13 ธ.ค. 2024 เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินเดือนเฉลี่ยในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2568

เงินเดือนเฉลี่ยในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2568 โดยมี 4 ปัจจัยหลัก เป็นตัวสนับสนุน
บริษัท Mercer เปิดเผยว่า อัตราเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5.0% ใน พ.ศ. 2568 ซึ่งเทียบเท่า กับปี พ.ศ. 2567 โดยจากการสำรวจค่าตอบแทนรวมประจำปี 2567 ของ Mercer วิเคราะห์แนวโน้มและนโยบายค่าตอบแทนจากตำแหน่งงานกว่า 5,000
ตำแหน่งในบริษัทมากกว่า 700 แห่งในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนจะยังคงอยู่ในอัตราเดียวกันกับกับ พ.ศ. 2567 แต่ทุกบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ (100%) มีแผนที่จะปรับเพิ่มเงินเดือนในปี พ.ศ. 2568 เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัท 99.8% ในปี 2567
Mercer เผยเงินเดือนเฉลี่ยในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2568
โดย 4 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการปรับขึ้นเงินเดือนใน พ.ศ. 2568 ได้แก่
1. ผลการปฏิบัติงานของพนักงาน
2. กระบอกเงินเดือน
3. ผลการดำเนินงานขององค์กร
4. ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในตลาดแรงงาน
ปัจจุบัน เกือบ 91.0% ขององค์กรที่ทำการสำรวจมีการใช้แผนจูงใจระยะสั้น อย่าง โบนัส และมีบริษัทที่เสนอแผนจูงใจระยะยาว เช่น สิทธิซื้อหุ้นล่วงหน้า (stock options) เพิ่มขึ้น 1.8% จาก 78.9% ในปี 2566 เป็น 80.7% ในปี 2567
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคให้ความสำคัญกับฐานเงินเดือน ซึ่งคิดเป็น 75% ของแพ็คเกจค่าตอบแทนทั้งหมดในอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนแผนจูงใจระยะสั้นสูงที่สุด คิดเป็น 23% ของแพ็คเกจค่าตอบแทนทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้
อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ให้ค่าตอบแทนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยสูงกว่าตลาดโดยเฉลี่ย 20%
ด้านมุมมองของเงินเดือนรายปี (annual base salaries) แม้การใช้โครงการสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit)จะพบมากในระดับสากล แต่ในประเทศไทยยังคงมีการนำมาใช้ไม่มากนัก โดยมีเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่จากบริษัทที่สำรวจที่เสนอสิทธิประโยชน์เหล่านี้ให้กับพนักงาน
นายธีระ เหล่าลัทธพล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลของ Mercer ประเทศไทย กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเฉลี่ย 5.0% ในปี 2568 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องขององค์กรในประเทศไทยในการลงทุนกับบุคลากร และด้วยจำนวนของบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมการสำรวจมีแผนการปรับเพิ่มเงินเดือน แสดงให้เห็นถึงตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงในประเทศไทย ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้
การนำแนวทางแบบองค์รวมในการจัดการค่าตอบแทนทั้งหมดมาใช้สำคัญสำหรับผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงการปรับเงินเดือน การเสนอแผนจูงใจระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งตอบสนองต่อความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลงของพนักงาน องค์กรที่สามารถปรับตัวต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรชั้นนำได้ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนมากขึ้นได้
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/238490
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา