Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SEC Thailand
•
ติดตาม
11 ธ.ค. เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"การเปิดเผยด้านยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน กับ One Report"
โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.
การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) เป็นภารกิจหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วางนโยบายยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดทุน โดยจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้เกี่ยวข้องซึ่งการรายงานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจะช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอและสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลผ่าน One Report
One Report เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้มีการปรับปรุงและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 โดยการเปิดเผยข้อมูลในแบบ One Report ครอบคลุมการเปิดเผยข้อมูลในหลายด้านตั้งแต่แผนงาน การใช้เงินจากการระดมทุน ผลการดำเนินงาน (เช่น สถานะทางการเงิน กำไร หนี้สินของบริษัท)
และได้มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance หรือ ESG) โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นของ บจ. แล้ว ยังทำให้ผู้ลงทุนรับรู้และเข้าใจความมุ่งมั่นของบริษัทในด้านความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน
นอกจากความโปร่งใสของ บจ. ในการเปิดเผยข้อมูลที่ดำเนินการผ่าน One Report แล้ว ด้วยปัจจุบันข้อมูลด้าน ESG เป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น การเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน โดยจะช่วยให้เห็นภาพรวมของนโยบาย เป้าหมาย
กลยุทธ์ ตลอดจนการบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสในเชิงความยั่งยืนจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ขับเคลื่อนและส่งเสริม บจ. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักและคำนึงถึงการดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยผนวกนโยบายการดำเนินการด้าน ESG เข้าไปในแผนธุรกิจขององค์กร ตลอดจนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกันสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่าน One Report
การเปิดเผยด้านความยั่งยืน (ESG) ในมิติต่าง ๆ
การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม: กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยนโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนขององค์กร ซึ่งต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทกำหนดนโยบายและแผนอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตั้งแต่การจัดหา การผลิต การส่งมอบสินค้า การกำจัดของเสีย และมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการธุรกิจอย่างชัดเจน เช่น อย่างน้อยร้อยละ 5 ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี พร้อมติดตามผลการดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานสากลหรือเทียบเท่า โดยระบุชื่อหน่วยงานที่จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือผู้ทวนสอบที่บริษัทเห็นว่ามีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล รวมทั้ง
เปิดเผยนโยบายของคณะกรรมการบริษัทที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม: กำหนดให้เปิดเผยนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทที่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับการจัดการด้านสังคม เช่น การจัดทำนโยบายหรือหลักการด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศหรือระดับสากล เป็นต้น
การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติธรรมาภิบาล: กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัท (good governance) และจรรยาบรรณทางธุรกิจเพื่อสะท้อนถึงการมีแนวปฏิบัติการดูแลกิจการตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดไว้ เช่น การต่อต้านทุจริต
คอรัปชัน การไม่จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งงานหรือธุรกิจในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น
สำหรับแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน สามารถศึกษาข้อมูลในคู่มือการรายงานแบบ 56-1 One Report ได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต.
https://shorturl.at/4Q5OA
โดยเป็นช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน โปร่งใส และตรวจสอบได้ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสถานะของบริษัท และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ ประกอบกับยังมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความยั่งยืน
เรียกได้ว่า การรายงานแบบ 56-1 One Report ไม่ได้เป็นเพียงเอกสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินที่สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนอีกด้วย
นอกจากนี้ก.ล.ต. มีแนวคิดในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนให้สอดรับกับมาตรฐานสากล1 โดยอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการต่อแนวทางดังกล่าว2 ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ในยุคที่ผู้ลงทุนมองหาธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว
การลงทุน
บทความ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย