Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลือชัย พิศจำรูญ
•
ติดตาม
13 ธ.ค. เวลา 07:13 • นิยาย เรื่องสั้น
‘ผีปอบ’ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่มากกว่าเรื่องผี ภาพสะท้อนสังคมของหมู่บ้านในชนบท
เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ผีปอบ’ ในสังคมไทย กับการมองผีปอบในอีกแง่มุมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม
วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2567
ส่งท้ายเทศกาลฮาโลวีน ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ผี’ ที่ผูกพันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนานอย่าง ‘ผีปอบ’ พูดคุยกับ ผศ. ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเชื่อเรื่อง ‘ผีปอบ’ ในสังคมไทย กับการมองผีปอบในอีกแง่มุมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม
ผีปอบ เป็นความเชื่อดั่งเดิมที่อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว โดยเฉพาะในภาคอีสาน พบหลักฐานที่บันทึกเรื่องของผีปอบตั้งแต่ในสมัยอยุธยา คือพจนานุกรม หรือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีการกล่าวถึงผีปอบ
ผีปอบมีกี่ประเภท เกิดมาได้อย่างไร?
ผี โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผีดี กับ ผีร้าย กรณีของผีปอบจะถูกจัดว่าเป็นผีร้าย ซึ่งเราต้องแยกระหว่างภาพของผีปอบที่ปรากฏในสื่อ กับความเชื่อในวัฒนธรรมท้องถิ่น ผีปอบที่เรารับรู้ผ่านสื่อ ส่วนใหญ่จะมีภาพจำจากภาพยนตร์เรื่องปอบผีฟ้า เรื่องบ้านผีปอบ ซึ่งผีปอบในภาพยนตร์ จะแสดงลักษณะทำท่าหยิบ ทำท่าจก ส่วนปอบผีฟ้าจะเป็นลักษณะน่ากลัว แบบต้องการจะกินเลือดกินเนื้อ
ด้าน ผีปอบ ที่อยู่ในความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือผีปอบมนต์ และผีปอบเชื้อ
ผีปอบมนต์ คือผีปอบที่เกิดจากคนมีวิชา มีของ แล้วทำผิด ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้มนต์ไปในทางที่ผิดทำให้ตัวเองร่ำรวย ใช้มนต์ในการเรียกข้าวเปลือกมาจากไร่นาของคนอื่น แล้วควบคุมมนต์นั้นไม่ได้ มนต์ก็เข้าตัวทำให้กลายเป็นผีปอบ
ผีปอบเชื้อ เป็นผีปอบที่สืบทอดผ่านทางตระกูล แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสืบเชื้อสายทางผู้หญิงเป็นหลัก
นอกจาก ผีปอบแบบบุคคล ยังมีผีปอบอีกรูปแบบหนึ่งในภาคอีสาน คือผีปอบระดับหมู่บ้าน คือผีปอบที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดอาเพศ สิ่งปกติเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน เมื่อมีเรื่องไม่ดี ชาวบ้านก็จะหาคนที่มีความอาวุโส ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แล้วทำพิธีกรรมตักผี ช้อนผี โดนการใช้ข้อง หรือตะกร้าใบเล็ก ๆ ดักจับผี แล้วก็เอาไปเผา
ความเชื่อเรื่องอาการของคนที่เป็น ‘ผีปอบ’
ใครเป็นผีปอบดูอย่างไร ? ผศ. ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า จากความเชื่อมักจะดูจากอาการหรือลักษณะ 4 อย่าง คือ
1) เป็นคนที่มีบางอย่างที่ดูผิดปกติไปจากคนในสังคม เช่น ร่ำรวยผิดปกติ
2) เป็นคนไม่ชอบสุงสิงกับใคร ถ้าใช้ภาษาจิตวิทยาในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นคนลักษณะแบบ introvert จะถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ เพราะชอบปลีกวิเวก ไม่เข้าร่วมพิธีกรรมระดับหมู่บ้าน ผิดแปลกแตกต่างไปจากคนอื่น
3) เกิดอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ
4) เป็นคนภายนอกที่เข้ามา แล้วเกิดอาเพศขึ้นในหมู่บ้าน เช่น มีคนตาย ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ เพราะนำพาโรคภัยบางอย่างจากต่างถิ่นเข้ามา เป็นโรคที่คนในท้องถิ่นไม่มีภูมิต้านทาน
ถ้าเราวิเคราะห์ดูจะเห็นว่า อาการทั้งหมดคือสิ่งที่ผิดกับบรรทัดฐานทางสังคม ที่สังคมขีดว่า คุณอยู่ในหมู่บ้าน คุณต้องร่วมพิธีกรรม ต้องอยู่ในครรลอง หรือถ้าเป็นคนต่างถิ่นแล้วเข้ามาแพร่โรคภัย เลยเป็นกลไกในการป้องกันตัวต่อโรคร้าย ซึ่งเป็นกันทุกหมู่บ้าน และหากคุณร่ำรวยผิดปกติ สังคมก็จะมีกลไกจัดการ เพราะบางทีอาจมีการขโมย การแย่งกันทางทรัพยากร
“หากเราข้ามเรื่องความเชื่อ ผีปอบ ก็คือกลไกอย่างหนึ่งที่จะช่วยรักษาบรรทัดฐานหรือความปกติสุขในสังคม แต่ปัญหาคือกระบวนการปฏิบัติเพื่อจะรักษาคนที่เป็นปอบ ในหลาย ๆ กรณีมีความรุนแรง ซึ่งหากมองในปัจจุบัน มันเป็นความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้น ต่างจากในอดีตที่มองว่าเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาไม่มีทางเลือกด้วยชุดความรู้ที่มี จะเห็นได้ว่า ผีปอบ ไม่ใช่แค่เรื่องผี แต่ทำให้เราเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมชนบท ที่มาจากการขาดความรู้ การกระจายความเจริญทางการแพทย์ที่น้อยจนเกินไป” ผศ. ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ทำไมผีปอบส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
มีการสำรวจเชิงสถิติ พบว่า ประมาณ 94 – 95 เปอร์เซ็นต์ ของผีปอบส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถ้าเราทำความเข้าใจ อาจจะต้องย้อนกลับไปในยุคตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ในสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้หญิงเป็นใหญ่มาตั้งแต่ดั้งเดิม เหตุเพราะเมื่อเกิดสังคมแบบเกษตรกรรม ผู้หญิงอยู่ติดบ้าน ผู้ชายออกไปหา
อาหารนอกบ้าน ผู้หญิงจึงเป็นคนที่ควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ทำให้บทบาทของผู้หญิง ตั้งแต่ประมาณ 4 พันปีที่แล้วเป็นใหญ่มาโดยตลอด จนกระทั่งประมาณ 2,000 – 2,500 ปี บทบาทเริ่มเปลี่ยน ผู้ชายขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่อย่างไรก็ตามด้วยโครงสร้างทางสังคม และอีกหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้ผู้หญิงมีสถานภาพที่สำคัญมาโดยตลอด
เมื่อผู้หญิงเป็นใหญ่ในบ้าน เราจะเห็นได้ว่า ผีปอบ เป็นผีที่ติดบ้าน ไม่ใช่ผีที่เร่ร่อน ไป ๆ มา ๆ และส่วนใหญ่จะเกิดในสังคมหมู่บ้านชนบท ที่ทุกคนรู้จักกัน ไม่ค่อยเกิดขึ้นในเมือง
เวลาพูดถึงอำนาจของ ผี จึงเป็นอำนาจของผู้หญิง ไม่ใช่ของผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่แค่ผีปอบ แต่มีหลายผีที่เป็นผู้หญิง เช่น ผีต้นไม้ ผีฟ้า โดยผีฟ้าในภาคอีสาน ดั้งเดิมเป็นผู้ชาย แต่ผู้ที่ติดต่อกับผีฟ้าได้เป็นผู้หญิง การที่ผีฟ้าเป็นผู้ชาย ก็เพราะอิทธิพลของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่เริ่มเข้ามา และเราจะเห็นได้ว่า พอมีอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู คนที่ทำหน้าที่ในการปราบผีจะเป็นบทบาทของ ‘พระ’ บทบาทของ ‘จอมขมังเวทย์’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
“ความเชื่อพวกนี้ตราบใดที่ยังไม่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของคนอื่น จะเชื่อก็เชื่อไป ผมว่าไม่ได้มีปัญหานะ แต่ถ้าเป็นความเชื่อที่ไปคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เช่นการกล่าวหาว่าใครเป็นปอบ จะโดยความเชื่อหรือไม่ก็ตาม แล้วก็ไปทำร้ายเขาด้วยการเอาหมอผีไปตี อันนี้เป็นปัญหาละ ทุกวันนี้เรามีความคิดในเชิงปัจเจกมากขึ้น ผมเชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเชื่อ” ผศ. ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย