16 ธ.ค. เวลา 06:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

อาหารจานแบ่งของหลุมดำ

เป็นที่ทราบกันว่ากาแลคซี 2MASX J21240027+340911 มีนิวเคลียสที่สว่างจ้ามาเป็นสิบปีแล้ว ในใจกลางของมัน หลุมดำมวลมหาศาลแห่งหนึ่งกำลังกลืนกินวัสดุสารในอวกาศ เป็นก๊าซหรือฝุ่น ที่ผ่านเข้ามาใกล้เกินไป ล่าสุด นักดาราศาสตร์ได้พบสัญญาณที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จากวัตถุนี้ ซึ่งบอกถึงความซับซ้อน เมื่อมันไม่ได้มีหลุมดำเพียงหนึ่งเดียวแต่มีถึงสองแห่งในใจกลางกาแลคซีนี้ และมันกำลังแบ่งปันมื้ออาหารกันอยู่
หลุมดำมวลมหาศาลทั้งสองมีมวลรวมที่ 40 ล้านเท่าดวงอาทิตย์ พวกมันน่าจะชนกันในอีกราว 7 หมื่นปีข้างหน้า และอยู่ห่างจากกันและกันราว 1 วันแสงหรือ 2.6 หมื่นล้านกิโลเมตร โคจรในระยะประชิดรอบกันและกันในทุกๆ 130 วัน และการเคลื่อนที่โคจรนี้เองที่สร้างสัญญาณซ้ำๆ ออกมาให้สำรวจพบ
นี่เป็นเหตุการณ์ที่ประหลาดอย่างยิ่งที่เรียกว่า AT 2021hdr ซึ่งปรากฏซ้ำๆ ทุกสองสามเดือน Lorena Hernandez Garcia ผู้เขียนนำ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่สถาบันดาราศาสตร์สหัสวรรษ และมหาวิทยาลัยวัลปาไรโซ ในชิลี กล่าวในแถลงการณ์ เราคิดว่ามีเมฆก๊าซก้อนหนึ่งที่ถูกหลุมดำทั้งสองแทะกิน เมื่อพวกมันโคจรรอบกันและกัน หลุมดำก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับเมฆนี้ รบกวนมันและกลืนก๊าซของมันไป ซึ่งสร้างรูปแบบการแกว่งของแสงจากระบบนี้
การปะทุถูกพบครั้งแรกโดย ZTF(Zwicky Transient Facility) ที่นำโดยคาลเทค ที่หอสังเกตการณ์พาโลมาร์ โครงการดังกล่าวพบรูปแบบทุกๆ 60 ถึง 90 วัน และจากนั้นก็ติดตามผลโดยกล้องสวิฟท์ของนาซา แม้ว่าในตอนต้นจะคิดว่าการลุกจ้านี้เป็นซุปเปอร์โนวา แต่การปะทุในปี 2022 ทำให้เราคิดถึงคำอธิบายอื่น Alejandra Munoz-Arancibia จากสถาบันดาราศาสตร์ฟสิกส์สหัสวรรษ เช่นกัน กล่าว เหตุการณ์ต่อๆ มาก็ช่วยเราให้ปรับแต่งแบบจำลองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในระบบแห่งนี้ได้
ทีมยังพูดถึงความเป็นไปได้อื่นอีก มันอาจเป็นพฤติกรรมปกติของนิวเคลียสกิจกรรมสูง หรืออาจมีดาวฤกษ์สักดวงที่ผ่านเข้าไปใกล้หลุมดำคู่นี้มากเกินไปจนถูกฉีกออก และค่อยๆ กลืนกิน แต่หลุมดำคู่ที่ปกคลุมด้วยเมฆก๊าซก้อนหนึ่งและมีงานเลี้ยงเล็กๆ ในขณะโคจรรอบกันและกัน ก็เป็นคำอธิบายที่หนักแน่นที่สุด
แหล่งข่าว iflscience.com : couple of supermassive black holes caught sharing a meal for the first time
sciencealert.com : mysterious flashes traced to cosmic cloud’s encounter with merging black holes
โฆษณา