11 ธ.ค. 2024 เวลา 08:30 • การเกษตร

เกษตรกรริมโขงนครพนมปรับวิธีการปลูกลดความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิต

หลังผ่านฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตนาปีหลายพื้นที่เริ่มปรับสภาพผืนนาปลูกพืชผักหมุนเวียนไว้รับประทานหรือปลูกส่งขายเป็นธุรกิจ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้พืชผักบางชนิดได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะต้นปีของการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทย เช่น ที่จังหวัดนครพนมเกษตรกรริมโขงหลายพื้นที่ปรับผืนนาลงกล้าเมล็ดผักปลูกพืชเศรษฐกิจ
กะหล่ำปลี
ซึ่งต้องบอกว่าพื้นที่ริมโขงเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะเกิดน้ำท่วม ทำให้พื้นที่ดังกล่าวได้มีการปรับสภาพธาตุอาหารในดินไปในตัว ส่งผลให้การทำเกษตรของที่นี่มีความสมบูรณ์ในแง่ของแร่ธาตุอาหารและเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการปลูกพืชสูงด้วย แต่ว่าการทำเกษตรของคนที่นี่ก็ยังต้องอิงกับราคากลางจากพ่อค้าคนกลางเหมือนเดิม นี่อาจเป็นความเสี่ยงของภาคการเกษตรกรรมในพื้นที่ของจังหวัดนครพนม
ด่าง แพงโงม (พ่อดาว)
นายด่าง แพงโงม (พ่อดาว) อายุ 63 ปี เกษตรกร บ.นาโดน ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ยึดอาชีพทำเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยวมานานกว่า 10 ปี ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ตนทำสวนกะหล่ำปลี 2 ไร่ ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก็น่าจะให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดได้ แต่สิ่งที่มีความกังวล คือ ราคาของกะหล่ำปลี เพราะกลัวจะได้ราคาที่ต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต เนื่องจากปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลบำรุงรักษาค่อนข้างสูง อีกทั้งไม่สามารถควบคุมราคาผลผลิตได้
สวนมะเขือเทศ
“ราคาแต่ละปีไม่เหมือนกันแล้วแต่ราคาตลาดของพ่อค้าคนกลาง อย่างปีที่แล้วช่วงต้นปีราคาดีแต่พอมาหลัง ๆ ราคาลดลง ตกถุงละ 50 บาท (10 กก.) ซึ่งไม่คุ้มกับต้นทุนแน่นอน เพราะปุ๋ยมีราคาสูงขึ้นตกกระสอบละ 1,000 บาทแล้ว รวมต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท และอีกประมาณ 2 สัปดาห์ กะหล่ำปลีที่ปลูกจะให้ผลผลิตก็ยังไม่ทราบว่าจะขายในราคาเท่าไหร่
ราคาไม่นิ่งมีขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา หรือถ้าได้ราคาดีอย่างปีที่แล้ว ตกถุงละ 130-150 บาท ถือเป็นความโชคดีของพี่น้องเกษตรกร ถ้าไม่ปลูกพืชผักขายชาวสวนก็ไม่มีอาชีพอื่นทำ อีกทั้งผืนนาก็เป็นของตนเองด้วย ดีกว่าปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าประโยชน์”
สวนมะเขือเทศ
ด้วยราคาตลาดกลางไม่คงที่ ชาวสวนจึงได้ปลูกพืชผักชนิดอื่นเพื่อลดความเสี่ยง ด้วยการปลูกมะเขือเทศบริเวณริมโขง ซึ่งขณะนี้พบว่ามีลำต้นสูงยาวและออกลูกดก คาดว่าในช่วงปีใหม่เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองน่าจะได้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาด นางบังอร ภิญโญพันธ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม ได้นำองค์ความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยนครพนม ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน นอกจากเป็นการประหยัดพื้นที่เพาะปลูก ยังช่วยให้เกษตรมีรายได้ต่อเนื่อง
บังอร ภิญโญพันธ์ (แม่บังอร)
“กลุ่มเราตั้งกันมานาน 7 ปีแล้ว เกษตรกรเขาจะบริหารจัดการแปลงตามความถนัดของแต่ละคน อย่างบางแปลงที่ปลูกผักชี ระหว่างเก็บเกี่ยวก็จะหว่านเมล็ดขึ้นฉ่ายลงไปด้วยโดยไม่ต้องไถหรือพรวนดินซ้ำอีก ผสมผสานกันไปได้เลย”
แปลงผักผสมผสาน
การปลูกพืชแบบผสมผสานหลายชนิดในแปลงเดียว ยังมีประโยชน์ในด้านการจัดการแมลงแบบไม่ใช้สารเคมี โดยส่วนใหญ่ชาวเกษตรกรบ้านน้ำก่ำใช้ผงของถ่านไบโอชาร์ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพในการดูแลพืชผัก สำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่จะเป็นหอมแบ่งและผักสลัด ซึ่งตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท และตระกูลผักชี เช่น ผักชีลาว ผักชีไทย และผักชีฝรั่ง ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท แถมยังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
แปลงผักสลัด
ด้วยประสบการณ์และการนำความรู้ทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร ทำให้ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ต.น้ำก่ำ มีสมาชิกเครือข่ายกว่า 50 คน สร้างอาชีพและเกิดธุรกิจหมุนเวียนขึ้นภายในท้องถิ่น
ภาพ/สกู๊ป/บทความ : นครพนมโฟกัส
โฆษณา