10 ธ.ค. 2024 เวลา 06:40 • การศึกษา

Global Minimum Tax 15% คืออะไร? >>>

Global Minimum Tax หรือ Pillar Two คือ การปฏิรูประบบภาษีของบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นความตกลงของกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD(TAX) ภายใต้ข้อตกลงในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (ตกลงกันที่อัตรา 15%) โดยบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงภายใต้ข้อตกลงนี้ มี 2 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
1. กลุ่มบริษัทข้ามชาติ หมายถึง บริษัทขนาดใหญ่ (รายได้รวม 750 ล้านยูโรขึ้นไป) ที่มีการประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ การขยายสาขา หรือ การถือหุ้นในลักษณะบริษัทแม่และบริษัทลูก
2. กลุ่มบริษัท ที่ประกอบธุรกรรม digital economy หมายถึง บริษัทที่ประกอบกิจการ digital เป็นการเข้าไปประกอบกิจการในแต่ละประเทศ โดยไม่มีสถานประกอบกิจการ เช่น ธุรกิจ platform เป็นต้น
โดยแต่ละประเทศที่เป็นกลุ่มสมาชิก จะต้องทำการออกกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อตกลง คือ จะต้องมีการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งประเทศไทย อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทข้ามชาติ จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 20% ซึ่งมากกว่า Global Minimum Tax อยู่ 5% เรียกว่าเป็นไปตามข้อตกลง
เว้นแต่บริษัทข้ามชาติ ที่เป็นบริษัทแม่หรือบริษัทลูก มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งปกติ BOI จะกำหนดอัตราภาษีเป็น 0 ได้รับยกเว้นภาษี ในช่วงเวลา 3-8 ปี ของการลงทุน อาจทำให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกลุ่มบริษัทข้ามชาติต่ำกว่า 15% (Effective Tax Rate น้อยกว่า 15%)
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเทศนำร่อง Global Minimum Tax 15% มี plan จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 เรียกได้ว่ากลุ่มบริษัทข้ามชาติ ที่เคยขอรับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษียังไม่หมด หรือ กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่อยู่ระหว่างขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้อง follow up ผลกระทบจากการปรับใช้ข้อตกลงนี้ในประเทศไทยกันอย่างใกล้ชิด
ข้อดีของการที่ประเทศไทย จะเริ่มปรับใช้ข้อตกลงนี้ในปี 2568 คือ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติได้เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็จะมีความท้าทายว่า แล้วนอกจากมาตราการยกเว้นทางภาษี (BOI) แล้วประเทศไทยจะสามารถนำมาตรการใดมาสนับสนุนให้บริษัทข้ามชาติยังคงต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อไป
ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจและน่าจับตามองไม่แพ้กัน ก็คือ VAT ซึ่งขณะนี้ OECD (TAX) กำลังมีการรับสมัครนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ VAT เพื่อศึกษา VAT ของแต่ละประเทศ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่า สัญญาณเหล่านี้ คือ การวิเคราะห์เพื่อกำหนด Global Minimum VAT เหมือน Global Minimum Tax หรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามมองกันต่อไป
สำหรับประเทศไทย จะยังคงจัดเก็บ VAT ในอัตรา 7% ต่อไป จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2568 ตาม พรฎ.ฉบับที่ 790 ส่วนหลังจากนั้น (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป) จะยังคงลดอัตรา VAT เหลือ 7% เหมือนเดิม หรือ ปรับเพิ่มขึ้น ก็คงต้องเป็นเรื่องที่ต้อง follow up กันต่อไปค่ะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบบทความจาก pixabay
#VIStylebyMooduang #สำนักงานกฎหมายภาษีสยามลอว์ #GlobalMinimumTax
โฆษณา