11 ธ.ค. เวลา 10:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อ่านใจ รมว.คลังของทรัมป์ - Blockdit Originals โดย ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร

ชื่อชั้นของ Scott Bessent ว่าที่ รมว.คลังของโดนัล ทรัมป์ นับว่าเป็นที่ยอมรับของตลาด เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเคยเป็นผู้จัดการกองทุนของ George Soros และเป็นคนที่มีความเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนและเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศเป็นอย่างดี
หากถามว่าเขามีความเชี่ยวชาญด้านใด ต้องดูว่าเขาเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาอะไรที่มหาวิทยาลัยเยลล์ คำตอบคือเขาได้รับเชิญให้สอนวิชาประวัติเศรษฐกิจโลก คนที่มองเศรษฐกิจการเงินจากมุมมองของประวัติศาสตร์และพัฒนาการเศรษฐกิจการเงินโลกผ่านยุคสมัยต่างๆ น่าจะมีมุมมองหรือแนวคิดต่างจากผู้จัดการกองทุนทั่วไป
7
นั่นคือเขาน่าจะมองกว้างและลึกกว่ามาก มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยต่างๆ ในทางเศรษฐกิจการเมือง และที่สำคัญคือมองจากมิติภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มีข้อน่าสังเกตว่าในการประกาศชื่อ รมว.คลังรอบนี้ ทรัมป์บอกว่า Scott Bessent เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ด้วย
1
สะท้อนว่าในการพูดคุยกับทรัมป์ที่ผ่านมา Scott Bessent คงชวนทรัมป์สนทนาประเด็นนโยบายเศรษฐกิจผ่านเลนส์การต่อสู้เชิงภูมิรัฐศาสตร์กับจีนและการจัดระเบียบเศรษฐกิจการค้าของโลกรอบใหม่ ไม่ใช่เพียงจะดำเนินนโยบายแบบ Business as usual
อีกเรื่องที่ทุกคนรู้ว่า Scott Bessent เชี่ยวชาญคือเรื่องค่าเงิน เขาเคยได้กำไรมหาศาลจากการเก็งกำไรค่าเงินปอนด์และค่าเงินเยนมาแล้ว ค่าเงินที่เหมาะสมน่าจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่เขาขบคิดอยู่เสมอ
เมื่อเอาเรื่องค่าเงินมาผสมกับภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่ Scott Bessent เคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่คล้ายกับยุค Bretton Woods ที่เคยมีการตกลงกันเรื่องความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ กับค่าเงินปอนด์ จนนำไปสู่การจัดระเบียบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศใหม่ในยุคนั้น
ในเวลาต่อมาของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินโลก ก็มียุคของข้อตกลง Plaza Accord ที่เป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และค่าเงินเยนที่เหมาะสม มีหลายคนถามว่า ในยุคของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ในครั้งนี้ เราจะได้เห็นการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างค่าเงินดอลล่าร์กับค่าเงินหยวนหรือไม่ บางคนเตรียมชื่อเรียกแล้วว่าให้เรียก Mar-a-Lago Accord ตามชื่อคลับหรูที่ทรัมป์พักอยู่เป็นประจำและชอบใช้รองรับแขกบ้านแขกเมืองที่ฟลอริด้า
1
Scott Bessent เคยกล่าวไว้ว่า คู่นี้คือดอลล่าร์และหยวนเป็นคู่สำคัญที่ต้องจัดความสัมพันธ์ใหม่อย่างเหมาะสม มีหลายคนมองว่าเขาน่าจะมองว่าดอลล่าร์แข็งเกินไป และต้องการให้ปรับดอลล่าร์ให้อ่อนลง โดยต้องบีบหรือกดดันให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศและการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
1
แต่ปัญหาที่ซับซ้อนมี 2 ข้อ ข้อแรกคือ นักวิเคราะห์ทั่วไปกลับมองว่านโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์ประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย การขึ้นกำแพงภาษี (ซึ่งจะทำให้ประเทศคู่ค้าปรับค่าเงินให้อ่อน) แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ที่จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจไม่สามารถปรับลดได้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนจะมีผลให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น ไม่ใช่อ่อนลง
1
แถมความคิดที่จะกดดันจีนให้ปรับค่าเงิน ดังเช่นที่เคยกดดันญี่ปุ่นในยุค Plaza Accord ก็ดูไม่ง่าย เนื่องจากในเวลานั้น ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรสำคัญที่คุ้มครองความมั่นคงของญี่ปุ่นในภูมิภาค ขณะที่จีนไม่น่าจะยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ เอาง่ายๆ และนักเศรษฐศาสตร์จีนโดยทั่วไปก็มีความเชื่อว่าที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่สูญหายนั้นเป็นเพราะไปยอมตกลงปรับค่าเงินกับสหรัฐฯ นั่นแหละ
3
ดังนั้นผมเองก็ไม่รู้ว่า Scott Bessent จะมาไม้ไหน หรือจะใช้อะไรไปกดดันจีน หรือจะไปตกลงร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อปรับค่าเงินให้ค่าแข็งขึ้นต่อหยวนร่วมกัน เพียงแต่ผมคิดว่าเรื่องสงครามค่าเงินจะเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อดูจากชื่อชั้นประสบการณ์ของ รมว.คลังคนนี้
Scott Bessent ยังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาเสนอเป้าหมาย 3-3-3 นั่นคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3 การขาดดุลงบประมาณที่ร้อยละ 3 (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 8) และผลิตน้ำมันเพิ่มวันละ 3 ล้านบาร์เรล
1
การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมาจากการรื้อฟื้นการลงทุนและภาคการผลิตในสหรัฐฯ การลดภาษี และการลดทอนกฎระเบียบต่อภาคธุรกิจ ส่วนการลดการขาดดุลงบประมาณต้องมาจากฝีมือของพี่อีลอน มัสก์ ที่รับผิดชอบการปฏิรูประบบราชการ ตัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนราชการลง
ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศชื่อ Scott Bessent ตัว Scott Bessent ได้เขียนบทความลง Fox News ไม่กี่วันก่อนหน้า ประกาศสนับสนุนนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศและส่งเสริมให้โรงงานย้ายกลับ มีคนถามว่าแล้วเงินเฟ้อจะทำอย่างไร คำตอบของเขาคือการขุดน้ำมันเพิ่ม ซึ่งจะลดต้นทุนพลังงานและช่วยลดเงินเฟ้อ
3
ทำไมเรื่องการลดการขาดดุลงบประมาณจึงเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องกลับมาที่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์กับสถานะของดอลล่าร์สหรัฐในการเป็นเงินสกุลหลักของโลก Scott Bessent เคยให้ความเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่รักษาสถานะของดอลล่าร์อยู่ที่พลังอำนาจด้านการทหารของสหรัฐฯ ที่ทำให้ทุกคนเชื่อถือ
1
แต่ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต้องลดและตัดงบประมาณด้านการทหารลง เพราะการขาดดุลงบประมาณที่สูงเกินไป ซึ่งสุดท้ายนี่แหละที่จะเป็นตัวทำลายสถานะเงินสกุลหลักของโลกของสหรัฐฯ ในระยะยาว หากสหรัฐฯ สุดท้ายแพ้จีนในเรื่องพลังอำนาจด้านการทหาร
1
เมื่ออ่านใจและอ่านโหงวเฮ้งของ รมว.คลังสหรัฐฯ คนใหม่แล้ว ต้องบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจการเงินโลกเดินไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ การรักษาสถานะผู้นำเศรษฐกิจการเงินโลกของสหรัฐฯ และการแข่งขันกับจีนและจัดที่ทางที่เหมาะสมให้จีนในเวทีเศรษฐกิจการเงินโลก ไม่ใช่เดินตามตรรกะแบบโลกาภิวัตน์หรือตำราเศรษฐศาสตร์ปกติเช่นที่ผ่านมา
4
โฆษณา