Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TRUST NEWS
•
ติดตาม
11 ธ.ค. เวลา 02:21 • ประวัติศาสตร์
เมื่อสุดทางอำนาจ...ย้อนดูชะตากรรม อดีตผู้นำเกาหลีใต้
“คุณ” รู้หรือไม่? ประเทศเกาหลีใต้ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1945 เป็นต้นมา มีประธานาธิบดีรวมกันแล้วทั้งสิ้น 13 คน
แล้ว “คุณ” รู้อีกหรือไม่ว่า ในจำนวนนี้ “ส่วนใหญ่” มักประสบชะตากรรมที่ไม่ค่อยโสภานักในช่วงที่ต้อง “ปลิดปลิวไปจากอำนาจ” ซึ่งในที่นี้อาจจะรวมถึง “ประธานาธิบดียุน ซอลยอล” (Yoon Seok Youl) ผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ที่ ณ เวลานี้ กำลังถูกกระหนาบกดดันจากทั้ง “ภาคการเมือง และ ภาคประชาชน” ที่ต่างออกมาแสดงพลังคัดค้านการตัดสินใจ “ประกาศกฎอัยการศึก”
จนกระทั่งนำไปสู่ ทั้งการถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง , เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก รวมถึงสุ่มเสี่ยงที่อาจต้องถูกดำเนินคดีฐานก่อการกบฏ!
ชะตากรรมของผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบันที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดเช่นนี้ แตกต่างหรือใกล้เคียงมากน้อยเพียงใดกับ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนๆ ที่ถึงขั้นถูกลอบสังหาร , ถูกขับไล่ และติดคุกติดตาราง ดังที่ “OUTFIELD MAN” ได้จั่วหัวเรียกร้องความสนใจจาก “คุณ” ในบรรทัดด้านบนโน่น…..
ฉะนั้นวันนี้ “เรา” ค่อยๆไปร่วมกันพิจารณา “ประวัติศาสตร์ผู้นำเกาหลีใต้ 101” ที่ว่านี้ด้วยกันดีกว่า!
1. ประธานาธิบดีอีซึงมัน (Rhee Syngman) :
ปัดเศษแก้รัฐธรรมนูญ
“อีซึงมัน” คือ ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรก ของประเทศเกาหลีใต้ หลังได้รับเอกราชและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อปี1948
อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี (ปี1948 - ปี1960) “อีซึงมัน” ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้สามารถอยู่ในอำนาจได้ยืนยาวที่สุด และหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การสร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีชนมากที่สุดก็คือ… “ยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี” เพื่อให้ตนเองสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1954
ส่วนหากถามว่าเพราะอะไร? การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จึงเรียก “ก้อนอิฐ” ได้ชนิดอุ่นหนาฝาคั่งน่ะหรือ?
คำตอบก็คือ.... “อีซึงมัน” ใช้ “หลักคณิตศาตร์” มาทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา!
คือเรื่องทั้งหมดมันเป็นแบบนี้... ในขณะนั้น รัฐสภาเกาหลีใต้มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 203 คน ฉะนั้นการผ่านมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ เมื่อคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องจะอยู่ที่ 135.33 เสียง
หากแต่ในการลงมติครั้งนั้น ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย “อีซึงมัน” ได้คะแนนทั้งสิ้น 135 เสียง นั่นจึงทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอย่างหนักหน่วงตามมาทันทีว่า จำนวนเสียง 135 เสียงนั้นเข้าหลักเกณฑ์เสียง 2 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? (พูดง่ายๆคือควรปัดเศษขึ้น หรือ ปัดเศษลง)
อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดเสียงวิพากวิจารณ์อย่างล้นหลาม แต่ในที่สุด “อีซึงมัน” ก็ดึงดันให้คะแนนเสียง 135 เสียงนี้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องขยายวาระการดำรงตำแหน่งสำเร็จลงจนได้ พร้อมกับเดินหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีต่อไป
และนอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชี้ชัดว่า “เพื่อสืบทอดอำนาจ” แล้ว ภายใต้การบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมาของ “อีซึงมัน” ยังเต็มไปด้วยการทุจริตและมีการใช้อำนาจเข้าปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามอย่างรุนแรง
หนำซ้ำในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 1960 นอกจากจะเต็มไปด้วยการทุจริตแล้ว ยังมีการเกณฑ์กลุ่มอันธพาลจำนวนมากออกไปข่มขู่ กดดันผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนเป็นผลให้ตัวเองได้รับชัยชนะอย่างขาดลอยในการเลือกตั้งครั้งนั้น
ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นผลให้ชาวเกาหลีใต้สิ้นสุดความอดทน และพากันออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านผู้นำ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างล้นหลาม ก่อนเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายและทำให้เกิดการปะทะกับกำลังทหารและตำรวจที่ออกมาปราบปรามอย่างรุนแรง ในเดือนเมษายน ปี 1960
และเมื่อเห็นว่าไม่สามารถ “ควบคุมสถานการณ์” เอาไว้ได้แล้ว “อีซึงมัน” จึงตัดสินใจ “ลาออก” และ “เดินทางออกนอกประเทศ” ไปพำนักที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1960
กระทั่งสิ้นลมหายใจ เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม ปี 1965
2. ประธานาธิบดีพักจองฮี (Park Chung-hee) :
ผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้
“การประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นมาตรการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สำหรับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศนี้” ประธานาธิบดีพักจองฮี (ดำรงตำแหน่ง ปี 1962 - ปี 1979)
นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณเกาหลี เมื่อวันที่ 15ส.ค.1948 เป็นต้นมา “คุณ” รู้หรือไม่? มีการประกาศกฎอัยการศึกรวมกันแล้วทั้งสิ้น 17 ครั้ง (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวของเกาหลีใต้)
ส่วนหากถามว่า ประธานาธิบดีคนไหน ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ “คำตอบ” ก็คือเจ้าของวาทะข้างต้น ซึ่งก็คือ… “ประธานาธิบดีพักจองฮี” นั่นเอง (ประกาศใช้ระหว่างวันที่ 16พ.ค.1961 จนถึง เดือนธันวาคมปี 1962)
แต่ “คุณ” รู้อีกหรือไม่ว่า… แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเกาหลีใต้ ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมถึงยังมีการประกาศใช้อีกหลายครั้งเพื่อกำราบฝ่ายตรงข้าม (ปี 1964 , ปี 1972 และ ปี 1979)
หากแต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประธานาธิบดีพักจองฮี กลับต้องเสียชีวิตลงจากการถูกลอบสังหารโดย “คิม แจ คยู” (Kim Jae gyu) ซึ่งถือเป็นทั้งเพื่อนสนิทและ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korean Central Intelligence Agency) หรือ KCIA ของตัวเอง!
เกริ่นมาซะขนาดนี้ “คุณ” คงเริ่มอยากรู้แล้วใช่ไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น กับ ผู้นำเกาหลีใต้ท่านนี้?
เมื่อ “พักจองฮี” รัฐประหารยึดอำนาจในปี 1961 “คิม แจ คยู” ถูกจับกุมตัวเนื่องจากเชื่อว่าเขาให้การสนับสนุนฝ่ายตรงกันข้าม แต่นอกจาก “พักจองฮี” จะไม่เชื่อแล้วเขายังแต่งตั้งให้ คนบ้านเดียวกัน (ชาวเมืองกูมิ) และเพื่อนร่วมชั้น “โรงเรียนนายร้อยทหารบกเกาหลีใต้” (Korea Military Academy) ให้เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 6 ซึ่งเป็นกองกำลังหลักที่ใช้ในการปราบปรามการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมา “คิม แจ คยู” ยังได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้ ผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Defense Security Command) และ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korean Central Intelligence Agency) หรือ KCIA ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่คอยทำหน้าที่ค้ำยันความปลอดภัยของประธานาธิบดี จากการถูกคุกคามอำนาจ โดยคนในกองทัพเสียด้วย
เมื่อมีความ “สนิทแนบชิด” กันขนาดนี้ แล้วมันเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารได้อย่างไร?
จากรายงานข่าวของสื่อในเกาหลีใต้ ระบุว่าแท้ที่จริงแล้ว “คิม แจ คยู” เห็นต่าง กับ “ประธานาธิบดีพักจองฮี” ในเรื่องการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามขบวนการนักศึกษา รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
แต่แล้วในที่สุด ความอดทนของเขาก็ขาดผึงลง เมื่อ ประธานาธิบดีพักจองฮี เริ่มหันไปให้ความสำคัญกับ “ชา จี ชอล” (Cha Ji Cheol) หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย และหัวหน้าเลขาธิการประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็น “คู่แข่งทางการเมือง” ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในทำเนียบบูลเฮ้าส์มากขึ้นทุกทีๆ
หลัง “ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยุ่งยากทางการเมือง” ของ “คิม แจ คยู” เริ่มล้มเหลวบ่อยครั้ง จนจุดชนวนให้มีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีพักจองฮี เกิดขึ้นในหลายเมืองสำคัญๆของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “ประธานาธิบดีพักจองฮี” กล่าวตำหนิ “คิม แจ คยู” ว่าอ่อนแอเกินไปสำหรับการปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามต่อหน้า “ชา จี ชอล” ขณะกำลังรัปทานอาหารค่ำร่วมกันที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งกรุงโซล เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปี 1979
“คิม แจ คยู” ที่สะกดความไม่พอใจ และขออนุญาตออกจากห้อง ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมอาวุธปืน และกราดยิงเข้าใส่ ประธานาธิบดีพักจองฮี และ ชา จี ชอล จนเสียชีวิตคาที่ จากนั้นได้ออกไปไล่ยิงทั้งเจ้าหน้าที่ KCIA และเหล่าบรรดาบอดี้การ์ดจนเสียชีวิตทั้งหมด
หลังลงมือสังหาร “คิม แจ คยู” ได้ทำทีไปแจ้งต่อเสนาธิการกองทัพ และ เจ้าหน้าที่ KCIA ว่า ประธานาธิบดีเสียชีวิตแล้ว แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดใดๆ ได้ขับรถยนต์ตรงไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อเตรียมประกาศกฎอัยการศึกในภาวะฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี หลังกองทัพสืบทราบว่า “ใครคือฆาตกรที่แท้จริงแล้ว” ผู้อำนวยการ KCIA จึงถูกจับกุมและถูกดำเนินคดี ก่อนจะถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการ “แขวนคอ” พร้อมกับ คนสนิทอีก 4 คน เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1980
3. ประธานาธิบดีชอนดูฮวาน (Chun Doo-hwan) และ “ประธานาธิบดีโนแทอู” (Roh Tae-woo) :
ต้องเข้าสู่เรือนจำฐานกบฏ
ประธานาธิบดีชอนดูฮวาน อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1980 - 1988
ประธานาธิบดีโนแทอู อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1988 - 1993
สืบเนื่องจากเหตุการณ์การลอบสังหารประธานาธิบดีพักจองฮี ทำให้เสถียรภาพทางเมืองและกองทัพเกาหลีใต้ ตกอยู่ภายใต้ความยุ่งเหยิงอยากหนัก กระทั่งนำไปสู่การลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1980
เป็นเหตุให้รักษาการประธานาธิบดี “ชเว คยู ฮา” (Choi Kyu ha) ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก พร้อมกับแต่งตั้งให้ “พลตรีชอนดูฮวาน” ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งขึ้นสู่อำนาจได้ จากปฏิบัติการจับกุมผู้บัญชาการทหารบกและผู้ใกล้ชิดเพื่อยึดอำนาจกองทัพ ทั้งๆที่ไม่มีคำสั่งจากรักษาการประธานาธิบดี ในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1979 (ในเกาหลีใต้เรียกว่าเหตุการณ์ปฏิวัติ 12/12) ขึ้นเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์
อย่างไรก็ดี “ชอนดูฮวาน” กลับใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์อื้อฉาวที่เมืองควังจู (Gwangju)
1
และไม่เพียงเท่านั้น เขายังใช้โอกาสนี้ “กวาดล้าง” ฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองไปในคราวเดียวกัน จนกระทั่งสามารถควบคุมทั้งการเมืองและกองทัพเอาไว้ในมือได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
จากนั้น เมื่อ “รักษาการประธานาธิบดี” ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม “ชอนดูฮวาน” จึงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 1980 และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ 1 วาระ 7 ปี ในปี 1981
หากแต่เมื่อใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่งในอีก 7 ปีต่อมา “ประธานาธิบดีชอนดูฮวาน” กลับยังคงแสดงท่าทีที่จะยื้ออำนาจต่อไป ด้วยการเมินเฉยต่อการประทัวงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง
ยิ่งไปกว่านี้ ยังมีความพยายามเสนอชื่อคนสนิทอย่าง “พลเอกโนแทอู” (Roh Tae-woo) ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไปเสียด้วย!
อย่างไรก็ดีที่สุดแล้ว เพื่อให้แรงกดดันทางการเมืองต่างๆ “คลี่คลายลง” จึงได้มีข้อเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการนิรโทษกรรมทางการเมือง กระทั่งนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1987
หากแต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมา “กลับพลิกล็อกอย่างเหลือเชื่อ” เมื่อผู้ชนะกลับกลายเป็น “โนแทอู” ผู้ใกล้ชิดของ “ชอนดูฮวาน” ซะอย่างนั้น! (ซึ่งหากใครที่ดูซีรีย์ Reborn Rich ที่มี “ซุง จุงกิ” (Song Joong ki) แสดงนำเมื่อปี 2022 คงน่าจะพอจำกันได้ว่า นี่คือ…อีกหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ “พระเอกกลับชาติมาเกิด” นำมาใช้สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง)
อย่างไรก็ดี ในปี 1993 เมื่อทั้งคู่ก้าวลงจากอำนาจ 13 ปี อย่างสมบูรณ์ แรงกดดันจากภาคประชาชนที่ถาโถมเข้าใส่ ประธานาธิบดีคนใหม่ “คิม ยอง ซัม” (Kim Young sam) จากบันทึกของ “พลเอกชัง แท วอน” (Jang Tae won) ที่มีการระบุถึงเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆในวันปฏิวัติ 12/12 และได้ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน นั้น ได้นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง และนำไปสู่การดำเนินคดีกับ อดีตผู้นำทั้ง 2 คนในข้อหากบฏ
และแม้ว่าทาง “อัยการสูงสุด” ในเวลานั้น จะใช้เวลาการสอบสวนยาวนานกว่า 1 ปี หนำซ้ำยังมีความเห็น “สั่งไม่ฟ้องอดีตผู้นำทั้งสองคน” ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างแปลกที่ว่า…
“การก่อรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ ไม่อาจนำไปสู่การลงโทษได้” ในเดือนกรกฏาคม ปี 1995
แต่บรรดาผู้ที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ ปฏิวัติ 12/12 รวมถึง เหตุปราบปรามผู้ชุมนุมที่เมืองควังจู ยังคงไม่ยอมแพ้ จึงเดินหน้ายื่นเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาในประเด็นดังกล่าว
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่า…
“แม้การก่อรัฐประหารจะประสบความสำเร็จ แต่ก็สามารถถูกพิจารณาบทลงโทษได้”
ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการเปิดทางไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับ “อดีตประธานาธิบดีคู่หู” ในข้อหาหนักทั้ง ก่อการกบฏ , ฆาตกรรม , และ คอรัปชั่น ในที่สุด
โดยผลการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ในปี 1996 นั้น “ชอนดูฮวาน” ถูกพิพากษาประหารชีวิต ส่วน “โนแทอู” ถูกพิพากษาจำคุก 22 ปีครึ่ง
แต่อย่างไรก็ดีศาลฏีกา ได้มีคำพิพากษาลดโทษ “ชอนดูฮวาน” เหลือเพียง “จำคุกตลอดชีวิต” และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 220,500 ล้านวอน (5,201ล้านบาท) ส่วน “โนแทอู” พิพากษาลดโทษเหลือ 17 ปี
แต่ถึงที่สุดแล้ว หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเพียง 2 ปี “ประธานาธิบดีคิม ยองซัม” ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดี “อภัยโทษเป็นกรณีพิเศษ” ให้กับอดีตผู้นำทั้งสองคน ในเดือนธันวาคมปี 1997
หลังได้รับการร้องจาก “คิม แดจง” (Kim Dae jung) บุคคลที่ถือเป็นอริทางการเมืองคนสำคัญ และเคยถูกจับคุมขังในช่วงระหว่างที่ทั้งคู่มีอำนาจ ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งและเตรียมขึ้นประธานาธิบดีคนต่อไป
โดย “คิม แดจง” ได้ให้เหตุผลถึงการร้องขอให้มีการอภัยโทษในครั้งนั้นเอาไว้ว่า “เพื่อสร้างความปรองดองให้กับประเทศชาติ”
อย่างไรก็ดี หลังได้รับอภัยโทษ ในเวลาต่อมา “ชอนดูฮวาน” ได้เสียชีวิตลงในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 สิริอายุ 90 ปี ส่วน “โนแทอู” เสียชีวิตในเดือนตุลาคม ปี 2021 สิริอายุ 88 ปี
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นอย่างไร?
#กฎอัยการศึก #ถอดถอนประธานาธิบดี #เกาหลีใต้ #ยุนซอกยอล #คิมกอนฮี #สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง #อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ #รัฐประหาร #Kimgunhee #Yoonseokyoul #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews
2 บันทึก
11
2
2
11
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย