้งฝ้าและผนัง และยังมีการเก็บเศษวัสดุเดิมของอาคาร นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กระเบื้องปูพื้นเดิมที่ถูกทุบให้ละเอียดแล้วนำกลับมาใช้สร้างลายใหม่ให้กับพื้น
หน้าเคาน์เตอร์บาร์ตกแต่งด้วยขวดแก้วใช้แล้ว ส่วนท็อปมีพื้นผิวคล้ายเทอร์ราซโซทำจากเศษแก้วสีเขียว ที่นั่งหน้าร้านและฐานไอส์แลนด์กลางร้านก่อขึ้นจาก Eco Bricks ที่ทำมาจากแก้วกระดาษ และกระป๋องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอัดขึ้นรูปเป็นก้อน
เปิดบานเฟี้ยมและหน้าต่างทางทิศใต้ได้ในช่วงเช้า หรือในวันอากาศดี เพื่อให้แสงและลมไหลเวียนอย่างปลอดโปร่ง ช่วยประหยัดพลังงาน จนแทบไม่ต้องเปิดแอร์ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ในร้านมีทั้งที่เป็นของมือสอง
และมีการนำเก้าอี้เก่าจากสถานที่เดิม มาตกแต่งใหม่ให้มีดีไซน์เฉพาะตัว หรือที่เรียกว่า Refurbish โดยพนักพิงทำจากเชือก เบาะทำจากเศษผ้า ชุบชีวิตเก้าอี้เก่าให้น่าใช้งานอีกครั้ง เป็นการ Collaboration กับ athing ส่วนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทรงกล่องปิดผิวด้วยวัสดุ Upcycling ที่หน้าร้าน ออกแบบโดย space+craft ที่ออกแบบขึ้นเฉพาะสำหรับที่นี่เท่านั้น
เครื่องดื่มและอาหาร early ตั้งใจดีไซน์เมนูไม่ให้เป็น Food Waste ไม่เป็นขยะเหลือทิ้ง นับเป็นตัวอย่างความยั่งยืนที่เกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างยอดเยี่ยม สำหรับผู้สนใจแนวทางการทำธุรกิจร้านกาแฟ หรือร้านอาหารที่คำนึงถึงความยั่งยืน สามารถเข้ามาขอคำปรึกษากับคุณเคและคุณกิ๊ฟได้เลย เพื่อช่วยกันผลักดันแนวคิดดี ๆ นี้ และสร้างโลกให้น่าอยู่ไปด้วยกัน
ที่ตั้ง
early สาขา yuyen
ตั้งอยู่ภายโครงการ My Paws Backyard ซอยรามอินทรา 34 (ซอยอยู่เย็น) แยก12 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ (มีที่จอดรถ)
เปิดวันอังคาร - ศุกร์ 8.30 - 18.30 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ 9.00 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
โทร. 08-0259-5924
1
เจ้าของ: early Team
ออกแบบ-ตกแต่ง: space+craft (https://www.facebook.com/spacecraft.bangkok)
ออกแบบเฟอร์นิเจอร์: space+craft และ athing
รับเหมาก่อสร้าง: Preecha Furniture And Design Co., Ltd.
เรื่อง: Phattaraphon
ภาพ: Soopakorn Srisakul
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา