17 ธ.ค. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สิงคโปร์คว้าแชมป์ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดของโลก ประจำปี 2567

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง และยังได้กลายเป็นจุดหมายการลงทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชีย โดยสิงคโปร์ได้กลายเป็นที่ตั้งของธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 3,800 แห่งและมีผู้ประกอบการจากหลากหลายประเทศมาร่วมลงทุน
ด้วยความพร้อมของภาคเอกชนและภาครัฐ บุคลากรมืออาชีพ รวมถึงประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ จึงทำให้สิงคโปร์สามารถกลับมาครองอันดับหนึ่งประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกจากทั้งหมด 67 ประเทศ ที่จัดขึ้นโดย IMD World Competitiveness Center ได้อีกครั้ง หลังจากที่เคยครองอันดับ 1 มาแล้วในปี 2563
การจัดอันดับโดย IMD World Competitiveness Center สวิตเซอร์แลนด์ ได้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2567 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2567 ในการจัดอันดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ใน 4 ด้านดังนี้
1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ ภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ การจ้างงาน และราคาสินค้าสิงคโปร์ได้รับการประเมินอันดับสูงขึ้นในด้านภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศและการลงทุนระหว่างประเทศ ในขณะที่การจ้างงานกลับลดลงเล็กน้อย ซึ่งสวนทางกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้สิงคโปร์ตกมาอยู่อันดับที่ 3
2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประกอบด้วย 5 ปัจจัย โดยประเมินนโยบายของภาครัฐที่ส่งผลต่ออำนาจการแข่งขันของภาคเอกชน ได้แก่ การเงินสาธารณะ นโยบายภาษี กรอบการบริหารด้านสถาบัน กฎหมายด้านธุรกิจ และกรอบการบริหารสังคมสิงคโปร์ได้รับการประเมินอันดับสูงขึ้นในทุกปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยย่อยด้านกรอบทำงานทางสังคม และการเงินสาธารณะ ส่งผลให้สิงคโปร์ขึ้นมาถึงอันดับที่ 2 จากเดิมอันดับที่ 7 ในปี 2566
3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) หรือสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ ภาคการผลิตและประสิทธิภาพ ตลาดแรงงาน การบริหารจัดการ ทัศนคติ และค่านิยมสิงคโปร์ได้รับการประเมินอันดับสูงขึ้นในทุกปัจจัยและโดดเด่นในด้านนี้อย่างมาก จนสามารถคว้าอันดับ 1 มาได้ นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการเงินและความง่ายในการดำเนินธุรกิจแล้ว
สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเป้าหมายแรกๆของนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงบริษัทจากไทย เช่น Thai Beverage Company Limited และ PTT Public Company Limited คือ การมุ่งเน้นพัฒนาในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรในด้านไอซีที จึงทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพอยากจะเข้ามาตั้งฐานธุรกิจที่สิงคโปร์
4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ สาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการศึกษาสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารที่ทันสมัย และระบบการขนส่งทางถนน ทางอากาศ และท่าเรือที่มีประสิทธิภาพ โดยสิงคโปร์ได้รับการประเมินอันดับสูงขึ้นในทุกปัจจัย ยกเว้นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ลดลงเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้สิงคโปร์ได้เลื่อนอันดับขึ้นมาเป็นอันดับ 2
ผลการจัดอันดับข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า จุดแข็งของสิงคโปร์ ได้แก่ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ค่อนข้างง่าย และการมีโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก อีกทั้งยังมีความโดดเด่นในการดำเนินนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน เช่น การบริหารจัดการค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม การมีส่วนร่วมของพนักงานจากหลากหลายเชื้อชาติ และการดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ จึงทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นจุดหมายการลงทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียที่มีประสิทธิภาพ
การที่สิงคโปร์สามารถคว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันโลกในปี 2567 มาได้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการวางกลยุทธ์และนโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาลสิงคโปร์ ในการพัฒนาประเทศให้มีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน
รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยมีกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เขตเศรษฐกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสิงคโปร์https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network/singapore
โฆษณา