Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Praram 9 Hospital
•
ติดตาม
11 ธ.ค. 2024 เวลา 09:42 • ข่าวรอบโลก
โรงพยาบาลพระรามเก้า
มะเร็งปอดรักษาหายไหม มาฟังคำตอบกัน!
มะเร็งปอดเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชากรทั่วโลก โรคนี้เกิดจากการเจริญที่ผิดปกติของเซลล์ปอด ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ แต่ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
“มะเร็งปอดรักษาหายไหม?” เป็นคำถามที่ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยอยากรู้ในทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด โรคนี้ไม่เพียงแต่เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของผู้คนทั่วโลก แต่ยังเป็นโรคร้ายที่สร้างความความกังวลใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยด้วย
การตอบคำถามนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษา ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกเกี่ยวกับมะเร็งปอด ตั้งแต่ความหมายของโรค สัญญาณเตือน อาการต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือแนวทางการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง มาค้นหาคำตอบกันว่ามะเร็งปอดรักษาหายไหม และอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้
มะเร็งปอดคืออะไร?
มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ภายในปอด ทำให้เกิดเป็นเนื้องอก ซึ่งเนื้องอกนี้อาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก สมอง หรือตับ มะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่
1) มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer – SCLC): เป็นชนิดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีโอกาสการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย ซึ่งมักพบในผู้ที่สูบบุหรี่จัด
2) มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer – NSCLC): เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือพบได้ประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด แต่จะมีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งช้ากว่า
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด
ความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ มีดังนี้
1) การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็นผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ปอดซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็ง
2) การสัมผัสควันบุหรี่มือสอง: แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง แต่การสูดดมควันบุหรี่มือสองจากผู้อื่นที่สูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน
3) การสัมผัสสารเคมีอันตราย: การทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการสัมผัสกับสารเคมี เช่น แร่ใยหิน เรดอน หรือควันจากสารเคมีอุตสาหกรรม เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้
4) มลพิษทางอากาศ: การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือ พื้นที่ที่มีฝุ่นละอองจิ๋วขนาดเล็กที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เขตโรงงานอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ที่มีการเผาพืชไร่หรือนาข้าว ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้
5) ประวัติครอบครัว: ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
6) อายุมากกว่า 65 ปี: ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะหากมีประวัติการสูบบุหรี่หรือสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
7) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่
สัญญาณเตือนมะเร็งปอด
มะเร็งปอดในระยะแรกมักไม่มีอาการที่ชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยในช่วงต้นทำได้ยาก อย่างไรก็ตามมีสัญญาณเตือนที่ควรระวัง เช่น
- ไอเรื้อรัง: ไอที่ไม่หายขาด หรือมีอาการไอที่ผิดปกติ เช่น ไอมีเสมหะปนเลือด อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคมะเร็งปอด
- หายใจลำบาก: รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด หรือหายใจมีเสียงหวีด และยิ่งถ้าหากอาการหายใจลำบากแย่ลงเรื่อย ๆ อาจเป็นอาการของมะเร็งปอด
- เจ็บหน้าอก: รู้สึกเจ็บหน้าอกหรือแน่นบริเวณหน้าอก ซึ่งอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อหายใจลึก ๆ ไอ หรือหัวเราะ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ: การมีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- อ่อนเพลีย: รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แม้จะพักผ่อนเพียงพอแล้วก็ตาม
- เสียงแหบ: เสียงพูดเปลี่ยนแปลงไป พูดไม่ชัด หรือเสียงแหบไม่หาย
หากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่ เพราะหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ผลลัพธ์การรักษาดีกว่า
อาการของมะเร็งปอด
อาการของมะเร็งปอดจะแตกต่างกันไปตามระยะของโรคและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไอเรื้อรัง: มักเป็นอาการเริ่มแรกที่ผู้ป่วยจะสังเกตได้
- หายใจลำบาก: เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งไปกดทับทางเดินหายใจหรือแพร่กระจายไปยังปอดข้างเคียง
- เจ็บหน้าอก: อาการเจ็บมักเกิดขึ้นจากการที่ก้อนมะเร็งขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนกดทับอวัยวะหรือเนื้อเยื่อรอบข้าง
- เสียงแหบ: เกิดจากการที่เส้นประสาทที่ควบคุมกล่องเสียงถูกก้อนมะเร็งกดทับ
- น้ำหนักลด: การมีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนอาหารหรือกิจวัตรประจำวัน
- ปวดกระดูก: มะเร็งปอดสามารถแพร่กระจายไปยังกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดตามกระดูกบริเวณที่มะเร็งแพร่กระจายไป
- ปวดศีรษะหรืออาการทางระบบประสาทอื่น ๆ: หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมอง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรืออาการทางประสาทอื่น ๆ
มะเร็งปอดรักษาหายไหม?
การจะตอบคำถามว่า “มะเร็งปอดรักษาหายไหม?” นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบ และรีบรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ผลการการรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
1) ระยะของมะเร็งปอด
- มะเร็งปอดระยะเริ่มต้น: หากตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการรักษาเฉพาะจุดเช่นการฉายแสงหรือการใช้เคมีบำบัดมีโอกาสทำให้มะเร็งหายขาดได้สูง
- มะเร็งปอดระยะลุกลาม: สำหรับมะเร็งปอดที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว การรักษาอาจเน้นที่การควบคุมโรค ลดอาการ และยืดอายุของผู้ป่วยมากกว่าการรักษาให้หายขาด
2) ชนิดของมะเร็ง
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC): มักแพร่กระจายเร็วและมีการตอบสนองต่อเคมีบำบัดและการฉายแสงดี แต่ภายหลังการรักษาอาจพบการเป็นซ้ำได้อีก
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC): มีแนวทางการรักษาที่หลากหลายกว่าและมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดมากกว่า โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น
3) สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
การรักษามะเร็งต้องอาศัยความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีและแข็งแรงจึงมีโอกาสในการรักษาหายขาดมากกว่า
แนวทางการรักษามะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอดสามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน โดยแนวทางการรักษามีดังนี้
1) การผ่าตัด (Surgery): เหมาะสำหรับมะเร็งปอดในระยะแรก ซึ่งก้อนมะเร็งยังไม่แพร่กระจาย การผ่าตัดอาจตัดเฉพาะส่วนที่มีก้อนมะเร็งออก หรือบางครั้งอาจตัดปอดทั้งข้างออก
2) การฉายแสง (Radiation Therapy): ใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เหมาะสำหรับมะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ การฉายแสงจะสามารถลดขนาดของก้อนมะเร็งและควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งได้
3) เคมีบำบัด (Chemotherapy): ใช้ยาเคมีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC) ที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เคมีบำบัดมักใช้ร่วมกับการฉายแสงหรือการผ่าตัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
4) ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): เป็นการรักษาที่ใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการโจมตีเซลล์มะเร็ง เป็นแนวทางการรักษาใหม่ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยบางราย
5) การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy): เป็นการรักษาด้วยยาที่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของเซลล์มะเร็ง เป็นการโจมตีเฉพาะเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ลดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษาแบบทั่วไป
6) การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care): สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย การดูแลแบบประคับประคองจะเน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวด และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
การจะตอบคำถามว่า “มะเร็งปอดรักษาหายไหม” นั้น คำตอบของคำถามนี้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค ประเภทของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไป หากมะเร็งปอดถูกตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็จะสูงกว่า โดยการรักษามะเร็งปอดนั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งการเลือกวิธีที่เหมาะสมแพทย์ต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยข้างต้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เช่น การทำเอกซเรย์ปอดหรือซีทีสแกน (CT scan) สามารถช่วยในการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ แม้ว่าจะไม่มีอาการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นอีกวิธีที่สำคัญในการติดตามสภาพร่างกายและตรวจเช็กปัญหาสุขภาพ รวมถึงโรคมะเร็งปอดด้วย ดังนั้นการเข้าใจความเสี่ยงและการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับมะเร็งปอด
นพ.จิรายุ ฉิมวิไลทรัพย์
#Praram9Family
#Praram9Hospital
#HealthcareYouCanTrust
เยี่ยมชม
pr9shop.praram9.com
แพ็กเกจตรวจความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งด้วยรหัสพันธุกรรม – Praram 9 Hospital
โปรดอ่านเงื่อนไขและข้อกำหนดก่อนการสั่งซื้อแพ็กเกจ …
สุขภาพ
ไลฟ์สไตล์
ข่าวรอบโลก
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย