12 ธ.ค. 2024 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป 4 ข้อ เทคนิคหาหุ้น 10 เด้ง แบบคุณกวี ชูกิจเกษม

หากพูดถึงชื่อคุณกวี ชูกิจเกษม หลายคนก็มักจะนึกถึงหนึ่งในนักวิเคราะห์หุ้น ที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากคุณกวีจะเป็นนักวิเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว คุณกวีก็ยังเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนไม่แพ้กัน
เพราะคุณกวีก็เคยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งถึง 200 เด้ง และหุ้นอีกหลายตัว ก็ได้รับผลตอบแทนอีกหลายสิบเด้ง โดยยังไม่รวมเงินปันผลเลย
หากสงสัยว่า แล้วคุณกวีมีหลักการอย่างไร ถึงหาหุ้นผลตอบแทนสูงแบบนี้ได้เจอหลาย ๆ ตัว
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
สำหรับหลักการหาหุ้น 10 เด้งของคุณกวี สามารถสรุปได้ออกมาเป็น 4 ข้อ คือ
1. ใช้ Five Forces Model กรองหาหุ้นดี
ขั้นแรกคุณกวีจะเริ่มจากการกรองหุ้นของบริษัทที่สนใจด้วย Five Forces Model ก่อน
Five Forces Model เป็นโมเดลการวิเคราะห์ธุรกิจที่ถูกคิดค้นโดยคุณ Michael E. Porter ซึ่งเราสามารถนำมาใช้กรองหาบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนได้
โดยจะเป็นการวิเคราะห์ธุรกิจใน 5 ด้าน
- การวิเคราะห์ Barriers to Entry ของอุตสาหกรรมที่บริษัทกำลังทำธุรกิจอยู่
โดยจะดูว่า ในอุตสาหกรรมที่บริษัททำธุรกิจอยู่ คู่แข่งหน้าใหม่จะเข้ามาแข่งขันด้วย ง่ายหรือยาก
- ตรวจสอบความสามารถในการต่อรองกับลูกค้า ว่าบริษัทกำลังพึ่งพาลูกค้าน้อยรายเกินไปหรือไม่
หากบริษัทพึ่งพาลูกค้าเจ้าใดเจ้าหนึ่งมากเกินไป ก็จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้าได้ต่ำ
ส่งผลให้มีศักยภาพในการตั้งราคาได้ต่ำ ทำให้โอกาสที่บริษัทจะทำกำไรได้สูง ก็จะมีน้อยลง
- ตรวจสอบความสามารถในการต่อรองกับซัปพลายเออร์ โดยดูว่า ทางบริษัทพึ่งพาซัปพลายเออร์เจ้าใดเจ้าหนึ่ง มากเกินไปหรือไม่
หากมากเกินไป ก็แปลว่า ทางซัปพลายเออร์ จะมีความสามารถในการต่อรองกับทางบริษัทสูงเกินไป และเป็นความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะโดนเอาเปรียบได้
- ตรวจสอบสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม ว่ามีการแข่งขันกันรุนแรงแค่ไหน และบริษัทที่เราสนใจอยู่ในจุดไหนของการแข่งขันนี้
- ตรวจสอบเรื่องปัจจัยสินค้าทดแทน เพื่อดูว่า โอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าของคู่แข่งมีมากน้อยแค่ไหน
และบริษัทมีการเตรียมการรับมือไว้อย่างไรบ้าง
หากพบว่าบริษัทผ่านคุณสมบัติทั้ง 5 ด้านนี้ ก็หมายความว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และมีโอกาสจะเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
2. ตรวจสอบงบการเงินของบริษัท
หลังจากกรองหุ้นของบริษัทคุณภาพดี ที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนมาได้แล้ว
ต่อมาก็คือ การตรวจสอบงบการเงินของบริษัท โดยการใช้อัตราส่วนทางการเงินมาวิเคราะห์ เช่น
- ดูว่าอัตราการทำกำไรของบริษัท เช่น อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ สูงอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ?
- ดูอัตราส่วนทุนหมุนเวียน เพื่อดูว่า บริษัทมีสภาพคล่องในระยะสั้น ดีหรือไม่ ?
- ดูอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อใช้ดูว่า บริษัทมีหนี้สินเยอะแค่ไหน เมื่อเทียบกับเงินในส่วนของเจ้าของ ?
ถ้าพบว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ของบริษัทยังอยู่ในระดับต่ำ
ก็ถือว่าบริษัทมีหนี้น้อย และมีความเสี่ยงในการล้มละลายต่ำนั่นเอง
3. ประเมินมูลค่าหุ้นรอไว้ รอซื้อตอนหุ้นราคาถูกพอ
หลังจากผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์งบการเงินมาแล้ว เราก็จะกรองมาเหลือแค่ หุ้นของบริษัทที่น่าสนใจจะลงทุนเท่านั้น
แต่การจะลงทุนให้ประสบความสำเร็จ ทำผลตอบแทนได้สูง ๆ เราก็ควรจะต้องซื้อหุ้นในตอนที่ราคาไม่แพงเท่านั้น
เพราะถ้าเราซื้อหุ้นมาในราคาแพงเกินไป โอกาสจะทำกำไรได้ก็จะมีน้อย แต่กลับกัน โอกาสที่เราจะขาดทุน กลับมีเยอะ
ทำให้พอถึงขั้นตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทออกมา
โดยคุณกวีจะใช้วิธีการประเมินมูลค่าแบบง่าย ๆ ตามตำราทางการเงินเลย นั่นคือ “การประเมินมูลค่าด้วยเงินปันผล” หรือ Dividend Discount Model
ซึ่งพอประเมินมูลค่าหุ้นออกมาได้แล้ว ก็จะรอซื้อหุ้นในตอนที่ราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง สักประมาณหนึ่ง เพื่อให้มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ “Margin of Safety”
เช่น เราประเมินมูลค่าหุ้น A ออกมาได้ 10 บาทต่อหุ้น เราก็กำหนดให้มี Margin of Safety ไว้ที่ 30%
ดังนั้น เราจึงจะซื้อหุ้น A ในราคาไม่เกิน
10 x (1 - Margin of Safety ที่ 30%) = 7 บาทต่อหุ้น
สมมติว่า ถ้าหากตอนนั้นราคาหุ้น A อยู่ที่ 8 บาทต่อหุ้น เราก็จะต้องอดทนรอซื้อหุ้น ตอนที่ราคาตกลงมา ต่ำกว่า 7 บาท
4. อดทนถือหุ้นต่อไป จนถึงวันที่เงินปันผลมากกว่าต้นทุน
หลังจากเราได้ซื้อหุ้นของบริษัทพื้นฐานดี ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว ต่อมาก็คือการอดทนถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
แต่ในระหว่างทางที่เราถือหุ้น เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการออกมา เราก็ต้องหมั่นมาตรวจสอบพื้นฐานของบริษัทอยู่เสมอ เพื่อดูว่าพื้นฐานของบริษัทยังคงดีต่อไปอยู่หรือไม่
นอกจากนี้ ก็ต้องประเมินมูลค่าบริษัทใหม่ปีละครั้งด้วย เพื่อดูว่า มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ถ้าพบว่า พื้นฐานของบริษัทยังคงดีอยู่ ก็ถือหุ้นต่อไป และถ้าราคาหุ้นถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากพอ ก็ควรซื้อเพิ่มด้วย
ซึ่งถ้าหากบริษัทนั้นพื้นฐานดีและเติบโตต่อได้จริง ๆ กำไรที่เติบโตขึ้นก็จะทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลให้เราเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ
จนทำให้เราได้พบเจอประสบการณ์เดียวกันกับคุณกวี นั่นก็คือ “เงินปันผลจากการลงทุน มากกว่าเงินต้นที่ลงทุนไปแล้ว”
ยกตัวอย่าง จากหุ้น A เช่นเคย ถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคา 7 บาทต่อหุ้น และจ่ายเงินปันผลวันนี้อยู่แค่ประมาณ 1 บาทต่อหุ้น
แต่สมมติว่า ผ่านไป 10 ปี กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นมาก จนสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับเราได้ถึง 8 บาทต่อหุ้น ก็หมายความว่าเงินปันผลที่เราได้จากการลงทุน ตอนนี้มากกว่าต้นทุนที่เราซื้อหุ้นไปแล้วเรียบร้อย
และก็แน่นอนว่า บริษัทที่กำไรเติบโตดี และจ่ายปันผลสูงได้แบบนี้ ราคาหุ้นก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย
จนทำให้นอกจากเราจะได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เราได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา หรือ Capital Gain ด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน หากพบว่าพื้นฐานของบริษัทในระยะยาว ไม่ดีอีกต่อไปแล้ว เราก็ควรขายเพื่อเอาเงินไปซื้อหุ้นพื้นฐานดีตัวอื่นแทน
อ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่า เทคนิคการหาหุ้น 10 เด้งของคุณกวี ค่อนข้างเรียบง่ายมาก แต่สิ่งที่ท้าทายคือ การที่เราต้องมีความอดทนสูง
ทั้งในตอนที่รอให้ราคาหุ้นตกลงมา และตอนที่รอให้บริษัทเติบโตจนจ่ายปันผลได้มากกว่าเงินต้นในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม หากเราทำได้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ คือการอดทนถือหุ้นที่ดีต่อไป พร้อมกับนำเงินปันผลที่ได้รับมาในแต่ละปี กลับไปลงทุนเพิ่มเรื่อย ๆ
เราก็สามารถมีอิสรภาพทางการเงิน และประสบความสำเร็จในการลงทุนได้เหมือนกัน..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#หุ้นไทย
References
- หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ตอน มหัศจรรย์ผลตอบแทน (2559) โดย กวี ชูกิจเกษม
- หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน หนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ (2556) โดย กวี ชูกิจเกษม
- สัมมนาจับเข่าคุยหุ้นไทยสูตรลับหาหุ้นเทพ สูตรลับหุ้น 10 เด้ง วันที่ 23/11/2567
โฆษณา