12 ธ.ค. เวลา 11:00 • ธุรกิจ

6 สไตล์ของผู้นำ สำหรับการบริหารทีมในแต่ละสถานการณ์

เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของการทำงาน ผู้นำที่ดีต้องรู้จักปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง JobThai ได้รวบรวม 6 สไตล์การบริหารงานที่จะเป็นประโยชน์กับหัวหน้าทีมหรือคนที่กำลังจะก้าวไปเป็นผู้นำของโลกธุรกิจให้นำไปปรับใช้กัน
1. การนำแบบบังคับ (Coercive Style)
สไตล์การบริหารงานแบบนี้มีลักษณะการตัดสินใจแบบบนลงล่าง คนที่เป็นลูกน้องมีหน้าที่ทำตามอย่างเดียว และมักใช้เพื่อหวังผลในระยะสั้น เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว
ควรใช้สไตล์การบริหารนี้เมื่อต้องมีการตัดสินใจแบบเร่งด่วนเด็ดขาด เพราะถ้ายิ่งตัดสินใจช้าจะยิ่งเกิดความเสียหายกับบริษัทได้ เช่น ช่วงเวลาที่มีการควบรวมกิจการ หรือเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทกำลังได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์
2. การนำแบบไว้วางใจพนักงานและกระตุ้นให้เขามั่นใจในศักยภาพของตัวเอง (Authoritative Style)
ผู้นำสไตล์นี้จะกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มอบหมายงานที่เหมาะสมแก่พนักงานแต่ละคน และเชื่อมั่นในศักยภาพของพวกเขา จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์และขับเคลื่อนองค์กรได้ในที่สุด การเป็นผู้นำแบบนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองและเห็นคุณค่าของงานที่ทำ รวมถึงอาจทำให้เกิดรู้สึกความผูกพันกับองค์กรได้ด้วย
ควรใช้ในภาวะที่พนักงานเกิดความไม่มั่นใจกับการทำงานของตัวเอง โดยผู้นำมีหน้าที่สื่อสารให้ชัดเจนว่างานที่พวกเขาทำจะช่วยทั้งลูกค้าและพัฒนาองค์กรได้อย่างไรบ้าง ย้ำเตือนให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของหน้าที่ที่เขากำลังทำ เมื่อพนักงานเชื่อมั่นว่าหัวหน้าทีมมีวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน พวกเขาก็พร้อมที่จะรับฟังและปฏิบัติตาม
3. การนำแบบคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (Pacesetting Style)
ผู้นำสไตล์นี้ชอบริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองและมีแรงบันดาลใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จสูงมาก เมื่อต้องคุมทีมผู้นำประเภทนี้จึงคาดหวังให้คนในทีมผลิตผลงานที่ดีที่สุดให้แก่องค์กร พวกเขามักจะมองหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อไปสู่เป้าหมายได้ ผู้นำแบบนี้จะประเมินทุกเรื่องอย่างรอบคอบ ถ้าเจออะไรที่จะเป็นปัญหาสำหรับการทำงาน พวกเขาจะไม่ปล่อยผ่านและรีบแก้ไขทันที
ควรใช้การบริหารสไตล์นี้เพื่อการสร้างผลงานใหญ่ออกมาให้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด หรืองานที่ต้องการประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่าเดิม อย่างทีมขายที่ต้องทำยอดให้สูงกว่าเดิมเพื่อให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นไปเรื่อย ๆ หัวหน้าทีมขายสไตล์นี้จะกำหนดทิศทางให้กับคนในทีม ประเมินความต้องการและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงและทำให้ทุกคนโฟกัสกับการดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้การทำตัวอย่างให้เห็นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผล ผู้นำแบบนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการทำงานและผลักดันตัวเองไปให้ใกล้เคียงหัวหน้าทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและความก้าวหน้าในตำแหน่งที่น่าเจริญรอยตาม
4. การนำแบบสานสัมพันธ์ (Affiliative Style)
ผู้นำแบบนี้เน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนที่ทำงานร่วมกันภายในทีม สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ทุกคนเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทุกคนสามารถนำเสนอความคิดได้อย่างอิสระ เมื่อมีปัญหาก็ปรึกษากันได้ จะทำงานอะไรก็ช่วยเหลือกันเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง
ควรใช้เมื่อต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นให้คนทำงานร่วมมือหรือพึ่งพาอาศัยกันมาก เมื่อคนที่ทำงานร่วมกันมีความสัมพันธ์ที่ดี จะทำงานอะไรก็ราบรื่น ถ้าคนในทีมมีความคุ้นเคยและรู้จักกันดีเป็นอย่างดี พวกเขาจะพูดคุยทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นประโยชน์กับองค์กรได้
5. การนำแบบเน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน (Democratic Style)
ผู้นำสไตล์นี้จะชอบรับฟังพนักงาน กระตุ้นให้ทุกคนได้มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจเรื่องที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร เพราะการเปิดรับไอเดียที่หลากหลายจากพนักงานทุกคนจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ในขณะเดียวกันพนักงานก็จะรู้สึกว่าเสียงของตัวเองมีความสำคัญและมีค่าต่อองค์กร ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันธ์ต่อองค์กร และตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี
วิธีนี้เหมาะกับช่วงเวลาที่องค์กรต้องการความรอบคอบในการตัดสินใจ ถ้าคิดว่างานบางอย่างคุณไม่แน่ใจว่าทำออกมาได้ครอบคลุมดีพอหรือยังด้วยจำนวนคนเพียงไม่กี่คน วิธีการเรียกประชุมทุกคนในทีมมาช่วยออกความเห็นเป็นวิธีที่ดีในสถานการณ์นี้ ไม่แน่ว่าสมาชิกในทีมบางคนอาจเสนอแง่มุมของผลกระทบที่เราอาจตกหล่นหรือคิดไม่ถึงไปก็ได้
6. การนำแบบสอนงาน (Coaching Style)
ผู้นำแบบนี้จะใช้เวลาพัฒนาพนักงานแต่ละคน เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตได้ในแบบของพวกเขาเอง กระตุ้นให้คนในทีมขบคิดว่าเป้าหมายในการทำงานคืออะไร และต้องทำอย่างไรถึงจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ผู้นำสไตล์นี้จะเป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือพนักงานโดยอาศัยความรู้ความสามารถจากประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสมมาและทำให้พนักงานพร้อมรับมือกับทุกปัญหาและทำงานออกมาให้ดีได้ด้วยตัวเอง
ผู้นำที่เป็นที่ปรึกษาเป็นตัวเลือกที่ดีเมื่อองค์กรเจอปัญหาการพัฒนาบุคลากร ผู้นำสไตล์นี้จะให้ฟีดแบ็กแก่พนักงานและผลักดันให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตไปในสายงาน จนกระทั่งประสบความสำเร็จในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปในองค์กร
อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่
อ่านบทความอื่น ๆ ของ JobThai
คลิกเลย 👉 https://blog.jobthai.com
ตามไปดูสาระดีๆ สนุกๆ จากคลิป TikTok ของ JobThai
คลิกเลย 👉 http://www.jobthai.com/r9ucBG
โฆษณา