11 ธ.ค. เวลา 06:33 • กีฬา

(หาย) หอมกลิ่นความเจริญ ? : วุ่นวายหลังบ้าน กับการปลด แดน แอชเวิร์ธ ของ แมนฯ ยูไนเต็ด | Main Stand

"หอมกลิ่นความเจริญ" นั่นคือสิ่งที่แฟนแมนฯ ยูไนเต็ด หลายคนว่าไว้ ในวันที่พวกเขาเปลี่ยนทีมงานบริหารด้านฟุตบอลชุดใหม่ นำโดยกลุ่ม INEOS ของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์
การเปลี่ยนแปลงนี้ มาพร้อมความหวังจะได้เห็นหลังบ้านของทีมสงบ เสถียร และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในแบบอย่างของมืออาชีพ แตกต่างจากอดีตที่เคยผ่านความล้มเหลวมามากมาย
ยิ่งเมื่อพวกเขาต้องรอถึง 5 เดือน เพื่อให้ได้ แดน แอชเวิร์ธ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการกีฬาของทีมปีศาจแดง ยิ่งพาหลายคนฝันไกลไปใหญ่ … ทว่าหลังจากทำงานไปไม่ถึงครึ่งซีซั่น แอชเวิร์ธ กลับโดนปลดออกจากตำแหน่งแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
เพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะเจาะไปยังทุกแหล่งข่าวที่มีเพื่อหาคำตอบ
ติดตามที่ Main Stand
วันแตกหัก
นับตั้งแต่ INEOS ประกาศลงทุนถือหุ้น แมนฯ ยูไนเต็ด ช่วงปลายปี 2023 พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและผู้บริหารมากมาย โอมาร์ เบอร์ราดา ถูกดึงตัวมาจาก แมนฯ ซิตี้ เข้ามารับตำแหน่ง ซีอีโอ, เจสัน วิลค็อกซ์ เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานเทคนิค รวมถึง คริสโตเฟอร์ วีเวลล์ ที่มาดูแลฝ่ายสรรหาบุคลากรเป็นการชั่วคราว
และคนที่รอนานที่สุด แต่พวกเขาก็ทนรอ ยอมจ่ายเงินถึงราว 10 ล้านปอนด์ เพื่อชดเชยให้ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ก็คือ แดน แอชเวิร์ธ ที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำงานทั้งกับทีมชาติอังกฤษ, ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน และ นิวคาสเซิ่ล ในตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา ... เมื่อรอนานที่สุด และจ่ายเงินก้อนใหญ่ที่สุด มันก็น่าจะหมายความว่าเขาจะเป็นแกนสำคัญของทีมหลังบ้านชุดนี้ ทว่าหลังจากเริ่มงานได้ไม่กี่เดือน ข่าวช็อกก็เกิดขึ้น
นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปุบปับและกะทันหันอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนคนในตำแหน่งสำคัญแบบนี้ โดยปกติแล้วอาจจะต้องมีข่าวหลุดรอดออกมาให้เห็นกันบ้าง หรือไม่ผู้บริหารคนนั้นก็จะค่อย ๆ เฟดตัวเองหายไปแบบเงียบ ๆ แล้วค่อยประกาศข่าวทีหลัง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ เอ็ด วู้ดเวิร์ด, จอห์น เมอร์เท่อห์ หรือ ริชาร์ด อาร์โนลด์ ซึ่งเป็นรายชื่อกลุ่มคนที่ดูแลด้านฟุตบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด ยุคก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ในเคสของ แอชเวิร์ธ นี่คือเรื่องที่น่าตะลึง เพราะวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม เขาเพิ่งเข้าไปดูเกมการแข่งขันของ แมนฯ ยูไนเต็ด ชุดยู 21 ในเกมเจอกับ สปาร์ต้า ปราก ที่สนามแคร์ริงตัน จากนั้นในวันต่อมา เสาร์ที่ 7 เขาก็เข้าชมเกมชุดใหญ่กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด (เกมที่แพ้ 2-3)
โดยหลังจบเกมเพียง 20 นาที แอชเวิร์ธ เดินออกจากห้องรับรองของผู้บริหารผ่านห้องแถลงข่าว เพื่อตรงไปยังห้องของ โอมาร์ เบอร์ราดา ซีอีโอด้านฟุตบอลของทีม ก่อนที่สุดท้าย เบอร์ราดา จะเป็นคนบอกกับ แอชเวิร์ธ ว่า เวลาของเขากับ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้หมดลงแล้ว และคล้อยหลังวันเดียว สโมสรก็แสถลงการณ์ผ่านสื่ออย่างไม่มีรอ โดยที่ข่าวหลุดออกมาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นก่อนแถลงการณ์ยืนยัน
สื่อที่ตีแผ่เรื่องนี้ได้อย่างละเอียดคือ The Athletic ที่บอกว่าการตัดสินใจปลด แอชเวิร์ธ ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการตัดสินใจร่วมกันของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์, เบอร์ราดา, เซอร์ เดฟ เบรลส์ฟอร์ด และ โจเอล เกลเซอร์ เจ้าของร่วม ... ซึ่งถ้าดูจากตรงนี้และคิดตามแบบชาวบ้านตาสีตาสาก็คือ แอชเวิร์ธ หัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะคนที่ร่วมตัดสินใจ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุดในสโมสร และทุกคนพร้อมใจกันโหวตให้ออก
แต่เขาทำอะไรผิดพลาด หรือไปเหยียบตาปลาใครเข้าล่ะ ? ถึงได้โดนปลดแบบไม่ใยดีและสายฟ้าผ่าแบบนี้
ไม่ประทับใจตั้งแต่แรก
ไปกันต่อกับรายงานหลายเจ้าที่เอามาเรียบเรียงคล้าย ๆ กันว่า เหตุผลที่ แดน แอชเวิร์ธ กลายเป็นแกะดำ ก็เพราะว่า "กลุ่มเพื่อน เซอร์ จิม" ไม่ประทับใจในการทำงานของเขา มันเหมือนกับพวกเขาคิดว่า แอชเวิร์ธ จะเก่งกว่านี้จากชื่อเสียงที่สร้างมา แต่พอทำงานร่วมกันจริง ๆ แล้วพวกเขาพบว่า แอชเวิร์ธ มีช่องโหว่มากมาย ที่พวกเขาไม่ค่อยประทับใจนัก
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในช่วงปลายซีซั่น 2023-24 ที่ แอชเวิร์ธ ได้รับมอบหมายจาก เซอร์ จิม (แบบลับ ๆ เนื่องจากเจ้าตัวยังติดเงื่อนไขสัญญากับ นิวคาสเซิล) ให้พยายามนำเสนอชื่อของกุนซือคนใหม่ที่จะมาแทนที่ของ เอริก เทน ฮาก แต่ข้อมูลและแผนงานที่ แอชเวิร์ธ เตรียมมา เบาบาง ไม่น่าสนใจ และไม่หนักแน่นพอเท่าที่กลุ่มของ เซอร์ จิม หวังให้เขาเป็นหัวเรือในการตัดสินใจครั้งสำคัญ
แอชเวิร์ธ เสนอชื่อของ เอ็ดดี้ ฮาว, มาร์โก ซิลวา, โธมัส แฟรงค์, แกรห์ม พ็อตเตอร์ และ แกเร็ธ เซาธ์เกต ซึ่งชื่อเหล่านี้ แอชเวิร์ธ หวังว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราวจนกระทั่งจบฤดูกาล
ทำไม แรทคลิฟฟ์ ไม่ชอบใจกับตัวเลือกนั้น ? ... แหล่งข่าวอ้างว่า แรดคลิฟฟ์ ดูจะไม่ชอบการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด มองหาแต่คนใกล้ตัว และขาดพลังของ แอชเวิร์ธ เขามองว่าสำหรับคนที่นั่งในตำแหน่งใหญ่แบบนี้ ต้องมีคาแร็คเตอร์ที่มีความเป็นผู้นำมากกว่านี้ และต้องมองให้กว้างและไกลว่าสิ่งที่ตัวเองรู้จัก
1
ซึ่งความไม่พอใจนี้ ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ท้ายที่สุดแล้ว ตัวเลือกของ แอชเวิร์ธ โดนปัดทิ้งหมด ทำให้ แอชเวิร์ธ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกให้ทีมใช้ออปชั่นขยายสัญญา เอริก เทน ฮาก ออกไปแทน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ เซอร์ จิม ไม่พอใจมากที่สุด เพราะมันส่งผลให้สโมสรต้องเสียเงินถึง 21 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นค่าชดเชยให้ เทน ฮาก และทีมงาน เมื่อต้องปลดในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2024 ก่อนเอา รูเบน อโมริม มาแทนที่
แอชเวิร์ธ ยังได้เรียกร้องให้สโมสรจ้างบริษัทที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถิติต่าง ๆ ของโค้ชที่จะมีโอกาสจะมาแทนที่ของ เทน ฮาก ซึ่งหนนี้ก็ไม่พอใจกลุ่มของ เซอร์ จิม อีก เพราะพวกเขามองว่า แอชเวิร์ธ ต้องรู้เรื่องดังกล่าวมากกว่าจะจ้างคนภายนอก จุดนั้นทำให้ แอชเวิร์ธ ไม่พอใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์กรใหญ่อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ไม่เลือกลงทุนกับเรื่องนี้
หลังจากวันนั้น แอชเวิร์ธ ก็อยู่อย่างหัวเดียวกระเทียมลีบ เหมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้ผู้บริหารหลังบ้าน แต่กลับไร้บทบาทการตัดสินใจ ความเห็นของเขาแทบไม่มีค่าซึ่งนั่นเป็นความร้าวที่เกิดขึ้น จนกระทั่งภาพมาชัดขึ้นอีกในวันที่มีการปลด เอริค เทน ฮาก และแต่งตั้ง รูเบน อโมริม เข้ามาคุมทีมแทน
แม้ แอชเวิร์ธ จะเป็นคนที่เดินทางไปโปรตุเกสกับ เบอร์ราดา เพื่อเจรจากับ สปอร์ติ้ง ลิสบอน ต้นสังกัดเดิมของ อโมริม แต่การเดินทางนั้นก็ไปโดยตำแหน่ง แต่ไม่ได้มีอำนาจอะไร มีรายงานว่า แอชเวิร์ธ แทบไม่มีส่วนร่วมในการเลือก อโมริม เลย เรื่องนี้เป็น เบอร์ราดา ที่ตัดสินใจเป็นหลัก และการที่ เบอร์ราดา เลือก อโมริม นั่นก็เพราะว่าเขาเลือกจะฟังข้อมูลจากฝั่ง สปอร์ติ้ง มากกว่าที่จะฟัง แอชเวิร์ธ ที่เป็นคนมีอำนาจในสโมสรของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องรายละเอียดของงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการที่ แอชเวิร์ธ เลือกจะตัดสินใจใช้วันลาพักร้อนโดยบอกว่าเป็นเหตุผลทางครอบครัว ในช่วงที่ อโมริม เข้ามาทำงาน 2 วันแรกที่ แคร์ริงตัน หลังรับตำแหน่ง ซึ่งฝั่ง เซอร์ จิม มองว่า ช่วงเวลาดังกล่าาวเป็นช่วงเวลาที่คนที่ทำงานกับเฮดโค้ชโดยตรงอย่างเขาจะต้องเข้ามาทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด
เอาเป็นว่าทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่า แดน แอชเวิร์ธ คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางและกงล้อแห่งอนาคตของ แมนฯ ยูไนเต็ด แต่ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ ไม่คิดแบบนั้น เพราะพวกเขาต้องการอะไรที่มากกว่านี้สำหรับคนที่นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา และคนอย่าง เซอร์ จิม เป็นคนคิดเร็วทำไว ... สุดท้ายเขาก็เห็นว่า แอชเวิร์ธ มีแนวทางที่ไปกันต่อกับทีมงานผู้บริหารคนอื่น ๆ และสโมสรนี้ไม่ได้ จึงเลือกที่ตัดจบทันที มากกว่ามัวถนอมน้ำใจกัน และรอโดยที่ไม่มีวี่แววจะดีขึ้นในอนาคต
เรื่องนี้ใครผิด ?
ถ้าจะถามว่าเรื่องนี้ใครผิด เราคงไม่สามารถอยู่ในจุดที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสิ่งที่เผยมาก็เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ระบุตัวตน เพียงแต่บอกว่าเป็นวงในที่ทำงานให้กับสโมสร
แต่เพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ มันเป็นเรื่องของเคมีและวิธีการทำงานที่ไม่ตรงกัน เพราะ ณ ตอนนี้ เบอร์ราดา เหมือนเป็นคนคุมหลัก และกลุ่มผู้คนที่เขานำมาด้วยก็ล้วนแต่เป็นคนสนิทของเขาทั้งสิ้นอาทิ เจสัน วิลค็อกซ์ ซึ่งเคยทำงานร่วมกันที่ แมนฯ ซิตี้ มาก่อน
เซอร์ จิม เองก็เคยสัมภาษณ์กลาย ๆ ถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วงที่เขาทำงานกับ ยูไนเต็ด เขาได้ทำผิดพลาดอย่างน้อย 1 หรือ 2 ครั้ง ซึ่งทำให้โครงสร้างสโมสรยังโคลงเคลง ซึ่งก็มีการจับประเด็นกันว่า 1 ในความผิดพลาดของพวกเขาคือ การจ้าง แดน แอชเวิร์ธ หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เซอร์ จิม ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมคล้ายกับการบอกเป็นนัย ๆ ว่า ความผิดพลาดคือสิ่งที่ดี และยิ่งเกิดขึ้นเร็ว รู้ตัวไว ก็ยิ่งมีประโยชน์ เพราะมีเวลาที่จะได้เรียนรู้ความผิดพลาดเหล่านั้นมากขึ้น
"งานของเราที่ยูไนเต็ด ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราทำผิดพลาด 1-2 ครั้ง แต่ถ้าเทียบกับสิ่งทีเราเคยผ่านมากับ นีซ และ โลซานน์ (สโมสรในเครือของ INEOS) ก็ต้องยอมรับว่ามันดีกว่ามาก มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น และความกดดันที่สูงส่ง และคุณจำเป็นจะต้องเจอกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ... ถ้าคุณหนีปัญหา ไม่ตัดสินใจ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย" เซอร์ จิม ให้สัมภาษณ์กับ UWS
ในสายตาของคนนอก ณ ตอนนี้ดูเหมือนว่า ยูไนเต็ด กำลังเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีกครั้ง หลังจากมั่นใจมาตลอดว่าการเปลี่ยนแปลงบอร์ดบริหารด้านฟุตบอลจะทำให้ทีมดีขึ้น
แต่ก็อย่างที่ เซอร์ จิม บอก เขาคือคนที่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้มากที่สุด และการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เขามีส่วนร่วมได้เกิดขึ้นแล้ว และคนอย่างเขาก็พยายามที่จะพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ตัวเองผูกขึ้นมาได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้กันไป
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือ การสะท้อนถึงโครงสร้างฟุตบอลที่ใหม่มากของ แมนฯ ยูไนเต็ด ใหม่จนมีความผิดพลาด ความไม่แน่นอน และการตัดสินใจยาก ๆ เกิดขึ้นตลอด ... อย่างน้อยพวกเขาก็เลือกทำอย่างกล้าหาญ และตัดสินใจแบบรวดเร็ว เพื่อไปต่อกับการแก้ไขปัญหานี้
1
ส่วนจะได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดที่คนภายนอกอย่างเราจะรู้ได้ก็ดคือ "ผลงานในสนาม" และในช่วงเวลาหลังจากนี้ เราคงได้เห็นคำตอบว่าการจัดระเบียบองค์กรใหม่ของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่
1
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา