17 ธ.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

ยิ่งน้อยยิ่งมาก

หนึ่งในปรัชญาการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผมร่ำเรียนมาคือ Less is more (ยิ่งน้อยยิ่งมาก) ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายจากงานของสถาปนิก ลุดวิก มิส ฟาน เดอ โรห์ โดยออกแบบอาคารแบบเรียบง่าย เป็นกล่องโล่ง ไม่รกรุงรัง ปรัชญานี้เรียก Minimalism ปรากฏในงานศิลปะสายต่าง ๆ ฟังดูคล้าย ๆ ปรัชญาเต๋าและเซน
และเช่นเดียวกับปรัชญาเต๋าและเซน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ ถึงแม้จะเข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายดาย
การออกแบบอาคารและศิลปะด้านอื่น ๆ จำนวนมากมายที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ จึงยังเต็มไปด้วย 'ความมาก' (อย่างที่อาจารย์วิชาออกแบบมักใช้คำว่า 'รกรุงรัง' ) ที่เรียกว่า 'การออกแบบชั้นเลว' ห่างไกลจากประโยค Less is more หลายโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะคนออกแบบไม่เข้าใจปรัชญานี้ หรือเพราะจงใจไม่เข้าใจปรัชญานี้ หรือเพราะระบบพาณิชย์ที่สอนให้เชื่อว่า 'ยิ่งมากยิ่งคุ้ม'
ความจริง 'ยิ่งน้อยยิ่งมาก' ไม่เพียงเป็นปรัชญาในการออกแบบ แต่เป็นวิถีการใช้ชีวิตด้วย
ชีวิตของหลาย ๆ คนเป็นการออกแบบที่รกรุงรัง ปิดทับด้วยองค์ประกอบมากมายที่ไม่จำเป็น บางคนซื้อบ้าน 6-7 ห้องนอน เป็นเจ้าของรถยนต์ 3-4 คัน ทั้งที่มีสมาชิกในบ้านเพียงสองคน บางคนเก็บสะสมเงินเป็นหมื่นล้าน แต่ยังโลภขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่หิวแต่ก็สั่งอาหารเต็มโต๊ะ ฯลฯ
2
ในโลกที่นิยมความใหญ่ ความมาก ความเป็นที่สุด อะไร ๆ ก็มักเกินความพอดี และกลายเป็นการออกแบบชั้นเลวไปอย่างง่ายดาย
หนังลงทุนสูงมิแน่นักว่าจะเป็นหนังดี คนมีบ้านใหญ่โตไม่แน่ว่าจะมีความสุข สะสมทรัพย์สินร้อยล้านพันล้านหมื่นล้านก็ไม่ได้รับประกันว่าชีวิตจะราบรื่น ตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านั้นอาจทุกข์กว่าคนยากไร้ด้วยซ้ำ เพราะบางครั้งทรัพย์สินก็เสมือนไขมันชั้นเลว มักตามมาด้วยโรคต่าง ๆ : ความหวาดระแวง ความกลัว ความโลภ ฯลฯ
มองในมุมมองของธรรมชาติ ทุกชีวิตสร้างมาจากความน้อยที่สุด จำนวนเซลล์น้อยที่สุดที่ทำงานได้ อวัยวะน้อยที่สุดที่ทำให้ร่างกายเดินหน้าได้
การใช้ชีวิตก็เช่นกัน ยิ่งเรียบง่ายยิ่งดี ยิ่งรัดกุมยิ่งมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกับสารเคมีแห่งความแจ่มใสที่เกิดจากการออกกำลังกาย ฮอร์โมนที่เกิดจากการใช้ชีวิตพอเพียงคือความสุขใจ สุขจากเรื่องเล็ก ๆ
2
นี่ก็คือการออกแบบชั้นดี
จาก อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก / วินทร์ เลียววาริณ
โฆษณา