12 ธ.ค. เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ก้าวสู่ยุค Industry 5.0 ที่มีมนุษย์ - หุ่นยนต์ - AI - ทำงานร่วมกันโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ

🦾 จากอุตสาหกรรม 4.0 ก้าวสู่การปฏิวัติครั้งใหม่ “อุตสาหกรรม 5.0” ที่เรียกว่ายุค “Cobots” มาพร้อมกับแนวคิด Human-Robot Co-Working หรือ Personalized Autonomous Manufacturing การทำงานร่วมกันของมนุษย์และหุ่นยนต์ผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
👨‍🔧 “Cobots” คำศัพท์นี้มาจากการผสมคำกันระหว่าง Robot + Collaboration with Human ซึ่งหมายถึง หุ่นยนต์อัจฉริยะที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเอื้อประโยชน์ในการทำงานร่วมกันกับมนุษย์
เพราะอุตสาหกรรม 4.0 จะมุ่งเน้นการทำงานของระบบอัตโนมัติและดิจิทัลเพื่อควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้บทบาทของมนุษย์และความยั่งยืนถูกมองข้าม แต่แนวคิดใหม่นี้จะเป็นมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของมนุษย์กับหุ่นยนต์ผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมองถึงหลักความยั่งยืน เช่น ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
🧾 แนวคิดนี้กำลังเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อภาคการผลิตทั่วโลก ดูได้จากการที่ผู้นำอุตสาหกรรมรายใหญ่เริ่มมีนโยบายขานรับแนวคิดดังกล่าว ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปที่มีการขับเคลื่อนนโยบาย European Green Deal และ Digital Europe Program ซึ่งจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ควบคู่กับการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรืออย่าง ประเทศจีน ก็มีการออกกลยุทธ์ Made in China 2025 เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน โดยมุ่งสู่การเป็น Smart Manufacturing
⚠️ ทั้งนี้ แม้ภาพรวมในการเปลี่ยนแปลงจะดูไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่ในหลากหลายประเด็นโดยเฉพาะด้านแรงงาน องค์กร และสังคม
👨‍🏭 ประเด็นแรกคือ “การจัดเตรียมแรงงาน” เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาทในงานที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การประกอบชิ้นส่วนที่มีรายละเอียดเล็กๆ ดังนั้นแรงงานจึงต้องพัฒนาทักษะในการทำความเข้าใจเทคโนโลยีขั้นสูง รับรู้ถึงข้อดี ข้อเสียของหุ่นยนต์แต่ละประเภท
ในฝั่งองค์กรเอง ก็ต้องเพิ่มความรับผิดชอบ พิจารณาเรื่องการมอบหมายงานให้เหมาะสมทั้งส่วนของหุ่นยนต์และมนุษย์ และต้องมีการจัดวางโครงสร้างองค์กร ให้เกิดฝ่ายงานดูแล จัดหา และรักษาหุ่นยนต์เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
🖥 ประเด็นที่สองคือ “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี” โดยเฉพาะ Digital Twin ซึ่งนับว่าเป็น The Next Big Thing ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพราะเข้ามาช่วยพัฒนาในกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งเป็นโมเดลในการจำลองเสมือนจริงตั้งแต่วัตถุ สภาพแวดล้อม ลักษณะ ฟังก์ชัน และพฤติกรรม โดยอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ วางแผนแก้ปัญหา รวมถึงการคำนวณผลลัพธ์แบบเรียลไทม์
🚙 ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น บริษัท BMW ได้มีการจำลองการทำงานของรถยนต์ในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงระบบการทำงาน สิ่งนี้ช่วยให้วิศวกรปรับปรุงและแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องสร้างต้นแบบจริงขึ้นมา จึงลดเวลา ค่าใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตทำได้เร็วขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีนี้ ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ทำให้กระบวนการผลิตสามารถสร้างความยั่งยืนได้
📑 ประเด็นที่สามคือ “การวางแผนนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ” ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความท้าทายยังมีอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและดิจิทัล และการขาดการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ AI ทำให้ไทยจำเป็นต้องเร่งดึงดูดการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถก้าวทันและแข่งขันกับนานาประเทศได้
💰 โดย NIA ก็มีกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทั้งในรูปแบบเงินทุน องค์ความรู้ เครือข่าย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างสาขาธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive และ IoT (ARI Tech) ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมรายสาขาที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ “อุตสาหกรรม 5.0” และนำพาประเทศไทยสู่ “ชาตินวัตกรรม”
โฆษณา