20 ธ.ค. เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม

‘เมฆชั้นต่ำ’ หายจากท้องฟ้า เพราะอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปรกติ สะท้อนแสงแดดไม่ได้ โลกร้อนกว่าเดิม

เข้าสู่ “ฤดูหนาว” ท้องฟ้ามักจะมีสีฟ้าใส ไร้เมฆบดบัง แต่บางทีปรากฏการณ์นี้อาจไม่ได้เป็นเพราะฤดูหนาว เพราะล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสามารถทำให้เมฆหายไปได้เช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์คำนวณผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก ปรากฏการณ์สภาพอากาศ และเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การปะทุของภูเขาไฟ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ทั้งหมด ยังเหลืออีกประมาณ 0.2 องศาเซลเซียสที่ไม่สามารถหาคำตอบได้
แต่ปริศนานี้อาจจะถูกแก้ไขแล้ว โดยทีมนักวิจัยจาก Alfred Wegener Institute Helmholtz Centre for Polar and Marine Research (AWI) ในเยอรมนี ที่ระบุสาเหตุอื่นของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน นั่นคือโลกสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์น้อยลง เนื่องจากเมฆบางประเภทกำลังหายไป
ทีมวิจัยจาก AWI ร่วมมือกับศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (ECMWF) สร้างแบบจำลองสภาพอากาศ โดยตรวจสอบข้อมูลซึ่งย้อนกลับไปถึงช่วงทศวรรษปี 1940 พร้อมกับข้อมูลสถิติของนาซ่า พวกเขาสังเกตเห็นบางสิ่งที่ผิดปรกติ ทำให้ปี 2023 เป็นปีที่มีอัตราส่วนสะท้อน (แอลบีโด - albedo) ของดาวเคราะห์ต่ำที่สุด
ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา อัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์เริ่มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทำให้โลกของเรามีพื้นที่สีขาวบนโลก ที่สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่อวกาศได้น้อยลง เมื่อถึงปี 2016 ค่าดังกล่าวก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาน้อยลงเรื่อย ๆ
ทีมวิจัย AWI ได้ระบุว่าผลกระทบสำคัญที่เกิดจากอัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์ คือ เมฆชั้นต่ำที่อยู่ทางเหนือและเขตร้อนลดลง แต่ปริมาณเมฆชั้นกลางและเมฆชั้นสูงแทบจะไม่ลดลงเลย
การที่เมฆชั้นต่ำลดลงมีผลมาจากหลายปัจจัยรวมกัน อันดับแรกคือ ปริมาณละอองลอยในชั้นบรรยากาศลดลง จนไม่สามารถดูดซับความชื้นในบรรยากาศก่อตัวเป็นเมฆได้ นอกจากนี้ความแปรปรวนตามธรรมชาติในแต่ละภูมิภาค และภาวะโลกร้อนอาจเปลี่ยนแปลงการก่อตัวของเมฆระดับต่ำได้เช่นกัน
เมฆชั้นต่ำมักจะก่อตัวได้ดีในชั้นบรรยากาศที่เย็นและชื้น เมื่อพื้นผิวของโลกร้อนขึ้น อาจทำให้เมฆบางลงหรือสลายตัวไปโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้เกิดวงจรป้อนกลับที่ซับซ้อน เมฆระดับต่ำจะหายไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน และเมื่อไม่มีเมฆก็จะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น เพราะเมฆทำหน้าที่เป็นครีมกันแดดของโลก
1
โฆษณา