9 ธ.ค. 2024 เวลา 12:00 • การเกษตร

หมดเวลา หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน นี่คือยุคของเกษตรที่เชื่อมโยง AgTech Connext

⛏ ในอดีตมนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ เก็บของป่า ต่อมาก็ได้หันมาทำเกษตรกรรม พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาตามยุคสมัย
📡 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งเกษตรสมัยใหม่ หรือ “Agriculture Technology หรือ AgTech” ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ยกระดับการเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดย AgTech เป็นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Smart Farm เทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึงการใช้โดรนสำรวจและติดตาม ซึ่งประเทศไทยมีสตาร์ทอัพหลายราย ที่ได้สร้างผลงานนวัตกรรมที่น่าสนใจออกมาให้เห็นกันแล้ว
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา NIA ได้สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยง ประสานงาน และขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1) การระบุแนวโน้มนวัตกรรมการเกษตร โดยศึกษาแนวโน้มนวัตกรรมพลิกโฉมธุรกิจการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทการเกษตรของไทย
2) การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ผ่านกิจกรรมบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
และ 3) การสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เพื่อสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นสำหรับพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และเชื่อมโยงไปสู่การขยายตลาด ระดมทุนกับนักลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ หรือออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมวงการเกษตร (Agricultural Transformation)
👨‍🌾 แต่การส่งเสริม AgTech ต้องไม่หยุดอยู่แค่ในฝั่งของสตาร์ทอัพเท่านั้น จำเป็นจะต้องต่อยอดไปให้ถึงตัวเกษตรกรผู้ใช้งานจริงด้วย หลายครั้งการนำนวัตกรรมไปทดสอบการใช้งานมักจะพบกับอุปสรรคและข้อจำกัดบางประการ เช่น การไม่ยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกร ไม่เห็นถึงประโยชน์หรือความคุ้มค่า หรือบางรายอาจมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน จึงเป็นที่มาของ “AgTech Connext 2024” ที่ NIA ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรและสตาร์ทอัพให้มาจับคู่ทดสอบการใช้งานนวัตกรรมด้วยกัน
👉 โดยก่อนที่จะมาเป็นสตาร์ทอัพ 10 ราย จะต้องผ่านการคัดเลือกและการพัฒนาศักยภาพ เพื่อที่จะได้เข้าใจความต้องการของเกษตรกร จนมาถึงกระบวนการทดสอบ ปรับปรุง ต่อยอดผลงาน ควบคู่ไปกับการที่เกษตรกรไทย ก็ได้รับรู้ถึงแนวทางการทำการเกษตรภายใต้ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยสตาร์ทอัพในกิจกรรม AgTech Connext 2024 จะมีบริษัทอะไรบ้าง ตามไปดูกัน !
🤳🏼 AgTech ในรูปแบบของ Smart Farm: นวัตกรรมนี้คือการใช้เทคโนโลยี IoT เซนเซอร์ และ Big Data ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในการบริหารจัดการ นำไปสู่การตรวจสอบ ติดตาม และควบคุมผลผลิต
🐣 เริ่มต้นที่นวัตกรรมในฝั่งปศุสัตว์และประมง #มิสเตอร์เอ้ก ระบบตรวจสอบคุณภาพไข่ด้วย AI ที่ช่วยจำแนกไข่ที่มีรอยร้าว หรือไม่มีน้ำเชื้อออกจากไข่ที่มีคุณภาพในการพักตัว โดยมีจุดเด่นที่การส่งข้อมูลบน LINE Chatbot ซึ่งเป็นแอปฯ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีติดมือถืออยู่แล้วด้วย
อีกบริษัทคือ #อเดคนิค แพลตฟอร์มบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้ง ที่ระบบจะให้เกษตรกรเก็บบันทึกข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ สร้างคำแนะนำในการเลี้ยงปลาและกุ้งจาก AI ที่ชาญฉลาด พร้อมกับระบบ IoT แจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหา ทำให้เกษตรกรรับมือ จัดการความผิดพลาดได้ทันเวลาไม่ให้เกิดความเสียหาย
💧 ทางด้านกระบวนการเพาะปลูก ขอแนะนำให้รู้จักกับ #มีเทค ระบบ IoT ควบคุมการทำงานของปั๊มน้ำให้เปิดปิดตามเวลา จุดเด่นของนวัตกรรมนี้ อยู่ที่การออกแบบระบบมาให้เรียบง่าย ดูแล ประกอบ ติดตั้งได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ด้านนวัตกรรมในการรดน้ำ ยังมีอีกสตาร์ทอัพที่เห็นปัญหาของสวนผลไม้ยกร่อง #ริมโบติกส์ เรือรดน้ำอัตโนมัติ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี LiDAR ในการวัดระยะทางด้วยเลเซอร์ การกำหนดตำแหน่งตามพิกัดที่ด้วย GPS และเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน สำหรับการติดตามสถานะการทำงาน
🧬 ต่อมาคือ AgTech ในรูปแบบของ Biotechnology ศาสตร์ของเทคโนโลยีชีวภาพ ในการพัฒนาสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต ซึ่งสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย
🧫 #ไบโอมจุลินทรีย์คึกคัก ที่เกิดจากการคัดสรรจุลินทรีย์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน ลดสารเคมีที่ตกค้างจากการใส่ปุ๋ยเคมี และเพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยการกระตุ้นการงอกของเมล็ด
อีกบริษัทที่มีผลงานใกล้เคียงกันคือ #เพียวพลัส ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืช ใช้การปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำ นวัตกรรมนี้สามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านโรคพืช และสุดท้ายคือ #ยูนิฟาร์ส สารเสริมชีวภาพที่มีช่วยในการทำลายเชื้อวิบริโอในการเพาะเลี้ยงกุ้งและเชื้อฟราโวแบคทีเรียในการเลี้ยงปลา เป็นตัวเลือกให้เกษตรกรในวงจรการเลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างจุดแข็งของการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ไม่พึ่งพาสารเคมี สร้างจุดขายให้กับผลผลิต และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่า
🔧 สุดท้ายคือ AgTech ในรูปแบบของ Production Innovation ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดต้นทุนให้กับกลุ่มเกษตรกร
🐄 #เวทโนว่า ฟิล์มจุ่มเคลือบเต้านมวัวจากธรรมชาติ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการอักเสบในเต้านมวัวจากแบคทีเรียเข้าไปทําลายเนื้อเยื่อ ทำให้เกษตรกรไม่สูญเสียรายได้จากการติดเชื้อของแม่วัว
ตัดภาพไปที่นวัตกรรมที่ช่วยเรื่องผลผลิตการเพาะปลูกอย่าง #โมรีน่า เทคโนโลยีนำส่งระดับนาโน ช่วยให้พืชดูดซึมสารต่างๆ ในการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น และนวัตกรรมสุดท้ายคือ #อินเซ็คโต้ กับดักแมลงโซล่าเซลล์อัตโนมัติ ที่ช่วยลดการบุกรุกของแมลงในการเพาะปลูกพืชซึ่งใช้แสงสีม่วงที่มีประสิทธิภาพในการล่อแมลงให้เข้ามาติดกับดัก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร เนื่องจากไม่ต้องออกไปฉีดยาฆ่าแมลงให้เสี่ยงต่อสุขภาพ
👩‍🌾 ภาคการเกษตร มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทย ถือเป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหาร แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีนวัตกรรม ดังนั้นในการเชื่อมโยงเครือข่ายใน AgTech Connext จึงถือเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เกษตรกรจากหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน...ไปสู่การทำเกษตรที่มีนวัตกรรมได้
โฆษณา