5 ม.ค. เวลา 02:00 • บ้าน & สวน

TNOP House หันหลังให้ความวุ่นวาย สู่การค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ในบ้านตากอากาศที่เชียงราย

บ้านพักตากอากาศหลังนี้ เป็นของกราฟิกดีไซเนอร์ที่มีความต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศเป็นของตนเอง เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการทำงาน และไว้ใช้พักผ่อนหนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่สู่อ้อมกอดของขุนเขา
2
โดยเลือกทำเลในการสร้างบ้านที่ค่อนข้างท้าทายอยู่ไม่น้อย กับสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ติดกับทางหลวง และมีลักษณะเป็นเนินเขาลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปตะวันตก กับวิวที่มองเห็นทุ่งนาสีเขียวในฤดูฝนก่อนเปลี่ยนเป็นรวงข้าวสีทองในฤดูหนาวเพื่อรอการเก็บเกี่ยว เปรียบเสมือนภาพวาดศิลปะแนวธรรมชาติที่มีชีวิต
แม้สถานที่จะเป็นทำเลน่าประทับใจดังกล่าว แต่ทว่ายังมีอุปสรรครอให้สถาปนิกจาก IS Architects ช่วยออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อลดอุปสรรคด้านการใช้งานอาคาร ควบคู่ไปกับความสวยงาม ความปลอดภัย สอดประสานการอยู่อาศัยรูปแบบสมัยใหม่เข้ากับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
ตัวบ้านตั้งอยู่บนเนินลาดชัน แนวอาคารจึงต้องขนานไปกับระดับความลาดชันนั้น เพื่อควบคุมงานโครงสร้างไม่ให้เกิดความซับซ้อนในด้านวิศวกรรม แล้วจัดเรียงฟังก์ชันตามลำดับความสำคัญ จากทางเข้าหลักสิ่งแรกที่พบเห็นคือสวนเล็ก ๆ แก้ปัญหาการอยู่ติดกับถนนทางหลวง โดยวางตำแหน่งอาคารให้เว้นระยะห่างประมาณ 1 เท่าของความสูงอาคาร แล้วเว้นพื้นที่ไว้ให้กับแลนด์สเคป เพื่อทำหน้าที่ช่วยกรองมลภาวะทางเสียงและฝุ่นควัน แถมยืดระยะทางการเดินเพื่อปรับสภาวะจิตใจก่อนเข้าสู่พื้นที่ภายใน
พร้อมกันนั้นยังสร้างกำแพงแนวยาวช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวจากภายนอก และบังคับทิศทางลมในการนำพากลิ่น หรือควันจากการทำอาหารให้พัดออกไปตามทิศทางลมประจำถิ่น ช่วยไม่ให้รบกวนพื้นที่อยู่อาศัย นับเป็นการใช้ลมธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้อย่างดี
การออกแบบทางสัญจรของบ้าน มีทั้งบันไดด้านนอกที่เดินลงมายังพื้นที่สวนหลังบ้านได้ ไม่ต้องเดินผ่านเข้ามาในบ้าน ส่วนทางสัญจรในบ้านสถาปนิกได้วางตำแหน่งเส้นทางสัญจรทั้งทางราบและทางสัญจรทางตั้งให้สัมพันธ์กัน โดยมีบันไดทอดยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ แล้วขึ้นไปยังชั้น 2 โดยมีการออกแบบพื้นที่ไว้เพื่อให้ความรู้สึกคล้ายกับทางเดินในห้องจัดแสดงงานศิลปะ เป็นพื้นที่สำหรับพักความรู้สึกต่าง ๆ สู่การพักผ่อนที่ต้องการความสงบนิ่ง
ฟังก์ชันภายในมีพื้นที่นั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับทั้งครัวและห้องทำงานศิลปะ รวมถึงระเบียงภายนอกขนาดใหญ่ช่วยให้ผู้ใช้พื้นที่ได้ปลดปล่อยจินตนาการไปกับศิลปะและธรรมชาติ การวางตำแหน่งระเบียงขนาดใหญ่ให้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นี้ ช่วยให้สามารถหันหน้ารับวิวธรรมชาติอย่าง วิวนาข้าว และต้นไม้ริมไหล่เขาที่สวยงามเต็มสายตา แถมยังเปิดรับแสงแดดยามเย็นให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสถาปัตยกรรม เกิดความเคลื่อนไหวของแสงเงาตกกระทบราวกับงานศิลปะที่มีพระอาทิตย์เป็นจิตรกรมือเอก
เด่นด้วยการนำสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ ให้ลมธรรมชาติรวมไปถึงแสงแดดเข้ามาเพื่อช่วยลดความชื้น สร้างบรรยากาศปลอดโปร่งและสุขภาวะที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังเน้นแนวคิดการนำสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นมาผสมกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ผ่านรูปทรงอาคารที่เรียบง่าย โดยใช้อัตลักษณ์วัสดุพื้นถิ่นในการออกแบบ เช่น วัสดุมุงหลังคา งานไม้เก่า โครงสร้างไม้ตกแต่ง กระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลเทา กระเบื้องเคลือบสีเขียว หินขัด และทรายล้าง สร้างสรรค์ผ่านฝีมือช่างท้องถิ่น ที่ผสานเข้ากับรูปทรงและพื้นที่ใช้สอยอันทันสมัย
การทำงานครั้งนี้ จึงนับเป็นการช่วยพัฒนาฝีมือของช่างท้องถิ่น และสามารถดึงศักยภาพความชำนาญของช่างออกมา ทำให้เกิดความพิเศษและความงามในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งปรากฏผ่านกายภาพภายนอกที่ทำให้ผู้พบเห็น หรือผู้คนในท้องถิ่นรับรู้ถึงความร่วมสมัยของสถาปัตยกรรมที่อยู่กับบริบทได้อย่างลงตัวและไม่แปลกแยก
เป็นเสมือนสิ่งช่วยสะท้อนเรื่องราวที่ว่า เมื่อธรรมชาติดลบันดาลสรรพสิ่งให้กับบ้าน เจ้าของบ้านและสถาปนิกจึงเลือกที่จะเปิดรับสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการจัดการกับจุดด้อยให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด และการผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กับกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของบ้านหลังนี้
ออกแบบ-ตกแต่ง: IS Architects (https://www.facebook.com/isarchitects.team)
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Dipdee Design Studio (https://www.facebook.com/profile.php?id=100063593892983)
ภาพ: Rungkit Charoenwat
เรียบเรียง: Phattaraphon
SubmitYourWork พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ และเจ้าของพื้นที่ส่งผลงานการออกแบบเข้ามาแบ่งปันให้ชาว room ได้ชมไปพร้อมกัน ส่งอีเมลนำเสนอผลงานเข้ามาได้ที่ roommagcrew@gmail.com
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา