13 ธ.ค. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เจาะลึกนิติบุคคลไทย กับการลงทุนจากต่างชาติ

ทราบหรือไม่? นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงสัญชาติไทย แต่ยังมีต่างชาติที่เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจและทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาล สิทธิประโยชน์ทางภาษี การคุ้มครองทางกฎหมาย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ต่างชาติร่วมลงทุนอยู่ทั้งหมด 1.37 แสนราย คิดเป็นมูลค่าทุนจดทะเบียนมากถึง 10.2 ล้านล้านบาท
จากตัวเลขดังกล่าว มีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยหรือไม่ ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอพาทุกท่านมาสำรวจสถิตินิติบุคคลกับการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อไขคำตอบและให้เห็นภาพรวมสถานการณ์การลงทุนจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่หัวข้อถัดไปค่ะ
📌 เทียบชัดๆ นิติบุคคลสัญชาติไทย vs ต่างชาติ
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยตัวเลขนิติบุคคลที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 67) มีจำนวนทั้งสิ้น 944,008 ราย รวมมูลค่าทุนจดทะเบียน 22,501,581.2 ล้านบาท ประกอบด้วยนิติบุคคลสัญชาติไทย และนิติบุคคลที่ต่างชาติร่วมลงทุนดังนี้
• สัญชาติไทย 807,310 ราย, ทุนจดทะเบียน 12,287,080.04 ล้านบาท ขยายตัว 1.76 %YoY
• ต่างชาติ 136,698 ราย, ทุนจดทะเบียน 10,214,501.19 ล้านบาท ขยายตัว 6.07 %YoY
จากสถิติข้างต้น สัดส่วนจำนวนรายนิติบุคคลสัญชาติไทยมีจำนวนมากกว่าต่างชาติหลายเท่า แต่มูลค่าทุนจดทะเบียนกลับใกล้เคียงกัน เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก(S) ขณะที่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง(M) และขนาดใหญ่(L)
📌 Top 5 ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ปี 2567
สำหรับการจัดอันดับมูลค่าการลงทุนตามสัญชาติของปี 2567 จากทั้งหมด 210 สัญชาติ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 4,148,484.45 ล้านบาท พบว่า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งหมด 55.14 % ของมูลค่าการลงทุนรวมจากต่างชาติทั้งหมด ได้แก่
1. ญี่ปุ่น ลงทุน 9.97 แสนล้านบาท (สัดส่วนการลงทุน 24.04 %)
2. สิงคโปร์ ลงทุน 5.27 แสนล้านบาท (สัดส่วนการลงทุน 12.69 %)
3. จีน ลงทุน 4.10 แสนล้านบาท (สัดส่วนการลงทุน 9.88 %)
4. ฮ่องกง ลงทุน 1.84 แสนล้านบาท (สัดส่วนการลงทุน 4.45 %)
5. สหรัฐอเมริกา ลงทุน 1.69 แสนล้านบาท (สัดส่วนการลงทุน 4.08 %)
สำหรับประเภทธุรกิจที่ต่างชาติลงทุนมากที่สุด คือ กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก, ธนาคารพาณิชย์, การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น,การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น และการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เป็นต้น
 
📌โอกาสและความท้าทาย
การลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทยเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจไทยให้เติบโตและก้าวทันโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี การจ้างงาน การเพิ่มรายได้จากการส่งออก ฯลฯ
อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมจากการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นมากขึ้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นิติบุคคลไทยสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในยุคโลกาภิวัฒน์
ผู้เขียน: เพ็ญพิชชา สกลวิทยานนท์ Economic Data Analytics
ภาพประกอบ: บริษัทก่อการดี
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
Bnomics – Bangkok Bank Economics
‘Be an Economist for Everone’
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา