Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไฉไลเป็นบ้า
•
ติดตาม
12 ธ.ค. เวลา 14:50 • ประวัติศาสตร์
สืบสาแหรกเจ้าผู้ครองนคร ย้อนอดีตลำปาง ตอนที่ 1
สืบสาแหรกเจ้าผู้ครองนคร ย้อนอดีตลำปาง (1) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ผู้เขียน-แอดมินเพจ LampangTimes ทำการสืบค้นประวัติความเป็นมาของ จ.ลำปาง ทั้งจากบันทึกต่างๆ ,พงศาวดาร หรือแม้กระทั่งใน wikipedia เพื่อทำการรวบรวมข้อมูลให้เข้าใจง่าย สะดวกต่อการนำไปประวัติศาสตร์ไปอ้างอิง โดยพบว่าระหว่างการบันทึกมีข้อคำถามหลายแห่ง ซึ่งอาจมีผู้รู้เข้ามาให้คำตอบต่อไป
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การเรียบเรียงประวัติศาสตร์นครลำปาง มีเป้าประสงค์เดียวคือเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการศึกษาความเป็นมาของลำปาง
ซึ่งการรวบรวมนี้จะขอเริ่มต้นที่ “หนานทิพย์ช้าง” ปฐมบรมทิพย์จักรราชวงศ์
หนานทิพย์ช้าง เป็นสามัญชน เกิดเมื่อ พ.ศ.2217 ภูมิลำเนาเป็นคนปงยางคก (ต.ปงยางคก อ.เมือง) มีภรรยาชื่อนางปิมปา เป็นคนบ้านเอื้อม (ต.บ้านเอื้อม อ.เมือง) มีบันทึกว่าหนานทิพย์ช้างลอดตัวผ่านช่องเอาปืนเข้าไปยิงแม่ทัพพม่าที่วัดลำปางหลวง เมื่อปลดแอกจากพม่าได้แล้วชาวเมืองจึงสถาปนาหนานทิพย์ช้างให้ครองนครลำปางใน พ.ศ. 2275
พงศาวดารเมืองลำปางบันทึกว่า ด้วยหนานทิพย์ช้างมีความเชื่อว่าไม่ได้เกิดมาเป็นเชื้อเจ้าไม่เหมาะที่จะขึ้นครองเมืองดังนั้นจึงต้องให้กษัตริย์คือพระเจ้ากรุงอังวะเป็นผู้พระราชทานด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการ ซึ่วพพระเจ้ากรุงอังวะได้เฉลิมพระนามให้เป็น “พระเจ้าทิพย์จักรสุลวะฤาไชยสงคราม” เมื่อ พ.ศ.2278
ข้อขัดแย้งประการแรกคือ เมื่อบันทึกเรื่องเล่าตำนานหนานทิพย์ช้างคือผู้ที่เข้าไปลอบสังหารแม่ทัพพม่า แล้วการถวายเครื่องราชบรรณาการเพื่อให้พระเจ้าอังวะเฉลิมพระนาม ตรงนี้จะในความเป็นจริงเป็นไปได้หรือไม่?
ในขณะที่ พ.ศ.2275 กรุงศรีอยุธยามีเหตุการณ์สำคัญคือการผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร พ.ศ.2275-2301) ซึ่งชัดเจนว่าเป็นช่วงที่ล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่า
ดังนั้นการลอบสังหารแม่ทัพพม่าอาจไม่ได้มีความหมายว่าปลดแอกจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่อาจจะเป็นการลุกขึ้นต่อต้านแม่ทัพที่พม่าที่มาปกครองด้วยการรังแกชาวล้านนา เมื่อสังหารแล้วก็จึงถวายราชบรรณาการเพื่อแสดงความเป็นเมืองขึ้นเช่นเดิมเพียงแต่พระเจ้ากรุงอังวะแต่งตั้งให้หนานทิพย์ช้างเป็นผู้ครองนครลำปางแทนแม่ทัพพม่าที่ถูกฆ่าไป (ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน) ตามที่ชาวเมืองพร้อมใจยกย่อง
หนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลวะฤาไชยสงคราม หรือพระยาสุลวะลือไชนสงคราม หรือพระยาไชยสงคราม สิริรวมอายุ 85 พรรษา ครองนครลำปาง รวม 27 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2275-2302 โดยมีบุตรชายที่จะกลายเป็นบุคคลสำคัญ 2 องค์ในเวลาต่อมา นั่นคือ เจ้าฟ้าสิงหาราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 (พ.ศ.2306-2317) กับเจ้าชายพ่อเรือน
(× เจ้าชายพ่อเรือนเป็นเจ้าราชบิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 4 ต้นสกุลพุทธวงศ์)
*บางบันทึกระบุการครองนครลำปางของหนานทิพย์ช้างว่าตั้งแต่ 2275-2306 แต่พงศาวดารเมืองลำปางยืนยันว่า พิราลัย พ.ศ.2302 ซึ่วอาจเป็นไปได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากพระเจ้ากรุงวะเป็นพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์คองบอง
เนื่องจากช่วงเวลาการครองนครลำปาง ของเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เป็นเหตุการณ์คาบเกี่ยวเหตุสำคัญคือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310
“เจ้าฟ้าเมืองลำปาง” เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว และชายาคือแม่เจ้าจันทาราชเทวี มีบุตร 10 องค์ เป็นราชบุตร 7 องค์ ,บุตรี 3 องค์
ราชบุตรทั้ง 7 ได้แก่ 1.พระเจ้ากาวิละ 2.พระยาคำโสม 3.พระยาธรรมลังกา 4.พระเจ้าดวงทิพย์ 5.พระยาอุปราชหมูล่า 6.พระยาคำฟั่น และ 7.พระเจ้าลำพูนไชย
ทั้ง 7 พระองค์นี้คือต้นกำเนิด “เชื้อเจ็ดตน”
ซึ่งเจ้าฟ้าสิงหาราชธานี ได้เข้าร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำให้มีอำนาจปกครองขยายอาณาจักรไปยังนครเชียงใหม่ โดยพระเจ้ากาวิละได้ครองนครลำปาง องค์ที่ 3 ต่อจากเจ้าราชบิดา (พ.ศ.2317-2325)
เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 พระเจ้ากาวิละได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าประเทศราช ไปปกครองเมืองเชียงใหม่ในตำแหน่งพระยาเชียงใหม่ นานถึง 20 ปี (พ.ศ.2325-2345) ก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้าเชียงใหม่” (พ.ศ.2345-2358) ซึ่งกว่า 40 ปีที่ครองนครเชียงใหม่ทำให้ลูกหลานของพระยากาวิละครองนครเชียงใหม่เป็นหลัก โดยให้พระยาคำโสมน้องคนที่ 2 ครองนครลำปาง เป็นเจ้านครลำปางองค์ที่ 4 (พ.ศ.2329-2337) และพระเจ้าดวงทิพย์ หรือพระเจ้าประเทศราชองค์ที่ 2 เป็นเจ้านครลำปาง องค์ที่ 5 (พ.ศ.2337-2368)
พระเจ้าดวงทิพย์ จึงเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง รุ่น “หลาน” องค์สุดท้ายของหนานทิพย์ช้าง
และรุ่นเหลนหลังจากนี้คือการแยกสายปกครองเมืองชัดเจน คือสายพระเจ้ากาวิละครองนครเชียงใหม่ สายพระยาคำโสมส่วนใหญ่ครองลำปาง และสายพระยาคำฟั่นครองลำพูนสลับเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังมีจารึกสั้นๆว่าลูกของพระยาคำฟั่นกับพระยาธรรมลังกา ซึ่งครองนครเชียงใหม่-ลำพูน บาดหมางกับลูกพระยาคำโสมที่ครองนครลำปาง
ติดตามต่อในตอนหน้าครับ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย