26 ธ.ค. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ

กรุงเทพฯและเมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศเรากำลังแข่งกันขึ้นที่สูง

ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก ราคาที่ดินสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำโครงการให้คุ่มค่าที่ดิน ก็ต้องขึ้นสูง
คอนโดมิเนียมสมัยใหม่ในเมืองสร้างเต็มพื้นที่เท่าที่กฎหมายอนุญาต ขึ้นสูงที่สุดเท่าที่กฎหมายอนุญาต ใส่จำนวนห้องให้มากที่สุดเท่าที่... เอาละๆ คุณเข้าใจแล้ว
3
จำนวนห้องให้มากที่สุดหมายถึงขนาดห้องเล็กที่สุด
เคยมีการทำวิจัยว่า มนุษย์ที่อาศัยในพื้นที่ต่ำกว่า 50 ตารางเมตร อาจมีปัญหาทางสภาพจิต เพราะเราไม่ใช่สายพันธุ์ที่อยู่ในที่แคบ โฮโม ซาเปียนส์ ท่องทุ่งกว้างมาสองแสนปี ก่อนหน้านั้นก็อยู่ในที่โล่งมาหลายล้านปี
1
แต่ตอนนี้เป็น ‘new normal’ ไปแล้วที่ โฮโม ซาเปียนส์ สัญชาติไทยอาศัยในคอนโดฯขนาด 25 ตารางเมตร
แต่ชาวกรุงไม่มีทางเลือกมาก บ้านใครอยู่ชานเมือง ก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4-5 เพื่อไปทำงานให้ทัน ไม่ช้านานก็จำต้องทำงานหนักหาเงินมาผ่อนคอนโดฯขนาด 25 ตารางเมตรไว้ซุกหัวนอน เสาร์อาทิตย์ค่อยกลับบ้านชานเมือง ถ้าไม่มีบ้านชานเมือง ก็ใช้เวลาวันหยุดในห้างสรรพสินค้าที่่ใหญ่โต เพื่อชดเชยกับการอยู่ในที่แคบมาทั้งสัปดาห์
3
ราคาของคอนโดฯกลางเมืองกรุงเทพฯเมื่อยี่สิบปีก่อนประมาณ 35,000 บาทต่อตารางเมตร ตอนนี้หลายแห่งพุ่งเหยียบสามแสนบาทต่อตารางเมตร
มองไปรอบตัว หน้าตาคอนโดฯในเมืองส่วนใหญ่เหมือนๆ กัน ต่างแค่รายละเอียดปลีกย่อย ด้านหน้าขุดต้นไม้ใหญ่จากต่างจังหวัดมาปลูก (บางแห่งเพื่อที่คำโฆษณาสามารถรวมคำว่า nature เข้าไปได้) โถงข้างล่างหรู ปูหินอ่อน 4-5 ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ ออกแบบ ‘หน้ากาก’ มาปิดไม่ให้น่าเกลียด อาจเป็นช่องหรือซี่ ส่วนห้องพักนั้นมีระเบียงแคบๆ ไม่ใช่ให้ผู้อาศัยยืนดูวิว แต่ออกแบบไว้วางคอมเพรสเซอร์แอร์ฯ บางตึกก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แลเห็นคอมเพรสเซอร์ยูนิตละสองสามตัว
อาจารย์ของผม ปรมาจารย์สถาปนิก แสงอรุณ รัตกสิกร เรียกงานแบบนี้ว่า ‘ทัศนะอุจาด’
คำว่า ‘ทัศนะอุจาด’ มิได้แปลว่าอาคารนั้นๆ ใช้วัสดุถูกๆ หรือตากผ้าที่ระเบียง แต่หมายรวมถึงการออกแบบที่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่กลมกลืนกับภาพรวมหรือวิญญาณของเมือง พูดหยาบๆ คือไม่มีอาคารนั้นแล้วดูดีกว่า
2
ดังนั้นในความหมายของอาจารย์ ต่อให้เป็นออกแบบงดงามทันสมัย หากเสียบขึ้นมาจากเส้นขอบฟ้าของเมือง แล้วทำให้ภาพรวมเสีย หรือสูญเสียจิตวิญญาณของเมือง มันก็คือ ‘ทัศนะอุจาด’
2
น่าเสียดายที่คำว่า ‘กลมกลืน’ เป็นหัวใจของการออกแบบที่นักออกแบบหลายคนลืมไปแล้ว เพราะโจทย์เดี๋ยวนี้คือ “สร้างความแตกต่าง” ฉีกออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้เป็นจุดเด่นของเมือง
ผลก็คือเรามีแท่ง ‘ทัศนะอุจาด’ โผล่ขึ้นมาจากเส้นขอบฟ้าเต็มไปหมด ไม่เพียงในเมือง มันลามไปถึงริมทะเลและกลางภูเขา
ผมเคยไปสำรวจคอนโดฯในเมืองหลายแห่ง พบว่าส่วนใหญ่สอบตกในเรื่องการออกแบบ เปิดประตูเข้าห้องก็เป็นครัว เดินทะลุครัวจึงเป็นห้องนอน หลายที่ทั้งห้องไม่มีการระบายอากาศ บางที่ใช้กระจกปิดตาย ดูเท่ สามารถแลเห็นเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯ แต่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา
1
พูดสั้นๆ คือมันไม่มีความเป็นบ้าน มันเป็นแค่กล่องแห้งๆ
นายทุนผู้สร้างกล่องนิยมใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เรียกว่าโฆษณาเรียกมันใหม่ว่า “วิถีชีวิตของผู้ประสบความสำเร็จ” ส่วนใหญ่เป็นคำฝรั่ง ซึ่งมีไม่กี่คำ ใช้ซ้ำไปซ้ำมา เช่น high class, luxury, elegance, success, refine ฯลฯ ชื่อคอนโดฯร้อยละร้อยเป็นชื่อฝรั่งที่ไม่มีใครรู้คำแปล
1
หลายปีก่อน ผมเคยไปขอดูกล่องของผู้มี ‘วิถีชีวิตของผู้ประสบความสำเร็จ’ แห่งหนึ่งใกล้สวนลุมพินี เจ้าหน้าที่บอกว่า “**^/><^@#***&^)//*๐”
ถอดความได้ว่า “น้ำหน้าอย่างคุณซื้อไหวหรือ”
2
จึงไม่ได้ขึ้นไปชมห้องเลย (ทีหลังจะไม่สวมเสื้อยืดเก่ารองเท้าเก่าไปชมคอนโดฯหรูอีกแล้ว)
เจ้าหน้าที่คอนโดฯอีกแห่งหนึ่งบอกผมว่า “ค่า maintenance fee ที่นี่เดือนละสามหมื่นนะคะ”
แปลเหมือนกันว่า “น้ำหน้าอย่างคุณซื้อไหวหรือ”
ก็ถอนใจด้วยความเพนฟูล แล้วซมซานขึ้นรถเบนท์ลีย์กลับไปเลียแผลที่คฤหาสน์สามร้อยล้านเงียบๆ
3
เรามักพูดถึง ‘การกระจายความเจริญสู่ชนบท’ แต่รูปธรรมของมันก็คือการสร้างกล่อง 25 ตารางเมตรเพิ่มขึ้นในเมืองต่างจังหวัด
เปล่า ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องเศร้า มันเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของชีวิตคนเมืองทั่วประเทศ หรืออาจจะทั่วโลก
เป็นอีกบทของ โฮโม ซาเปียนส์ ที่วิวัฒนาการเป็นมนุษย์เมือง ซึ่ง... (ถอนใจหนึ่งที) ผมก็เป็น!
แต่อย่างน้อยกล่องของเราก็ดีกว่า เพราะนอกจากเป็นที่อยู่แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประสบความสำเร็จ
โฆษณา